เอพี/เอเจนซีส์ - หากจะมองหา “บุรุษเหล็ก” ระดับเดียวกับ ลี กวนยู แห่งสิงคโปร์ จากประเทศเอเชียเพื่อนบ้านใกล้เคียง ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงย่อมจะต้องมีนามของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย รวมอยู่ด้วย ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลทั้งสองนี้ มีหลายอย่างเหมือนกัน เช่น การใช้ระบบปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ การไม่ยอมรับผู้ต่อต้าน และวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงพลิกโฉมประเทศ แต่คนทั้งคู่กลับไม่คบค้าสมาคมกัน และยังมีอีกหลายอย่างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ผมเกรงว่าจะต้องบอกว่า เรามีความเห็นไม่ลงรอยกันในประเด็นส่วนใหญ่ และผมไม่อาจพูดได้ว่า ตัวเองเป็นเพื่อนสนิทของกวนยู กระนั้น ผมอดรู้สึกเศร้าไม่ได้เมื่อเขาจากไป” มหาเธร์เขียนไว้ในบล็อกส่วนตัวเมื่อวันศุกร์ (27 มี.ค.) ที่ผ่านมา
หลังการอสัญกรรมของลี อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ก็ดูจะเป็นบุรุษเหล็กคนสุดท้ายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรุ่นเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ ผู้นำรุ่นนี้ได้นำพาประเทศชาติรุ่งเรืองเฟื่องฟูและกลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” โดยผู้นำรุ่นราวคราวเดียวกันอีกคนคือ ซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย ตัดช่องน้อยแต่พอตัวไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2008
ทั้งลีและมหาเธร์ ผ่านการศึกษาในระบบการศึกษาซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศแม้ในระดับต่างกัน และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศบนเวทีโลก ทั้งคู่ต่างได้รับความเคารพ แต่ปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็ก จำกัดเสรีภาพพลเมือง และใช้กฎหมายเข้มงวดกำราบศัตรูทางการเมือง
ทว่า มรดกที่ลีและมหาเธร์ทิ้งไว้กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง
ระหว่างรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 31 ปี ลีแปลงสภาพสิงคโปร์จากเกาะขนาดเล็กที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ กลายเป็นประเทศที่รวยที่สุดในเอเชียเมื่อวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว ซึ่งสูงกว่ามาเลเซียถึง 5 เท่า ลียังปราบปรามการทุจริตในทุกระดับ สร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบการศึกษาที่เป็นเลิศ และมุ่งเน้นการสร้างอุตสาหกรรมบริการระดับเวิลด์คลาสที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ในส่วนมหาเธร์นั้น เขาได้ฟูมฟักระบบอุปถัมภ์ด้วยการแจกจ่ายโครงการรัฐแก่พวกพ้อง และดำเนินนโยบายที่ทำให้ระบบราชการซับซ้อนวุ่นวาย แม้มาเลเซียมีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานมากกว่าสิงคโปร์ มหาเธร์กลับส่งเสริมและปกป้องอุตสาหกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ เช่น เหล็กกล้าและรถยนต์ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงลิบ
อิบรอฮิม ซัฟเฟียน นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียชี้ว่า บุรุษทั้งคู่มีชั้นเชิงในรูปแบบวิธีการของตัวเอง และแม้ดูเหมือนใช้แนวทางการเมืองคล้ายกัน แต่ลี กวนยูกลับประสบความสำเร็จมากกว่า ทั้งที่มีทรัพยากรและเงินทุนน้อยกว่า
มหาเธร์นั้นอายุน้อยกว่าลี 2 ปี และลีก้าวเข้าสู่แวดวงอำนาจเร็วกว่า ด้วยการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากสิงคโปร์ประกาศเอกราชจากการเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในปี 1963 ปีเดียวกันนั้น เกาะขนาดเล็กแห่งนี้เข้าร่วมกับมลายาก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย เนื่องจากเชื่อว่า จำเป็นต้องเข้าร่วมกับประเทศที่ใหญ่กว่าเพื่อความอยู่รอด ขณะที่มหาเธร์เพิ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาสมัยแรกในปี 1964 และนั่นเป็นครั้งแรกที่คนทั้งคู่พบกัน
“เราสบถใส่กันหลายครั้งระหว่างอภิปรายในสภา แต่เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แค่มองต่างมุมเกี่ยวกับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศเกิดใหม่ของเรา” มหาเธร์เขียนในบล็อก
