เอเอฟพี - จาการ์ตาเรียกเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเข้าพบในวันพุธ (15 เม.ย.) เพื่อประท้วงต่อกรณีริยาดเดำเนินการประหารชีวิตแรงงานรับใช้ประจำบ้านคนหนึ่ง ฐานฆ่านายจ้างเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน โดยร้องเรียนว่าครอบครัวของนักโทษหญิงและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไม่เคยได้รับแจ้งล่วงหาเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ ขณะที่เอ็นจีโอเพื่อสิทธิคนงานอินโดนีเซียออกโรงประณาม พร้อมอ้างว่าผู้ต้องหาลงมือเพื่อปกป้องตนเอง
เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียบอกว่า ซิติ ไซนับ ถูกประหารที่เมืองเมดินาเมื่อวันอังคาร (14 เม.ย.) หลังถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานจ้วงแทงและทำร้าย นัวรา อัล-โมโรเบอี นายจ้างหญิงเสียชีวิตในปี 1999
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และผู้นำอินโดนีเซีย 3 คนก่อนหน้านี้เคยเขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย กราบบังคมทูลขอพระองค์ช่วยร้องขอครอบครัวเหยื่อให้อภัยแก่ไซนับ ทว่า การประหารก็ยังมีขึ้น แม้จาการ์ตาอ้างว่าครอบครัวของนักโทษหญิงรายนี้และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลอ้างว่าไม่เคยได้รับแจ้งอย่างสมควรก่อนหน้าการลงทัณฑ์เลย
“รัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือเธอตั้งแต่แรกเริ่มและร้องขอครอบครัวเหยื่อให้อภัยเธอ” กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุในถ้อยแถลงในช่วงค่ำวันอังคาร (14 เม.ย.) “รัฐบาลอินโดนีเซียยื่นประท้วงรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ฐานไม่แจ้งล่วงหน้าแก่ตัวแทนของอินโดนีเซียหรือครอบครัวของนักโทษต่อวันเวลาของการประหาร”
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียชี้แจงว่าได้เลื่อนการประหารไซนับ มาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อรอจนกว่าลูกๆ ของเหยื่อจะโตเสียก่อน จากนั้นถึงเพิ่งตัดสินใจดำเนินกาลงทัณฑ์นักโทษรายนี้
องค์กร Migrant Care เอ็นจีโอเพื่อสิทธิแรงงานอินโดนีเซียในต่างแดน ประณามการประหารครั้งนี้ และอ้างว่าไซนับลงมือเพียงเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกนายจ้างข่มเหงเท่านั้น
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ใช้การประหารชีวิตไซนับ เรียกร้องอินโดนีเซียยกเลิกการสนับสนุนโทษประหารชีวิต เนื่องจากจาการ์ตาเองก็ยังคงเดินหน้าลงทัณฑ์โทษตายผู้ต้องหาคดียาเสพติดหลายคน โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเรียกร้องอินโดนีเซียละทิ้งโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นก้าวย่างแรกในการกดดันประเทศอื่นๆไม่ให้กำหนดโทษตายต่อแรงงานต่างด้าวอิเหนาเช่นกัน
นายโตดุง มูลยา ลูบิส ทนายความของ 2 นักโทษออสเตรเลีย แอนดรูว์ ชานและนายมิวรัน ซูคูมาน ที่โดนโทษประหารชีวิตในออสเตรเลีย จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างแคนเบอร์รากับจาการ์ตา ระบุว่ามันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงที่อินโดนีเซียต่อสู้ขอความปราณีในต่างแดน แต่กลับปฏิเสธมันภายในบ้านของตนเอง
กระนั้นก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียยืนกรานว่า จาการ์ตาจะเดินหน้าประหารชีวิตนักโทษตามเดิม แม้อีกด้านหนึ่งจะยื่นประท้วงในกรณีของไซนับ “เรามีพันธกิจปกป้องพลเมืองของเรา นั่นคือเป้าหมายลำดับหนึ่งของเรา แต่มันมีประเด็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่เราจำเป็นต้องบังคับใช้ภายใน”