xs
xsm
sm
md
lg

หญิงไทยเมียฝรั่งคบชู้ฆ่าผัว!.. แต่ฝรั่งทั้งบางกอกและรัฐบาลสหรัฐกลับช่วยเธอให้รอดตาย!!

เผยแพร่:   โดย: โรมบุนนาค

หญิงไทยสมัย ร.๕
ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดคดีฆาตกรรมสนั่นเมืองขึ้นคดีหนึ่ง เมื่อมีผู้พบศพ กัปตันจอห์น สมิธ ชาวอเมริกันผู้ทำหน้าที่นำร่อง ลอยอืดขึ้นมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยและชาวต่างปะเทศเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ตายเป็นฝรั่งและถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ต่อมาก็จับฆาตกรที่รุมสังหารได้ทั้งชุด ปรากฏว่าเป็นคนไทยทั้งหมด ศาลสยามจึงดำเนินคดีอย่างเร่งรีบด้วยการตัดสินประหารชีวิตเพื่อเอาใจฝรั่ง แต่ปรากฏว่าเรื่องกลับโอละพ่อ ฝรั่งที่อยู่ในบางกอกจำนวนมากกลับเห็นใจจำเลย กดดันให้กงสุลอเมริกันช่วยเหลือให้รอดชีวิต กลายเป็นเรื่องสำคัญถึงกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเสนอแนะหาทางเปลี่ยนคำพิพากษาของศาลสยาม

คดีเริ่มขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๑๒ เมื่อนายอินกับญาติคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่หลังโบสถ์แบบทิสท์ ถนนตก เข้าแจ้งกับนายอำเภอว่า เมื่อคืนนี้ได้ยินเสียงหลายคนรุมตีใครคนหนึ่งในบริเวณบ้านกัปตันสมิธและภรรยาซึ่งอยู่ติดกัน พร้อมกับได้ยินเสียงร้องครวญครางอยู่ครู่หนึ่งแล้วเงียบหายไป จำได้ว่าเป็นเสียงของกัปตันสมิธ

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนที่บ้านกัปตันสมิธ พบนางสมิธซึ่งใบหน้าบวมช้ำเป็นปื้นใหญ่ยืนยันว่าไม่รู้จริงๆว่ากัปตันสมิธหายไปไหน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจบริเวณหลังบ้าน ก็พบว่าพื้นที่ซึ่งเละเป็นโคลนมีรอยเท้าคนย่ำไปมาและมีรอยลากของหนัก ทั้งยังมีรอยเลือดที่ประตูกระต๊อบที่อยู่หลังบ้านด้วย ใกล้ๆกระต๊อบยังพบด้ามผึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือถากไม้คล้ายขวานอันหนึ่งเปื้อนโคลนตกอยู่

เจ้าหน้าที่สืบรู้ว่านางสมิธมีชู้ชื่อ นาค และพบเขาที่กระต๊อบหลังบ้านกัปตันสมิธซึ่งเป็นที่อยู่ของ กลม และหัน ทาสของนางสมิธ จึงจับทั้งสามคนไปสอบสวน แต่ทุกคนต่างปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จึงคุมตัวไว้ก่อนฐานสงสัย

ต่อมาศพของกัปตันสมิธก็ลอยขึ้นมาที่หน้าบริษัทบอร์เนียว นายแพทย์แคมป์แบลล์ทำการชัณสูตร พบว่ากระดูกใบหน้าด้านขวาหัก มีรูซึ่งแสดงว่าถูกแทงที่แก้มด้านขวา คอข้างขวามีรอยบาดลึกถึงเส้นเลือดใหญ่เป็นแผลยาวประมาณสี่นิ้ว มีรอยแทงทะลุคอและมีรอยทุบข้างหลังตรงคอต่อ ที่ศีรษะมีรอยแผลหลายแห่ง จึงลงความเห็นว่ากัปตันสมิธตายเพราะถูกฆาตกรรม

ในที่สุดกลมก็รับสารภาพว่า นายหญิงของเขา คือนางสมิธเป็นคนขอให้เขาฆ่ากัปตันสมิธ โดยสัญญาว่าจะปล่อยเขากับเมียเป็นไทตอบแทน เขาจึงร่วมกับหมอนาคสังหารกัปตันสมิธ

