เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการ - ญาติๆและคณะผู้แทนทูตรุดไปยังเกาะราชทัณฑ์แห่งหนึ่งของอินโดนีเซียในวันศุกร์(24เม.ย.) ถือเป็นเค้ารางว่าการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้านักโทษต่างชาติคดียาเสพติด ใกล้เข้ามาแล้ว แม้จาการ์ตาต้องเผชิญเสียงประณามอย่างหนักหน่วงจากนานาชาติก็ตาม
ทางการอินโดนีเซียแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถานกงสุลชาติต่างๆเดินทางไปยังเกาะนูซากัมบังงัน อันเป็นที่ตั้งของเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งจะถูกใช้เป็นแดนประหาร หลังจากนักโทษที่จะโดนลงทัณฑ์นั้นถูกส่งตัวไปที่นั่นครบทุกคนแล้ว
ผู้ต้องขังทั้งหมด 10 เป็นชาวต่างชาติ 9 คนในนั้นประกอบด้วยชาวออสเตรเลีย 2 คน จากแอฟริกา 4 คน บราซิล ฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์ ชาติละคน ล้วนถูกประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ปฏิเสธคำร้องขออภัยโทษ ที่ยืนกรานว่าการประหารชีวิตจะเดินหน้าต่อไป แม้ถูกประณามอย่างหนักจากนานาชาติ โดยชี้ว่าอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินสืบเนื่องมีการใช้ยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ
ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าระบบกฎหมายของอินโดนีเซียมีความผิดปกติร้ายแรง จนทำให้นายแซร์จ อัตลาอุย พลเมืองแดนน้ำหอมถูกพิพากษาประหารชีวิต พร้อมบอกว่าการลงทัณฑ์เขานั้นยากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้
กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเผยว่านางจูเลีย บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศ พยายามต่อสายถึงรัฐมนต่างประเทศอินโดนีเซียหลายครั้งในวันศุกร์(24เม.ย.) แต่เขายุ่งมากจนไม่สามารถรับสายได้ พร้อมบอกว่าพวกเขารู้สึกกังวลใหญ่หลวงต่อสถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุด
การย้ายตัวแมรี เจน เวโลโซ สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์มายังเกาะนูซากัมบังงันในตอนเช้าวันศุกร์(24เม.ย.) ท่ามกลางการคุ้มกันอย่างหนาแน่นของตำรวจ กระพือการประท้วงในมะนิลา ขณะที่มีรายงานว่าลูกชาย 2 คนอายุ 12 และ 6 ขวบ เดินทางมายังเกาะแห่งนี้ เพื่ออยู่เคียงข้างผู้เป็นแม่ในชั่วโมงท้ายๆของชีวิต
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย เผยแพร่หนังสือจากเวโลโซ ที่เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ส่งถึงประธานาธิบดีวิโดโด ร้องขอความกรุณาเพื่อเห็นแก่ลูกตัวเล็กๆของเธอ
อินโดนีเซียยังไม่มีการกำหนดวันประหารที่แน่ชัด แต่การลงทัณฑ์ใดๆจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 72 ชั่วโมง โดยเวลานี้ต้องรอจนกว่ากระบวนการอุทธรณ์ของผู้ต้องขังหนึ่งเดียวที่เป็นชาวอินโดนีเซีย ถึงที่สุดเสียก่อน
นานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่ออินโดนีเซียให้ยกเลิกโทษประหาร โดยออสเตรเลีย ดำเนินการทางการทูตในความพยายามปกป้องชีวิตผู้ต้องหาชาวออสเตรเลีย 2 คน หัวหน้าแก๊งขนยาเสพติด “บาหลีไนน์”
ประเด็นการประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดพลเมืองออสเตรเลียของอินโดนีเซียนี้ ได้ลุกลามบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองชาติ หลังจากนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย ออกมาทวงบุญคุณต่อกรณีเคยบริจาคเงินช่วยเหลือนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังเกิดเกิดภัยพิบัติสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 220,000 คน
คำพูดของเขามีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้จาการ์ตายุติการประหารชีวิต แอนดรูว์ ชาน และมยุราน สุกุมาราน แต่ความพยายามดังกล่าวกลับส่งผลตรงกันข้าม และเป็นเหตุให้เกิดกระแสความขุ่นเคืองอย่างมโหฬารขึ้นในแดนอิเหนา ที่ซึ่งผู้ประท้วงหลายกลุ่มเริ่มการรณรงค์รวบรวมเหรียญเพื่อจ่ายคืนแคนเบอร์รา โดยช่วงกลางเดือนมีนาคม มีกลุ่มผู้ประท้วงชาวอินโดนีเซียได้ส่งถุงบรรจุเหรียญให้แก่สถานทูตออสเตรเลีย ระบุว่าเป็นการคืนเงินช่วยเหลือในช่วงเผชิญมหันตภัยร้ายแรง
ในส่วนของฝรั่งเศสนั้นก็ได้เพิ่มแรงกดดันต่ออินโดนีเซียอย่างทันทีทันใด หลังการยื่นอุทธรณ์ของนายแซร์จ อัตลาอุย ถูกปฏิเสธ โดยประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ เตือนว่าการประหารนักโทษแดนน้ำหอมอาจก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ความสัมพันธ์ทวิภาคี