ทว่า สหพันธรัฐมาเลเซียกลายเป็นการแต่งงานที่ขมขื่น เหตุผลหนึ่งคือผู้นำมาเลเซียซึ่งเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เคลือบแคลงในตัวลีซึ่งมีเชื้อสายจีน ไม่นานความแตกต่างด้านอุดมการณ์และการเมืองก็ฟ้องออกมา และสิงคโปร์ถูกขับออกจากสหพันธรัฐในปี 1965 เปิดทางให้ลีกำหนดเส้นทางและวิสัยทัศน์ของตัวเองซึ่งยังคงเป็นรากฐานที่กำหนดความเป็นไปของสิงคโปร์ในวันนี้
ลีสร้างหลักประกันว่า ประเทศจะอยู่ภายใต้ระบอบคุณธรรมนิยม เขาเรียกร้องราคาที่ดีที่สุดและบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการโครงการของรัฐบาล ขณะที่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลต้องแข่งขันกับบริษัทเอกชน คนเชื้อสายจีนเป็นชนกลุ่มใหญ่ในสิงคโปร์ ขณะที่ชาวมาเลย์และอินเดียเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมาก แต่ไม่มีคนเชื้อชาติใดได้รับสิทธิพิเศษ
“แม้ใช้ระบอบอำนาจนิยม แต่ลี กวนยูสามารถขับเคลื่อนระบอบคุณธรรมนิยมที่ส่งให้สิงคโปร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่มาเลเซียล้มลุกคลุกคลานจากนโยบายการเมืองที่อิงกับเชื้อชาติและความไม่มั่นคง” อิบรอฮิมสำทับ
ในทางกลับกัน มหาเธร์ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1981 ส่งเสริมนโยบายเลือกปฏิบัติแง่บวกสำหรับชนกลุ่มใหญ่เชื้อสายมาเลย์ ซึ่งเป็นรากเหง้าของการหมดศรัทธาในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวจีนและอินเดียในวันนี้
มหาเธร์มองว่า คนมาเลย์ถูกกดขี่จึงให้สิทธิพิเศษทั้งในด้านธุรกิจ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เพื่อให้แน่ใจว่า พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ของตนจะครอบงำการเมืองต่อไปอย่างยาวนาน และมรดกนี้ยังคงตกทอดจนถึงปัจจุบัน
กลับมาที่ลี เขาตอบโต้คำวิจารณ์ในเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงในที่สาธารณะ โดยยืนยันว่า จำเป็นในการรักษาเสถียรภาพและความเป็นระเบียบของประเทศที่มีหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาอย่างสิงคโปร์ และเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง และแม้ระบบการเมืองของลีเป็นที่เคลือบแคลง ทว่า พรรคพีเพิลส์ แอ็กชัน (พีเอพี) ของเขา มีสมาชิกจากทุกเชื้อชาติ
เชอเรียน จอร์จ นักเขียน นักวิชาการ และนักวิจารณ์สิงคโปร์ เขียนไว้ในบล็อกว่า ลีวางตัวเป็นป้อมปราการต่อต้านแนวโน้มการใช้เสียงส่วนใหญ่ กระทั่งจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคใดๆ ขึ้นมามีอำนาจโดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อย
สำหรับมหาเธร์ แพทย์ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง และนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของแดนเสือเหลือง เขาช่วยแปลงโฉมดินแดนเกษตรกรรมที่เซื่องซึมกลายเป็นประเทศการค้าสำคัญระหว่าง 22 ปีที่ครองอำนาจก่อนลงจากตำแหน่งในปี 2003
ด้วยรายได้มหาศาลจากน้ำมันและน้ำมันปาล์ม มหาเธร์ผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น อาคารปิโตรนาส ทวิน ทาวเวอร์ส ซึ่งเคยเป็นตึกสูงที่สุดในโลกในยุคสมัยหนึ่ง เขายังสร้างฮับเทคโนโลยี เมืองหลวงแห่งใหม่ และสนามแข่งรถเอฟ-1
นอกจากนี้ มหาเธร์ยังใช้กฎหมายความมั่นคงควบคุมตัวศัตรูทางการเมืองและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่มีกำหนดและโดยไม่ต้องพิจารณาคดี และวิจารณ์ตะวันตกทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งแตกต่างจากลีโดยสิ้นเชิง
ค่าแรงและมาตรฐานการครองชีพสูง รวมทั้งระบบที่อิงกับความสามารถของสิงคโปร์ ดึงดูดชาวมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนนับหมื่น รายงานของธนาคารโลกในปี 2011 ระบุว่า มีชาวมาเลเซียกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในต่างแดน และเตือนว่า การไหลออกของแรงงานมีทักษะอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจแดนเสือเหลือง
ลีลงจากตำแหน่งในปี 1990 แต่ยังคงมีอิทธิพลในการเมืองสิงคโปร์และในภูมิภาคอีกนับสิบปี เขายังประสบความสำเร็จในการปั้นบุตรชาย ลี เซียนลุง ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2004
แต่สำหรับมหาเธร์กลับล้มเหลวในการรักษาอิทธิพลหลังลงจากตำแหน่ง
วันนี้ เขาถูกคนจำนวนมากมองว่า เป็นเพียงอดีตผู้นำที่คอยแต่จะขวางลำผู้สืบทอดตำแหน่ง และคร่ำครวญผ่านบล็อกส่วนตัวว่า ประเทศที่ตนเคยปกครองกำลังมีธรรมาภิบาลอ่อนด้อย
ในการแสดงความคิดเห็นเมื่อไม่นานนี้ที่มหาเธร์บ่นว่า “ในรัฐมาเลเซียมีบางสิ่งบางอย่างเน่าเสียอยู่”