นางสมิธเป็นลูกจีนในไทยชื่อ เชี่ยว พ่อแม่ตายตั้งแต่ยังเล็ก ญาติพี่น้องจึงนำไปเป็นทาสหลวงของวังหน้า พออายุ ๒๐ ปีเป็นสาวเต็มตัว ราชองครักษ์ในพระบาสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเป็นผู้ชักนำให้ได้กับ กัปตันจอห์น สมิธ ชาวอเมริกัน ซึ่งมาอยู่บางกอกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ทำหน้าที่นำร่องแม่น้ำ และแต่งงานกันที่สถานกงสุลอเมริกันใน พ.ศ. ๒๔๐๗ มีลูกด้วยกัน ๔ คน และยังมีลูกบุญธรรมอีก ๑ คน ตั้งชื่อว่า แมรี่ แดเนียล เวบสเตอร์ เจมส์ และซาราห์ ขณะนั้นนางเชี่ยวยังตั้งครรภ์ลูกคนที่ ๕ ด้วย ซึ่งยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นลูกใครกันแน่

กัปตันสมิธแก่กว่านางเชี่ยวถึง ๒๐ ปี เป็นนักดื่มอย่างฉกาจฉกรรจ์ เมาตลอดเวลา มีนิสัยฉุนเฉียวง่ายและดุร้าย กลับเข้าบ้านทีไรก็เฆี่ยนตีภรรยาอย่างโหดร้าย เธอเคยร้องทุกข์ต่อกงสุลจอห์น แฮสเซ็ทท์ แซนด์เลอร์ ๓ ครั้ง กงสุลเวสเตอร์ เวลท์ ๑ ครั้ง และกงสุลนอร์แมน เอ. แมคโดนัลท์ ๓ ครั้ง เรียกว่ากงสุลอเมริกันเปลี่ยนมากี่คนก็ได้รับการร้องทุกข์จากเธอทุกคน ซึ่งทุกครั้งกัปตันสมิธจะถูกเรียกตัวมาว่ากล่าวตักเตือน แต่พอเมาเขาก็ยังโหดร้ายทารุณเมียตามเคย จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั้งในหมู่คนไทยและฝรั่ง

เชี่ยวหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตอันขมขื่น อยากจะตายหรือหนีไปให้ไกลสุดจากผัวที่ชั่วร้าย แต่เธอก็ไม่มีปัญหาจะหนีไปไหนได้ จนกระทั่งได้พบกับหมอนาค

หมอนาคอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเชี่ยว พ่อตายตั้งแต่อายุ ๑๔ จึงไปเป็นลูกศิษย์วัด ต่อมาก็บวชเป็นพระปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรให้ จนนาคมีความเชี่ยวชาญ จึงสึกออกมาเป็นแพทย์แผนโบราณ และเปลี่ยนผู้หญิงที่อยู่ด้วยไปเรื่อยๆ จนได้มาพบเชี่ยวเมื่อลูกของเธอคนหนึ่งป่วย พาไปหาหมอฝรั่งก็รักษาไม่หายจึงไปตามเขามา ซึ่งนาคก็รักษาให้หายได้

เมื่อได้รับรู้ชีวิตอันขมขื่นของเธอ นาคก็เห็นใจ มีความสนิทสนมกันมากขึ้นเมื่อกัปตันสมิธไม่อยู่บ้าน ในที่สุดเขาก็ตกหลุมรักสาวลูก ๔ จึงขอให้เธอเลิกกับกัปตันสมิธมาอยู่กินกับเขา เชี่ยวว่าถ้าเขารักเธอจริงต้องพาเธอหนีไปอยู่จังหวัดทางภาคเหนือที่กัปตันสมิธตามไม่พบ ทั้งสองได้ไปสาบานกันที่วัดแห่งหนึ่งว่าจะเป็นตายอย่างไรก็จะไม่ทอดทิ้งกัน

เชี่ยวขอร้องอีกอย่างว่า เธอคงจะไปอย่างไม่มีความสุข หากไม่ได้ชำระแค้นผัวฝรั่งที่สร้างความขมขื่นให้ชีวิตมาหลายปี ซึ่งนาคก็ยอมตามเธอทุกอย่าง

