เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ๒๔๖๘ แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จเยี่ยมเยียนประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ อินโดเนเซีย และอินโดจีน ซึ่งประเทศหลังนี้อยู่ชิดกับไทย และยังอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส ทรงเผชิญกับการผจญภัยหลายครั้ง ทั้งทางธรรมชาติและถูกปองร้าย ทำให้ขบวนรถไฟที่คาดว่าจะเป็นขบวนเสด็จต้องตกราง ทั้งจากการเดินทางในเส้นทางทุรกันดาร ทำให้นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งเป็นภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนแรก ต้องเสียชีวิตขณะตามเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเริ่มออกเดินทางจากวังสุโขทัยในวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๓ เสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่ท่าราชวรดิฐโดยมี ร.ล.รัตนโกสินทร์ ตามเสด็จ ขบวนเรือพระที่นั่งต้องไปทอดสมอรอน้ำขึ้นที่สันดอนปากน้ำ จนเวลา ๒๓.๐๐ น.จึงถอนสมอออกทะเลได้ ทรงแวะพระราชวังไกลกังวล หัวหินก่อน จนถึงวันที่ ๑๑ เมษายน จึงออกเดินทางมุ่งสู่ไซ่ง่อน
เช้าวันที่ ๑๔ เมษายน เรือพระที่นั่งถึงแหลมแซงต์ยาคส์ เข้าสู่แม่น้ำโดนัย ข้าหลวงใหญ่อินโดจีน พร้อมด้วยทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ขึ้นมาเฝ้าบนเรือ จนเวลา ๑๐.๓๐ น.เรือพระที่นั่งจึงเข้าเทียบท่าเมืองไซ่ง่อน ท่ามกลางเสียงปืนเรือรบฝรั่งเศสยิงสลุตถวายความเคารพ ๒๑ นัด ส่วนเรือสินค้าทุกลำก็เปิดหวูดเมื่อเรือพระที่นั่งผ่าน ซึ่งเรือพระที่นั่งก็เปิดหวูดตอบ และ ร.ล.รัตนโกสินทร์ก็ยิงสลุตตอบจำนวนเท่ากัน เป็นการถวายการต้อนรับอย่างอึกทึกครึกโครมจริงๆ
เมื่อเสด็จสู่ปะรำพิธี นายกเทศมนตรีเมืองไซ่ง่อน ได้กราบบังคมทูลต้อนรับในนามเมือง ทรงมีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศส จากนั้นจึงประทับรถยนต์เปิดประทุนร่วมกับข้าหลวงใหญ่ไปสู่ที่ประทับ ตลอดทางเสด็จทั้งสองฝั่งมีทหารเรือแต่งเต็มยศตั้งแถวรับเสด็จ
ตลอดเส้นทางยาว ๒๕ เส้นจากท่าเรือ ไปสู่วังของข้าหลวงใหญ่ซึ่งถูกจัดให้เป็นที่ประทับ มีประชาชนเฝ้าชมพระบารมีตลอดสองข้างทาง พวกผู้ชายเปิดหมวกถวายคำนับเมื่อเสด็จผ่าน และประตูวังที่ประทับก็มีการจัดซุ้มประตูประดับดอกไม้ใบไม้และธง ด้านบนยังมีตราครุฑ ทหารตั้งแถวเป่าแตรถวายคำนับ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติฝรั่งเศส นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างเอิกเกริก
ในวันต่อมา เสด็จไปวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ทั้งทหารฝรั่งเศสและทหารญวน จากนั้นเสด็จเยี่ยมสโมสรนายทหารฝรั่งเศส ซึ่งมีนายทหารบกทหารเรือรับเสด็จพร้อมหน้า นายพันเอกริงค์ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อินโดจีน ซึ่งเคยเรียนที่โรงเรียนนายร้อยฝรั่งเศสร่วมรุ่นกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้กราบบังคมทูลรับรองในนามสโมสร ทรงมีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสเช่นกันว่า ไม่เคยลืมความหลังเมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยฝรั่งเศสเลย ซึ่งเป็นที่พอใจของนายทหารฝรั่งเศสที่รับเสด็จไปตามกัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับอยู่ที่ไซ่ง่อนจนถึงเช้าวันที่ ๑๗ เมษายนจึงเสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งที่แหลมแซงต์ยาคส์ เพื่อเสด็จเมืองตุราน โดยมีข้าหลวงใหญ่และข้าราชการฝรั่งเศสมาส่งเสด็จ
