เอเจนซีส์ - สิงคโปร์อาลัย ลี กวนยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในตอนก่อนรุ่งสางของวันจันทร์ (23 มี.ค.) ขณะที่ผู้นำทั่วโลกร่วมแสดงความเสียใจและสดุดีรัฐบุรุษที่ปลุกปั้นเกาะอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าโลก และเป็นแบบอย่างการพัฒนาสำหรับอีกหลายประเทศ ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์ติติงเขาที่ใช้การปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจและควบคุมความประพฤติของประชาชนราวกับเด็กที่ยังไม่โต
“ไม่มีอีกแล้วบิดาผู้ก่อตั้งประเทศของเรา ท่านเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เรากล้าหาญและนำเรามาสู่จุดนี้ สำหรับชาวสิงคโปร์และผู้คนอีกมากมาย ลี กวนยู คือ สิงคโปร์” นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายคนโตของลี แถลงทางทีวี จากโรงพยาบาลสิงคโปร์ เจเนอรัล ที่ ลี วัย 91 ปี พักรักษาตัวมานานหลายสัปดาห์จากโรคปอดบวมและอาการติดเชื้อ ทั้งนี้ ตามคำแถลงของรัฐบาล เขาสิ้นชีวิตในเวลา 03.18 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 02.18 น.เวลาเมืองไทย)
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศไว้อาลัยลี ผู้เปลี่ยนเกาะเล็กๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรให้กลายเป็นเพลเยอร์ระดับโลก ทั้งในด้านการเงิน การค้า ชิปปิ้ง และอุตสาหกรรมไฮเทค รวมเป็นเวลา 7 วัน จนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ (29)
ขณะที่ผู้นำต่างประเทศอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวยกย่องลีที่ปกครองสิงคโปร์นานสามทศวรรษว่า เป็น “ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงในประวัติศาสตร์”
นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อของ ลี กวน ยู ในฐานะผู้นำและหนึ่งในรัฐบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคสมัยใหม่ และว่า ผู้นำหลายคนของอังกฤษ รวมถึงตนเอง ล้วนได้รับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งจากลี
การผสมผสานระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจและลัทธิอำนาจนิยมของลี ยังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างช่วงการเปิดประเทศในทศวรรษ 1980
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกย่องลีว่าเป็น “สหายเก่าของชาวจีน” และว่า ลีเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวางของนานาชาติในฐานะนักยุทธศาสตร์และรัฐบุรุษ
หลังจากข่าวอสัญกรรมของลีเผยแพร่ออกไป ชาวสิงคโปร์มากมายพากันนำดอกไม้และการ์ดไปวางที่อิสตานา หรือทำเนียบประธานาธิบดี และลงนามในสมุดไว้อาลัย พนักงานออฟฟิศหลายร้อยคนเข้าคิวซื้อหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ฉบับรำลึกอดีตผู้นำระหว่างช่วงพักกลางวัน
ที่ตลาดหลักทรัพย์ ข้อความ “รำลึกถึงลี กวนยู 16 กันยายน 1923 ถึง 23 มีนาคม 2015” ถูกแทนที่สตรีมข่าวสารและราคาหุ้นบนหน้าจอขนาดใหญ่
ชาวสิงคโปร์บางคนตะโกนชื่อลี ขณะที่มีการเคลื่อนร่างนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ผู้นี้จากโรงพยาบาล เพื่อนำไปทำพิธีภายในครอบครัวเป็นเวลา 2 วัน ก่อนเคลื่อนย้ายสู่อาคารรัฐสภาเพื่อเปิดให้ประชาชนเคารพศพระหว่างวันที่ 25-28 โดยที่จะมีการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธีในวันอาทิตย์นี้ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่า จะมีผู้นำหลายสิบคนจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธี
ลี ที่สุขภาพแย่ลงนับจาก กวา ก๊อกชู ภรรยาที่ร่วมชีวิตกันมา 63 ปี เสียชีวิตในปี 2010 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมาเกือบ 7 สัปดาห์ด้วยอาการปอดอักเสบขั้นรุนแรง
เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปี 1959 เมื่ออังกฤษ เจ้าอาณานิคมมอบอำนาจในการปกครองตนเองให้ และนำสิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 1965 หลังจากผนึกรวมอย่างขมขื่นกับมาเลเซียเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
ลีลงจากตำแหน่งในปี 1990 และส่งไม้ต่อให้รองนายกรัฐมนตรี โก๊ะ จกตง ขึ้นบริหารประเทศแทนจนถึงปี 2004 จากนั้น โก๊ะจึงส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศกลับไปให้ลี เซียน ลุง บุตรชายคนโตของลี อย่างไรก็ดี ลี กวนยู ยังคงมีอิทธิพลในการเมืองสิงคโปร์เรื่อยมา โดยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และรัฐมนตรีที่ปรึกษา รวมทั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม
พรรคพีเพิลส์ แอ็กชัน ปาร์ตี (พีเอพี) ที่ลีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมก่อตั้งนั้น ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 1959 และเวลานี้ครองที่นั่งในสภา 80 จาก 87 ที่นั่ง
ลีอำลาบทบาทรัฐมนตรีที่ปรึกษาในปี 2011 หลังจากพีเอพีเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งครั้งรุนแรงที่สุด โดยได้คะแนนเสียงเพียง 60% เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้าประเทศ ค่าครองชีพพุ่งสูง ความแออัดในตัวเมือง และบ้านพักการเคหะไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสิงคโปร์ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดในโลก สถิติอาชญากรรมต่ำ โครงสร้างพื้นฐานพรั่งพร้อมในระดับโลก
ในด้านการทูต ผู้นำทั่วโลกโดยเฉพาะจีนรวมถึงเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนติดต่อขอคำปรึกษาจากลีบ่อยครั้ง
แม้ตลอดช่วงอายุขัย ลีได้รับการยกย่องจากนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาด แต่ขณะเดียวกัน แนวทางการเมืองแบบกำปั้นเหล็กของเขา ที่ครอบคลุมถึงการคุมขังศัตรูทางการเมือง การกดดันให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตนต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างแดน หรือล่มจมจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ก็ถูกวิจารณ์โดยนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศมาโดยตลอด
กระนั้น ลี ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยืนยันแนวทางในการดำเนินการกับผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดของตน โดยบอกว่า ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ
สิงคโปร์นั้นควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างเคร่งครัด แม้จะผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีการลงโทษด้วยการเฆี่ยน และมีการควบคุมสื่อเข้มงวด กระทั่งติดอันดับที่ 150 ในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปีของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ต่ำกว่าอันดับของรัสเซียและซิมบับเว ด้วยซ้ำ
ในบรรดามาตรการเข้มงวดของสิงคโปร์นั้น มีอาทิ การห้ามผู้ชายไว้ผมยาวในทศวรรษ 1970 กระทั่งวงบีจีส์ และ เลด เซปปลิน ต้องยกเลิกการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในสิงคโปร์ ขณะที่การห้ามจำหน่ายหมากฝรั่งที่ยังคงบังคับใช้จนถึงวันนี้ และยังมีการลงโทษพวกพ่นสีตามผนังด้วยการเฆี่ยน
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ประจำเอเชีย ยอมรับในมรดกทางเศรษฐกิจที่ลีทิ้งไว้ให้สิงคโปร์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า มรดกดังกล่าวต้องแลกด้วยต้นทุนสูงมากด้านสิทธิมนุษยชน และสำทับว่า นี่อาจถึงเวลาแล้วสำหรับ “การเสวนา” ภายในประเทศเพื่อการเปิดเสรีทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
กระนั้น ในหนังสือเล่มสุดท้าย “วัน แมนส์ วิว ออฟ เดอะ เวิลด์” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ลีมองย้อนเส้นทางการเมืองของตนเองและสรุปว่า “สำหรับผม ผมได้ทำสิ่งที่ต้องการด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี และผมพอใจแล้ว”