เชี่ยวเห็นว่าอ้ายกลมทาสของเธอล่ำสันแข็งแรงน่าจะช่วยเรื่องนี้ได้ จึงเรียกมันมาเกลี้ยกล่อมว่าถ้ามันช่วยฆ่าผัวของเธอได้ จะให้มันเป็นไท กลมเห็นโอกาสที่จะไม่ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิตจึงตกลง เชี่ยวได้พาหมอนาคไปนัดแนะกับอ้ายกลมที่กระต๊อบของมันต่อหน้าอีหันเมียของกลม และว่า

“ฉันจะวางแผนให้เอง”

ในวันที่รู้ว่ากัปตันสมิธจะต้องกลับบ้าน เชี่ยวเอาลูกไปฝากคนเลี้ยงไว้แต่เช้า พอกัปตันสมิธเมากลับมาเธอก็บอกว่าจะไปรับลูก แล้วเดินออกไปโดยไม่ฟังว่าผัวฝรั่งจะว่าอย่างไร กัปตันสมิธระแวงอยู่แล้วว่าเมียคบชู้จึงคว้ามีดตามไป เชี่ยวเห็นผัวตามมาก็เข้าแผนที่วางไว้ จึงตรงไปที่กระต๊อบหลังบ้าน ซึ่งนัดหมายหมอนาคกับอ้ายกลมไว้ กัปตันสมิธตามไปเห็นทั้ง ๓ ยืนคุยกันอยู่ที่ระเบียงกระต๊อบ เขาจึงตรงเข้าตบเธอและจ้วงแทงอ้ายกลม มันเอี้ยวหลบแต่ก็โดนที่สะบัก หมอนาคเตรียมตัวอยู่แล้วจึงเข้าหวดกัปตันสมิธที่ต้นคอด้วยด้ามผึ่ง กัปตันสมิธตกจากระเบียงลงไปในโคลน หมอนาคโดดตามไปกระชากคอให้พลิกตัวขึ้นมาแล้วหวดซ้ำอีก กลมก็เข้าช่วยอีกคน กัปตันสมิธร้องเสียงแหลมได้สองครั้งก็สิ้นใจ

เชี่ยวสั่งการให้นำเรือมาใส่ศพไปทิ้งโดยผูกหินถ่วงน้ำ นาคกับกลมช่วยกันห่อศพด้วยผ้าที่เชี่ยวเอามาให้ ลากใส่เรือนำไปหย่อนกลางแม่น้ำ แล้วกลับมานอนที่กระต๊อบอ้ายกลม พากันหลับสนิทจนตำรวจมา

ทั้งหมดวางแผนกันไว้ว่า ในวันรุ่งขึ้นจะแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง กว่าคนจะรู้ว่ากัปตันสมิธถูกฆ่าก็คงไปกันไกลลิบแล้ว แต่เสียงร้องของกัปตันสมิธก่อนตายทำให้พวกเขาพบจุดจบโดยไม่ต้องรอให้ศพโผล่มาฟ้อง

ศาลสยามรีบดำเนินคดีเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เห็นว่าทางการสยามเอาใจใส่การทำร้ายฝรั่งเป็นพิเศษ คำพิพากษามีว่า

“ศาลลงความเห็นว่า อีเชี่ยวเป็นเมียของกัปตัน เจ.สมิธ เขารักนางและนางก็มีลูกกับเขาถึงสี่คน นางจึงควรรู้สึกกตัญญูสำนึกในความกรุณาปราณีของผัว และปรนนิบัติรับใช้เขาอย่างซื่อสัตย์

แต่อีเชี่ยวเป็นหญิงสามานย์ ไม่ซื่อสัตย์ต่อผัวและลอบมีชู้ ไอ้นาคบังอาจลอบเป็นชู้กับอีเชี่ยวเมียของกัปตันเจ.สมิธ และสมคบกันวางแผนกับอ้ายกลมและอีเชี่ยว โดยอีเชี่ยวเป็นคนยุยงให้อ้ายนาคกับอ้ายกลมฆ่ากัปตันสมิธโดยไม่เคารพต่อกฎหมายหรือกลัวการลงโทษทัณฑ์ใดๆ