เรือพระที่นั่งออกเดินทางเมื่อ ๑๘.๐๐ น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่าความเร็วลม ๒๒ ไมล์ต่อชั่วโมง มีคลื่นบ้างเล็กน้อย แต่พอเรือพ้นแหลมออกทะเลจีน คลื่นก็แรงขึ้นจนข้าราชบริพารหลายคนเมาคลื่นไปตามกัน เวลา ๒๒.๐๐ น.ได้รับรายงานจากวิทยุว่าลมจะแรงขึ้นเป็น ๒ เท่า คลื่นใหญ่จนเรือพระที่นั่งโคลงมาก ต้องปิดหน้าต่างทั้งหมดกันน้ำกระเซ็นเข้า นายพลเรือตรีพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ผู้บัญชาการกระบวนเรือ นำความกราบบังคมทูลว่า อาจจะเจอพายุใหญ่ขึ้นอีก ทั้ง ร.ล.รัตนโกสินทร์ก็เป็นเรือเล็กกว่าเรือพระที่นั่งมหาจักรี เกรงจะตามเรือพระที่นั่งไม่ทัน จึงขอพระราชทานนำเรือกลับไปที่แหลมซังต์ยาคส์ คอยฟังรายงานอากาศต่อไป มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ปรึกษากันแล้วเห็นสมควรกลับก็กลับ พระยาราชวังสันจึงส่งสัญญาณให้ ร.ล.รัตนโกสินทร์กลับ และกลับมาถึงแหลมซังต์ยาคส์ได้เร็วกว่าขาไป ๑ ชั่วโมงเพราะลมส่ง ปรากฏว่าคืนนั้นไต้ฝุ่นเข้าถล่มฟิลิปปินส์ และส่งผลกระทบไปจนถึงหัวหิน
ข้าหลวงใหญ่อินโดจีนวางหมายกำหนดการใหม่ จัดขบวนรถไฟพิเศษไปเมืองนาตรัง ซึ่งเป็นเมืองพักผ่อนชายทะเล ห่างจากไซ่ง่อน ๔๑๐ กม. จากนาตรังจึงเปลี่ยนเป็นเสด็จทางรถยนต์ ผ่านเมืองตุยฮั้ว คินอน กวางหงาย ตุราน จากนั้นก็เสด็จโดยรถไฟขบวนพิเศษอีกครั้งไปเมืองเว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า
จากเว้ ตามหมายกำหนดการเดิมจะเสด็จกลับทางเก่า แต่ตอนเสด็จมาทรงพบว่าที่พักคับแคบไม่สะดวก จึงรับสั่งให้เรือพระที่นั่งมารับที่เมืองตุรานเพื่อกลับไปเมืองนาตรัง
ขณะเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งข้ามภูเขาสูงจากเว้มาตุรานนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นหัวรถจักรรถไฟและรถพ่วง ๒ ตู้ตกรางล้มตะแคงอยู่ ทรงจอดรถพระที่นั่งลงถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้องที่ถือติดพระหัตถ์ตลอดเวลา เก็บภาพโดยละเอียดแล้วจึงเข้าตุราน ประทับเรือพระที่นั่งไปนาตรัง
ต่อมาจากการไต่สวนของฝรั่งเศสได้ความว่า สาเหตุที่รถไฟตกรางนั้น ก็เพราะพวกคอมมิวนิสต์ญวนได้ถอดน็อตบังคับรางออก คิดว่าจะเสด็จทางรถไฟเหมือนขามา เดชะพระบารมีที่ทรงเลือกเสด็จโดยไต่ภูเขาสูงทางรถยนต์
ที่นาตรัง สถานที่ฝรั่งเศสอยากจะอวดก็คือ สถาบันสำรวจทางทะเล แหล่งคิดค้นความเจริญก้าวหน้ามาสู่อาณานิคม เช่นการนำปลามาทำเป็นเส้นแบบบะหมี่ คงจะแบบเดียวกับเส้นปลาในปัจจุบัน แต่คนญวนบอกว่าเหม็นคาว สู้กินบะหมี่ไม่ได้ เลยไม่กินกัน
อีกอย่างที่ทางสถาบันอยากจะอวดเป็นพิเศษก็คือ การทำน้ำปลาสูตรใหม่ ที่รวดเร็วและถูกหลักอนามัยกว่าวิธีเก่าที่ชาวตะวันออกทำกัน สถาบันจึงจัดแสดงวิธีทำถวายให้ทอดพระเนตร
