แม่ทัพภาคที่ 1 สัมมนาสื่อมวลชนฯ 26 จังหวัดภาคกลาง เรียกร้องสร้างบรรยากาศปรองดอง ปูดหน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่ มีอะไรก็เรียกทหารไปจับจนงานล้นมือ พร้อมพ้อผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่บังคับอย่างมีประสิทธิภาพ ขนาดมีกฎอัยการศึกยังไม่มีใครกลัว บอกมีอะไรขึ้นก็เตรียมตัวตายอย่างเดียว ยัน คสช.เดินหน้าโรดแมป เพื่อวางรากฐานให้ประเทศ รัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่เบี้ยวไม่ได้ ซัด ศนปท. บิดเบือนประเด็นขึ้นศาลทหาร ยันทุกอย่างเป็นไปตามระบบปกติ เว้นที่เกี่ยวข้องกับประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 และ 38
ที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (17 มี.ค.) สื่อมวลชนจำนวน 250 คนจากพื้นที่ภาคกลางเข้าร่วมสัมมนาในโครงการ “สื่อมวลชนสัมพันธ์” ของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 1 เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่เกี่ยวกับสื่อ 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ การสร้างความเข้าใจกับสื่อ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างชัดเจน และการควบคุมสื่อ ที่หัวหน้า คสช.ต้องการให้สื่อดูแลกันเอง อยู่ในกรอบจริยธรรมที่ดีงาม
“หัวหน้า คสช.นั้นไม่ปรารถนาที่จะใช้อำนาจกับสื่อ จึงจัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ขึ้น เพื่อพูดคุยและเข้ามาทำความเข้าใจร่วมกัน ในการที่ คสช.จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการบริหารประเทศ และขอให้สื่อช่วยกันสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้น สื่อที่ร่วมงานมาจาก 26 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 1 ก็ขอให้ร่วมมือกัน หากมีปัญหาอะไรให้แจ้งเข้ามา เพื่อช่วยแก้ปัญหาไป ส่วนตัวให้เกียรติสื่อมวลชนมาตลอด หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถสอบถามได้ ประเทศเดินหน้ามาแล้ว ไม่มีการถอยหลัง ขอให้ช่วยกันก้าวไปข้างหน้าในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านนี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสื่อที่เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องงานของรัฐบาล และ คสช.ในภาพใหญ่ และปัญหาข้อติดขัดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะผู้จัดรายการของสถานีวิทยุชุมชน และสถานีวิทยุในสังกัดหน่วยงานอื่นที่ถูกระงับการออกอากาศตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมาหลายสถานี เพื่อรอการจัดระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดระเบียบอยู่เพื่อไม่ให้มีการเบียดคลื่นสัญญาณกัน และไม่ให้เสาสูงจนรบกวนคลื่นวิทยุการบิน ตอนนี้กำลังแก้ไขปัญหากันอยู่โดย กสทช.ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเร่งทำเพราะเดือดร้อนกันหลายส่วน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ หน่วยงานใดมีหน้าที่ทำแต่ไม่ทำ มีอะไรก็เรียกให้ทหารไปจับหมด ทั้งที่ทหารก็งานล้นมือมาก
“ประเทศไทยมีผู้รับผิดชอบกฎหมาย แต่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อบังคับใช้ไม่ได้ ก็ใช้กำลังกระทืบเจ้าหน้าที่อย่างในอดีต แล้วก็ปล่อยๆ กันไป ขนาดตอนนี้มีกฎอัยการศึกยังไม่กลัวกันเลย ถือว่าใช้ยาแรงสุดแล้ว ต่อไปคงใช้อะไรที่แรงไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว มีอะไรขึ้นก็เตรียมตัวตายกันอย่างเดียว”
พล.ท.กัมปนาทกล่าวอีกว่า ในเรื่องการจัดทำโรดแมปของรัฐบาล และ คสช.ก็เพื่อเตรียมงานวางรากฐานให้ประเทศ และเมื่อถึงเวลาก็จะไม่มีปัญหา เพราะมีพันธสัญญา ไม่ใช่เบี้ยวเหมือนที่เกิดกันมาในอดีต แต่ที่ห่วงคือมีรัฐบาลใหม่มาก็จะนำที่เราวางเอาไว้ไปทำ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเดินมาถึงฉบับที่ 11 แล้ว แต่ไม่เคยมีใครเดินตามแผนเลย รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ยึดถือ ใช้นโยบายของพรรคมาทำแล้วก็ไป แผนพัฒนาฯ จึงเป็นแค่แผนที่เขียนไว้ในกระดาษเท่านั้น รัฐบาลนี้จึงพยายามทำแผนไว้ให้เป็นรากฐานคือ การทำมาสเตอร์แพลนแผนบริหารจัดการน้ำและหลายๆ เรื่อง
พล.ท.กัมปนาทยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มศูนย์กลางนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เคลื่อนไหวไม่ให้พลเมืองขึ้นศาลทหารว่า ต้องทำความเข้าใจว่าพลเรือน หรือไม่พลเรือนต้องปฏิบัติไปตามกฎหมาย เพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กับ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 38 เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งก็ระบุชัดเจนว่าใครผิดเงื่อนไขจะต้องขึ้นศาลอะไร อีกทั้งตามประกาศบอกว่า ศาลมีหน้าที่พิจารณาคดีตามปกติ ยกเว้นคดีอะไรที่ให้มาขึ้นศาลทหาร ไม่เกี่ยวว่าเป็นพลเรือนไม่ใช่พลเรือน
“ผมคิดว่าเป็นความพยายามบิดประเด็น ถ้าคุณทำผิดกฎหมายข้อหานี้ก็ต้องไปขึ้นศาลนี้ ก็เหมืนอเราไปขึ้นศาลแพ่ง ไปขึ้นศาลอาญา เขาก็มีกฎหมาย จะไปฟ้องศาลไหน แต่ไปบิดประเด็นว่าพลเรือนขึ้นศาลทหาร ถ้าพูดอย่างนี้มันเสียหาย สร้างความสับสนให้สังคม ส่วนการที่นักศึกษาออกมาเดินขบวนกดดัน ผมคิดว่าก็เป็นความพยายามบิดเบือนอีกนั่นแหละ แต่ผมเข้าใจเด็ก เราเข้าใจ พยายามสร้างความเข้าใจ น้องๆ ทุกคน ก็เป็นอนาคตของสร้าง ดังนั้นก็ต้องคิดในสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเขาไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันกับกลุ่มนักศึกษา หรือไม่ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า “ไม่เรียกหรอก โอเคนะ”