อ้ายนาคกับอ้ายกลมสมคบกันทำร้ายและตีกัปตันสมิธจนถึงแก่ชีวิตแล้วถ่วงลงแม่น้ำ ส่วนอีหันรู้เห็นเป็นใจในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้ ทั้งอีเชี่ยวซึ่งเป็นต้นคิด และอ้ายนาคกับอ้ายกลมผู้ลงมือฆ่ากัปตันจอห์น สมิธ จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องได้รับโทษสถานหนักที่สุด ส่วนอีหันซึ่งรู้เห็นเป็นใจทำผิดกฎหมาย จะต้องได้รับโทษสถานเบา”

กฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งใช้กันอยู่ในสมัยนั้นกล่าวว่า

“หญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อผัวและมีชู้ ถ้าชู้กระทำฆาตกรรมผัวโดยตีหรือแทง ท่านว่าให้หญิงนั้นและชายชู้ตายตกไปตามกัน ถ้าผัวไม่ถึงแก่ความตายแต่ได้รับบาดแผลเจ็บป่วยลง ชู้จะถูกปรับเป็นสองเท่าของค่าปรับสำหรับความผิดร้ายแรงที่สุดต่อคดีผัวเมีย และจะเรียกปรับเพิ่มได้สำหรับบาดแผลและความเจ็บป่วยนั้น ส่วนเมียจะถูกประจานตามกฎหมาย”

และยังมีกฎหมายอาญาอีกบทกล่าวว่า หากผู้ใดว่าจ้างหรือวานให้ผู้อื่นใช้หอก ดาบหรือ อาวุธใดๆ ทำการตีหรือแทง ถ้าผู้ตีหรือแทงทำให้เกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย ผู้ว่าจ้างหรือผู้วานจะโดนใส่คา เครื่องทรมาน และทั้งสองจะถูกปรับตามกฎหมาย แต่ถ้าตีและแทงจนถึงแก่ความตาย คนต้นคิดและคนลงมือจะถูกประหารชีวิต ทั้งจะถูกริบทรัพย์ ช้าง ม้า วัว ควาย และทาสเป็นของหลวงด้วย

สำหรับคดีนี้ อ้ายนาคมีความผิดฐานเป็นชู้กับอีเชี่ยว และทุบตีฆ่ากัปตันสมิธ

อีเชี่ยวมีความผิดฐานเป็นชู้กับอ้ายนาคและเป็นคนต้นคิดฆ่ากัปตันสมิธ

อ้ายกลมมีความผิดฐานกระทำการทุบตีและฆ่ากัปตันสมิธ

อีหันมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับอ้ายนาค อ้ายกลม และอีเชี่ยว

ศาลจึงตัดสินลงโทษให้เฆี่ยนจำเลยทั้ง ๔ คนละ ๓ ยก ยกละ ๓๐ ที จากนั้นให้นำอ้ายนาค อ้ายกลมและอีเชี่ยวประจานทางบกสามวัน ทางน้ำสามวัน และขึ้นขาหยั่งประจานอีกสามวัน ก่อนที่จะให้นำตัวไปประหารในที่สาธารณะ

ส่วนอีหันซึ่งรู้เห็นเป็นใจจะต้องตกเป็นทาสหลวง เช่นเดียวกับลูกๆของอีเชี่ยวและลูกเมียของอ้ายนาคที่ไม่รู้ไม่เห็นในเรื่องนี้ด้วย ก็ต้องถูกริบเป็นทาสหลวง เพื่อไม่ให้ผู้คนเอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

พระยาราชรองเมืองได้นำคำตัดสินของคณะผู้พิพากษาเสนอต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งท่านผู้สำเร็จฯ มีความเมตตาให้งดโทษประจานทางบกและขึ้นขาหยั่งอ้ายนาคอ้ายกลมและอีเชี่ยว ให้เอาตัวไปประจานทางน้ำ เฆี่ยน ๓ ยก แล้วประหาร