ผู้อำนวยการสถาบันถวายการอธิบายว่า การทำน้ำปลาแบบคนญวนหรือที่ชาวตะวันออกทั่วไปทำกันนั้น ต้องเอาปลามาหมักโดยใส่เกลือมากๆ เพื่อไม่ให้เน่า ตั้งผึ่งแดดไว้เป็นเดือน ทำให้เค็มจัดทั้งยังไม่สะอาดเกิดเชื้อโรคขึ้นได้ แต่วิธีใหม่ของฝรั่งเศสปลอดภัยจากเชื้อโรค ใช้เวลาน้อยกว่ามาก ทั้งยังให้เค็มแค่ไหนก็ได้ตามใจชอบ
วิธีที่ฝรั่งเศสคิดพัฒนาขึ้นมาก็คือ นำปลามาต้มในอุณหภูมิ ๕๐ องศาเซ็นติเกรด ด้วยหม้อต้มที่ทำขึ้นโดยเฉพาะมีเครื่องกวน เคี่ยวจนเนื้อปลาเปื่อยยุ่ยดูคล้ายกะปิ จากนั้นจึงนำมากรอง น้ำที่ได้จะเป็นสีเหลืองใส กลิ่นหอมเหมือนน้ำปลาไทย จากนั้นจะให้เค็มมากน้อยแค่ไหนก็ใส่เกลือเอาตามต้องการ
การทำน้ำปลาแบบฝรั่งเศสนี้ดูง่าย รวดเร็ว ถูกหลักอนามัย โดยใช้เครื่องจักรทำเป็นหม้อต้มขึ้นโดยเฉพาะ แต่อาหารของชาวตะวันออกเรานั้น จะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความละเอียดอ่อน และยึดหลักธรรมชาติ แม้จะใช้เวลาและความพยายามมากกว่า แต่ผลที่ออกมาก็มีความละมุนละไม ลึกซึ้งกว่าที่เครื่องจักรจะทำได้ (ต่างกันเหมือนประชาธิปไตยแบบตะวันตกกับตะวันออกหรือเปล่าไม่รู้นะ)
ถ้าอยากรู้ว่าน้ำปลาสูตรของนักทำน้ำหอมนี้ จะได้รับความนิยมจากคนญวนแค่ไหน เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังเห็นขวดน้ำปลาไทยที่วางขาย เกือบทุกยี่ห้อจะมีภาษาญวนอยู่ด้วย แสดงว่ามีตลาดอยู่ในเวียดนาม ถ้าน้ำปลาสูตรฝรั่งเศสดีกว่า คงไม่มีใครสั่งน้ำปลาไทยไปกินหรอก
จากเมืองนาตรังเสด็จไปเมืองดาลัดทางรถยนต์ เมืองนี้อยู่บนภูเขาสูงถึง ๑,๕๐๐ เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นเมืองตากอากาศของคนฝรั่งเศสโดยเฉพาะ กล่าวกันว่า เคยมีป้ายติดไว้ที่เมืองนี้ว่า “ห้ามหมาและคนญวนเข้า” หลังจากประทับแรมอยู่ ๓ คืนก็เสด็จไปที่เมืองฟานเทียตเพื่อประทับรถไฟกลับไปไซ่ง่อน ครั้งนี้ทางการได้จัดขบวนรถนำรถพระที่นั่งไปล่วงหน้า ๑๐ นาที เพราะเกรงว่าจะถูกถอดน็อตรางอย่างคราวก่อนอีก
ในวันที่ ๔ พฤษภาคมจึงเสด็จโดยรถยนต์จากไซ่ง่อนไปนครวัด ซึ่งเป็นระยะทางไกลพอสมควร เมื่อขบวนเสด็จข้ามแม่น้ำโขงโดยแพขนานยนต์ไปแล้ว อีกราว ๗ กม.จะถึงเมืองกำพงจามซึ่งห่างไซ่ง่อน ๒๐๐ กม. รถคันที่คุณหญิงมโนปกรณ์นิติธาดา (นิตย์ หุตะสิงห์) นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และเป็นภรรยาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เสนาบดีกระทรวงคลัง ซึ่งต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ได้นั่งมากับพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) และคุณวรันดับ บุนนาค นางพระกำนัล คนขับซึ่งเป็นคนญวนได้แล่นรถเกยขึ้นไปบนกองหินข้างทาง แล้วเสียหลักไปชนเสาโทรเลขจนพลิกคว่ำ พระยาสุรวงศ์ฯและคุณวรันดับติดอยู่ในรถ ไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก พระยาสุรวงศ์ฯเพียงกระจกบาดมือ คุณวรันดับก็เพียงฟกช้ำ แต่คนขับรถสลบคารถ คุณหญิงมโนฯกระเด็นออกไปนอกรถ ศีรษะฟาดกับเสาโทรเลข หรือพื้นถนน หรือกับตัวรถก็ไม่ทราบชัด อาการสาหัสหมดสติ ทั้งหมดถูกนำกลับข้ามแม่น้ำโขงเพื่อจะไปโรงพยาบาล แต่พอมาถึงกลางน้ำคุณหญิงมโนฯก็เสียชีวิตในเวลา ๑๒.๓๕ น.