ส่วนอีหันซึ่งกำลังมีครรภ์ ให้งดโทษเฆี่ยนเสีย แต่ต้องตกเป็นทาสหลวงทำงานในโรงสีข้าว เช่นเดียวกับลูกๆของอีเชี่ยวและลูกเมียของอ้ายนาค

สำหรับอีเชี่ยวซึ่งกำลังมีครรภ์เช่นกัน ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้เลื่อนการเฆี่ยนและการประหารออกไปหลังคลอด

แม้ศาลสยามจะมองนางเชี่ยวว่าเป็นผู้หญิงชั่วช้าสามานย์ แต่คนอเมริกันและคนตะวันตกในบางกอกกลับเห็นใจเธอไม่น้อย ที่ถูกกดขี่บีบคั้นทารุณจากผัวผู้ชั่วร้ายจนเธอต้องทำเช่นนี้ ส่วนกงสุลอเมริกันมองว่าเรื่องนี้เป็นการคุกคาม “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ของตนที่มีอยู่เหนือแผ่นดินสยาม แต่เมื่อศาลสยามรวบรัดตัดสินไปแล้วก็ไม่กล้าคัดค้านให้เกิดกรณีขัดแย้งกันขึ้น กงสุลแมคโดนัลด์จึงมีหนังสือประท้วงอย่างนิ่มๆไปว่า ขอขอบคุณทางการสยามที่สามารถจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว และตั้งคำถามขึ้นมาว่า สยามหรือสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีกับภรรยาหม้ายของกัปตันสมิธ เพราะนางแต่งงานกับคนอเมริกันถูกต้องตามกฎหมาย ในกรณีนี้กงสุลอเมริกันจะยอมให้รัฐบาลสยามลงโทษนางตามที่ได้พิพากษาไปแล้ว แต่ขออย่าได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในกรณีอื่นๆต่อไป

เจ้าพระยาพระคลังซึ่งมีหน้าที่ดูแลชาวต่างประเทศได้ตอบอย่างสุภาพ แต่กลับเป็นการวางหมากที่ทำเอากงสุลแมคโดนัลด์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยกล่าวว่า

ถ้ากงสุลแมคโดนัลด์เห็นว่าภรรยาหม้ายของกัปตันสมิธอยู่ในอำนาจของศาลอเมริกัน ก็ไม่ควรปล่อยให้ศาลสยามลงโทษนาง เพราะในสนธิสัญญามีอยู่ว่า เมื่อใดที่คนในบังคับของกงสุลอเมริกันประกอบอาชญากรรมร้ายแรงมีโทษถึงประหารตามกฎหมายสยาม จะต้องไม่ลงโทษที่สยาม แต่ต้องส่งตัวให้แก่กงสุลเพื่อให้ส่งกลับไปรับโทษที่ประเทศของตน

ข้อความในหนังสือของเจ้าพระยาพระคลังลงท้ายว่า

“ข้าพเจ้าขอส่งตัวนางเชี่ยวมาให้ท่านตามสนธิสัญญา เพื่อให้ส่งไปรับโทษตามแต่ที่ท่านผู้มีเกียรติจะเห็นสมควร”

กงสุลแมคโดนัลด์ได้รับหนังสือแล้วก็อึ้งไป เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งตัวนางเชี่ยวไปลงโทษที่อเมริกา จึงขอให้รัฐบาลสยามรอการประหารนางไว้ก่อนจนกว่าทางกงสุลจะได้รับคำสั่งจากรัฐบาลอเมริกัน

ในระหว่างนั้น หมอนาค อ้ายกลมที่ไม่มีใครช่วยได้ ก็ถูกนำไปตัดหัวที่วัดโคก โดยมีชาวตะวันตกหลายคนถูกเชิญมาเป็นสักขีพยานว่า รัฐบาลสยามมีความตั้งใจที่จะพิทักษ์ชีวิตร่างกายและเกียรติยศของฝรั่งอย่างจริงจัง

ระหว่างที่นางเชี่ยวถูกจองจำอยู่ในคุกรอคลอดบุตรคนที่ ๕ นั้น พลเอก เอฟ.ดับบลิว. พาร์ทริดจ์ ก็เข้ารับหน้าที่กงสุลอเมริกันคนใหม่ และได้รับคำตอบจากรัฐบาลอเมริกันแจ้งมาว่า

กฎหมายของสหรัฐที่ยินยอมให้สัญชาติแก่หญิงต่างชาติที่แต่งงานกับชาวอเมริกัน มีผลบังคับใช้เฉพาะในดินแดนและเขตอำนาจของศาลสหรัฐเท่านั้น แต่จะนำมาใช้บังคับกับหญิงสยามที่แต่งงานกับชาวอเมริกันที่ยังอยู่ในสยามต่อไปหรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่กฎหมายสยามว่าจะกำหนดไว้อย่างไร ทั้งยังชมกงสุลแมคโดนัลด์ที่ปล่อยเรื่องนี้ให้อยู่ในการพิจารณาของศาลสยาม แต่สงวนสิทธิ์ที่จะคัดค้านในกรณีอื่นต่อไป

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐยังตั้งข้อสังเกตไว้อีกว่า ตามรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์เสนอในทำนองว่า กลมฆ่ากัปตันสมิธก็เพื่อป้องกันตัวเพราะถูกกัปตันสมิธทำร้ายก่อน การกระทำของเขาจึงไม่ใช่การจงใจฆ่า ฉะนั้นแม้มิสซิสสมิธจะมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด ก็ควรจะได้รับโทษที่เบาลง และอาจได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายสยาม ลดหย่อนจากโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิตได้

พลเอกพาร์ทริคจ์ได้รับคำตอบเช่นนี้ก็ไม่พอใจ เขากล่าวว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสยามตามสนธิสัญญา การฆาตกรรมทำในบ้านกัปตันสมิธ ย่อมเหมือนกับกระทำในอเมริกา และการสมรสก็กระทำที่สถานกงสุลซึ่งถือว่าเป็นดินแดนของสหรัฐ มิสซิสสมิธจึงควรได้รับการไต่สวนโดยศาลกงสุลที่กรุงเทพฯ ตามกฎหมายของรัฐนิวยอร์คที่เป็นบ้านเกิดของกัปตันสมิธ หากยอมรับว่ามิสซิสสมิธยังเป็นพลเมืองสยาม นอกจากนางจะต้องถูกตัดหัวแล้ว ลูกๆของนางทั้ง ๔ คนรวมทั้งคนที่จะเกิดใหม่ ก็จะต้องตกเป็นทาส ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็จะถูกริบเป็นของหลวงด้วย กงสุลพาร์ทริดจ์ได้ขออนุมัติกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่จะต้องคัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากมีแรงกดดันจากชาวต่างชาติในสยามหลายคนที่เห็นใจมิสซิสสมิธ และแม้การกระทำของนางจะโหดเหี้ยม แต่ทุกคนก็ไม่พอใจที่ลูกๆของกัปตันสมิธจะต้องตกเป็นทาสไปตลอดชีวิตจากอาชญากรรมที่แม่ทำลงไป

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐหลีกเลี่ยงที่จะขัดแย้งกับรัฐบาลสยามในเรื่องนี้ แต่แนะนำกงสุลพาร์ทริดจ์ว่า ถ้าทางการสยามจะหาเหตุผลมาลดหย่อนผ่อนโทษให้มิสซิสสมิธได้ รัฐบาลสหรัฐก็จะพอใจมาก และให้ย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีกรณีใดเลยที่กฎหมายสหรัฐจะโยนบาปของอาชญากรให้แก่บุตรซึ่งปราศจากความผิด กงสุลพาร์ทริดจ์ได้รับคำสั่งให้กล่าวว่า รัฐบาลและประชาชนอเมริกันเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากที่บุตรจะต้องตกเป็นทาสเพราะความผิดของบิดามารดา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐบาลอเมริกันแม้จะไม่มีสิทธิ์คัดค้าน แต่ก็ใคร่จะวิงวอนขอร้องว่า ถ้าจะเกิดผลร้ายแก่ลูกๆเช่นนั้น ถึงแม้จะต้องอภัยโทษทั้งหมดให้แก่มารดาก็ควรทำ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยังได้แนะนำให้ใช้วิธีทางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ทั้งตามความมุ่งหมายของกฎหมายสยามและตัวเด็ก โดยรัฐมนตรีต่างประเทศเดวิส บันทึกชี้ทางออกมาว่า

“เราอาจก่อให้เกิดความยุติธรรมทางอาญาได้ โดยการประกาศว่า ภรรยาหม้ายที่ต้องโทษของกัปตันสมิธได้ตายไปจากโลกทางกฎหมาย ทิ้งให้บุตรมีสิทธิ์บริบูรณ์ในทรัพย์สมบัติของบิดา เสมือนว่าบิดามารดาตายด้วยเหตุธรรมดาทั่วไป”

พาร์ทริดจ์ได้รับคำสั่งให้ยืนยันเต็มที่ว่า รัฐบาลอเมริกันต้องการหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด ไม่ให้มีการยึดทรัพย์สินของกัปตันสมิธ หรือให้ลูกๆของเขาตกเป็นทาส เนื่องจากลูกๆของเขามีสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติรัฐสภาที่จะได้เป็นพลเมืองสหรัฐ แม้จะยังไม่ได้เป็นในวันนี้ก็ตาม แต่เขาก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกเป็นคนในบังคับสยามหรือจะเป็นพลเมืองอเมริกัน การทำให้เขาตกเป็นทาส จึงทำให้เขาสูญสิ้นอำนาจที่จะทำตามใจตนไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสถานภาพที่ขัดกับสถานภาพของพลเมืองอเมริกันหรือคนในบังคับของสหรัฐโดยสิ้นเชิง

พลเอกพาร์ทริดจ์ได้ใช้หนังสือนี้เป็นเครื่องมือในการเจรจากับรัฐบาลสยาม เขาเริ่มต้นด้วยการขอให้ลดหรือเปลี่ยนการลงโทษมิสซิสสมิธ และยกทรัพย์มรดกให้แก่บุตรในฐานะทายาทโดยชอบธรรม เจ้าพระยาพระคลังตอบทันทีด้วยความพอใจอย่างยิ่งที่ทางการสหรัฐไม่ได้สนใจจะไต่ถามถึงอำนาจและสิทธิ์ของรัฐบาลสยามในการดำเนินคดีต่อนางเชี่ยว แต่ไม่ยอมกล่าวถึงการลดโทษจากการประหารชีวิตที่ได้ตัดสินไปแล้ว

หลังจากที่ถูกจองจำอยู่ ๖ เดือน นางเชี่ยวก็คลอดบุตรคนที่ ๕ เป็นหญิง และจากนั้นไม่นานกงสุลพาร์ทริดจ์ก็ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการว่า นางเชี่ยวจะถูกประหารในวันที่แจ้งกำหนดมาด้วย และจะส่งลูกๆ ของนางมาให้ตามคำสั่งของเขา พาร์ทริดจ์ส่งคนไปรับเด็กและไม่พอใจที่ทางการสยามไม่ทำตามคำขอของเขาที่ให้พิจารณาลดโทษมิสซิสสมิธ แต่เมื่อทางการสยามยอมเรื่องเด็กและทรัพย์สินอันเป็นประเด็นสำคัญแล้ว กงสุลพาร์ทริดจ์จึงตัดสินใจไม่แสดงความไม่พอใจเรื่องนี้ออกมา แต่ทว่าชาวตะวันตกหลายคนซึ่งส่วนมากเป็นคนอเมริกันได้ยกขบวนไปพบเขา เรียกร้องให้พาร์ทริดจ์ใช้อิทธิพลของกงสุลระงับการประหารชีวิตไว้ก่อนและพิจารณาลดโทษ

ตอนแรกพาร์ทริดจ์ปฏิเสธ แต่เมื่อตรองดูแล้วเขาจึงขอเข้าพบผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านผู้สำเร็จฯ เห็นด้วยกับคำขอของเขา และขอให้พาร์ทริดจ์ทำหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศ เพื่อท่านจะได้ตอบอย่างเป็นทางการ

จากนั้นพาร์ทริดจ์ได้เรียกประชุมศาลกงสุลในเดือนเมษายน ๒๔๑๓ ซึ่งศาลกงสุลได้พิพากษาว่า การตายของกัปตันจอห์น สมิธ ถือว่าได้พิสูจน์แล้ว และให้ถือว่ามิสซิสสมิธ ภรรยาของเขาซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเนื่องจากเป็นผู้ฆาตกรรมสามี เป็นผู้ที่ “ตายไปจากโลกนี้แล้วทางกฎหมาย” ซึ่งบุตรทั้ง ๕ ที่เกิดจากการสมรสให้ถือว่าเป็นทายาทโดยชอบธรรมในทรัพย์สินมรดกซึ่งมีประมาณสามพันดอลลาร์ แลให้อยู่ในความพิทักษ์ของศาล ค่าใช้จ่ายจนถึงวันพิพากษาเป็นจำนวนสี่ร้อยดอลลาร์ให้หักจากกองมรดกจ่ายให้เสมียนศาล

พอถึงตอนนี้เลยเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาอีก เพราะการช่วยเหลือมิสซิสสมิธและลูก ซึ่งคนทั่วไปคิดว่าเป็นไปด้วยความเมตตาสงสารนั้น กลับถือเป็นบริการ ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากกองมรดก และคนที่ได้รับเงินก้อนนี้ไปก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็น นายเฟรเดอริค พาร์ทริดจ์ บุตรชายของพลเอกพาร์ทริดจ์ กงสุลอเมริกันนั่นเอง

หลังจากนั้น เจ้าพระยาพระคลังก็ส่งหนังสือถึงกงสุลพาร์ทริดจ์ แจ้งว่าได้ส่งเรื่องให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพิจารณาแล้ว ท่านกล่าวว่านางเชี่ยวสมคบกับชู้ฆ่าสามี ประกอบอาชญากรรมที่ร้ายแรงมาก ตามกฎหมายแล้วเธอควรจะถูกประหารชีวิต แต่เมื่อเห็นว่ารัฐบาลอเมริกันปรารถนาให้รัฐบาลสยามเปลี่ยนจากการลงโทษถึงชีวิตเป็นการจองจำที่มีระยะเวลานานพอสมควรกับความผิดที่กระทำ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจึงยอมให้ตามที่สหรัฐต้องการ นั่นคือ นางเชี่ยวจะถูกจำคุกสามปีแล้วจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนบุตรจะยังคงเป็นพลเมืองสหรัฐและจะได้ทรัพย์สินเป็นมรดก”

มิสซิสพาร์ทริดจ์ได้พาเจมส์ไปอเมริกา และจัดการให้แมรี่เข้าโรงเรียนประจำที่สิงคโปร์ อีกปีหนึ่งต่อมาแมรี่ก็ตามไปสมทบกับน้องชายที่อเมริกา ส่วนลูซี่น้อยที่เกิดในเรือนจำ อยู่ในความดูแลของนายแพทย์ฮัทชิสัน

หลังจากจัดแบ่งมรดกกันแล้ว เด็กๆจะได้รับกันคนละหกร้อยดอลลาร์ แต่ครอบครัวพาร์ทริดจ์เอาทุกทางที่จะเอาได้ เป็นค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ และค่าเล่าเรียน จนในที่สุดเงินก็ตกถึงมือเด็กๆเคราะห์ร้ายเหล่านั้นคนละไม่กี่ดอลลาร์

หมอบรัดเลย์ซึ่งบันทึกการฆาตกรรมกัปตันสมิธไว้ ได้บันทึกถึงพลเอกพาร์ทริคจ์ไว้ด้วยว่า

“...พลเอก เอฟ.ดับบลิว.พาร์ทริคจ์ เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นยอด ในการรีดเงินจนสตางค์สุดท้ายจากแม่หม้ายและลูกกำพร้าไร้ที่พึ่ง ตามที่เราทราบจากกรณีลูกๆของกัปตันสมิธ...”

ส่วนนางเชี่ยว หลังจากถูกจองจำอยู่จนครบ ๓ ปีก็ได้รับอิสรภาพ และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่สังคมได้รับข่าวคราวของเธอ ผู้ซึ่ง“ตายไปจากโลกนี้แล้วทางกฎหมาย”
ชีวิตริมฝั่งเจ้าพระยา
ชีวิตริมฝั่งเจ้าพระยา
กำลังโหลดความคิดเห็น