ขบวนเสด็จพระราชดำเนินได้เดินทางต่อไป ผ่านกัมพงจาม กัมพงธม จนถึงนครวัด ประทับแรม ณ บังกะโล การเสด็จพระราชดำเนินในวันนี้จึงยาวไกลถึง ๔๖๘ กม.
การที่คุณหญิงมโนฯต้องเสียชีวิตนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงสลดพระราชหฤทัย ปราศจากความสนุกรื่นเริงทั้งสองพระองค์ ทรงร่นหมายกำหนดการจากที่จะกลับถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เหลือเพียงวันที่ ๘ พฤษภาคม
ในวันจันทร์ที่ ๕ ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรนครธม แล้วกลับมาทอดพระเนตรนครวัดซึ่งอยู่หน้าบังกะโลที่ประทับ โดยมีศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร นำทอดพระเนตร
ในตอนค่ำ ทางการเขมรได้จัดวงตนตรีเขมรมาขับกล่อมขณะประทับโต๊ะเสวย เครื่องดนตรีมีพิณพาทย์และเครื่องสายเหมือนดนตรีไทย แต่ไม่มีขลุ่ย หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (สอน ศิลปะบรรเลง ตัวละครเอกในภาพยนตร์ดังเรื่อง “โหมโรง” เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งโปรดเกล้าฯส่งมาศึกษาเพลงเขมร ได้สมทบเล่นพิณพาทย์ถวายด้วย
ในเช้าวันที่ ๖ ได้เสด็จกลับมาตามเส้นทางเดิมจนถึงกัมพงธม แล้วจึงเดินทางไปยังพนมเปญซึ่งห่างนครวัด ๓๒๕ กม. โดยต้องลงแพขนานยนตร์ข้ามแม่น้ำโขงอีกครั้ง ประทับแรม ณ โฮเตลโรยัลพาเลซ
รุ่งขึ้นเสด็จวังของพระเจ้ามณีวงศ์ กษัตริย์เขมร ซึ่ง ออกญาจวน อัครมหาเสนาบดีมาร่วมรับเสด็จด้วย ณ พระที่นั่งบรรยงค์รัตนา ทรงมีพระราชปฏิสันถารตามสมควรแล้วจึงเสด็จไปวัดพระแก้ว ซึ่งสร้างเลียนแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนาราม จากนั้นเสด็จชมพิพิธภัณฑ์ แล้วพระราชดำเนินไปประทับแรมเมืองพระตะบอง ซึ่งอยู่ห่างพนมเปญ ๒๕๐ กม.
รุ่งเช้าวันที่๘ พฤษภาคม ๒๔๗๓ จึงได้เสด็จจากพระตะบองสู่อรัญประเทศ ซึ่งอยู่ห่างเพียง ๑๒๐ กม. แล้วประทับรถไฟขบวนพิเศษกลับถึงกรุงเทพฯในเวลา ๑๗.๔๐ น.
การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับอินโดจีนซึ่งยังอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสในครั้งนี้ แม้ฝรั่งเศสจะถวายการอารักขาอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ยังถูกถอดน็อตยึดราง ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ลงข่าวโจมตีการรับเสด็จ เช่น “พวกเราต้องเสียภาษีมากขึ้น เพราะฝรั่งเศสเอาเงินมาใช้รับเสด็จ” และ “ฝรั่งเศสประจบไทย เพราะอยากได้เมืองไทยกระมัง” ซึ่งแสดงว่าฝรั่งเศสเริ่มเสื่อมอำนาจแล้วในตอนนั้น อีกทั้งการเดินทางของขบวนเสด็จจากญวนมาเขมรก็เป็นถนนทุรกันดารจนเกิดอุบัติเหตุ แสดงว่าการปกครองของฝรั่งเศสไม่ได้ทำให้ญวนและเขมรเจริญขึ้นเลย
การเสด็จประพาสอินโดจีนครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการผจญภัยที่ไร้ความปลอดภัยอย่างยิ่งของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน