เอเอฟพี - รัฐบาลอินโดนีเซียเผยในวันพฤหัสบดี (23 เม.ย.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมประหารกลุ่มนักโทษคดียาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ในนั้นรวมถึง 2 ผู้ต้องขังชาวออสเตรเลีย ที่กระพือข้อพิพาทระหว่างสองชาติ แม้ต้องเผชิญเสียงประณามจากนานาชาติอย่างหนักหน่วง
สำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยด้วยว่า ผู้ต้องขังชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำความมั่นคงสูงบนเกาะนูซากัมบังงัน ดินแดนประหารในวันศุกร์ (24 เม.ย.) รวมกับนักโทษประหารคนอื่นๆ ที่ถูกพาตัวไปที่นั่นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม
นักโทษ 10 คน มีทั้งชาวออสเตรเลีย ฝรั่งเศส บราซิล ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย กานา และอินโดนีเซีย จะถูกยิงเป้าพร้อมกัน หลังโดนปะธานาธิบดีแดนอิเหนาปฏิเสธคำร้องขออภัยโทษซึ่งตามปกติถือว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาอาจจะรอดพ้นการถูกประหารชีวิต
โทนี สปอนทานา โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดบอกกับเอเอฟพีว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงาน ได้สั่งการให้เหล่าเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่เพชฌฆาตเตรียมพร้อมสำหรับการประหาร “มีคำสั่งออกมาแล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงกำลังเตรียมพร้อมตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง” เขากล่าวโดยไม่ให้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประหาร แต่การลงทัณฑ์ใดๆจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 72 ชั่วโมง และแม้มีความคืบหน้าล่าสุด แต่ สปอนทานา ยืนยันว่ายังไม่มีการแจ้งกำหนดวันประหารต่อนักโทษ เนื่องจากต้องรอจนกว่ากระบวนการอุทธรณ์ของหนึ่งในผู้ต้องขังจะถึงที่สุด
นักโทษรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเป็นครั้งสุดท้าย และคาดหมายว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาเร็วๆนี้ หลังจากเมื่อวันอังคาร (21 เม.ย.) นายแซร์จ อัตลาอุย ชาวฝรั่งเศส และมาร์ติน อันเดอร์สัน จากกานา เพิ่งถูกปฏิเสธคำอุทธรณ์ไป
ผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอื่นๆและหลายคนในกลุ่มที่กำลังถูกลงทัณฑ์ก็ดำเนินการเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม มีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ ขณะที่เจ้าหน้าที่ประณามนักโทษเหล่านั้นว่าเป็นแค่พยายามซื้อเวลา
นานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่ออินโดนีเซียให้ยกเลิกโทษประหาร โดยออสเตรเลีย ดำเนินการทางการทูตในความพยายามปกป้องชีวิตผู้ต้องหาชาวออสเตรเลีย 2 คน หัวหน้าแก๊งขนยาเสพติด “บาหลีไนน์”
ประเด็นการประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดพลเมืองออสเตรเลียของอินโดนีเซียนี้ ได้ลุกลามบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองชาติ หลังจากนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย ออกมาทวงบุญคุณต่อกรณีเคยบริจาคเงินช่วยเหลือนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังเกิดเกิดภัยพิบัติสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 220,000 คน
คำพูดของเขามีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้จาการ์ตายุติการประหารชีวิต แอนดรูว์ ชาน และมยุราน สุกุมาราน แต่ความพยายามดังกล่าวกลับส่งผลตรงกันข้าม และเป็นเหตุให้เกิดกระแสความขุ่นเคืองอย่างมโหฬารขึ้นในแดนอิเหนา ที่ซึ่งผู้ประท้วงหลายกลุ่มเริ่มการรณรงค์รวบรวมเหรียญเพื่อจ่ายคืนแคนเบอร์รา โดยช่วงกลางเดือนมีนาคม มีกลุ่มผู้ประท้วงชาวอินโดนีเซียได้ส่งถุงบรรจุเหรียญให้แก่สถานทูตออสเตรเลีย ระบุว่าเป็นการคืนเงินช่วยเหลือในช่วงเผชิญมหันตภัยร้ายแรง
ในส่วนของฝรั่งเศสนั้นก็ได้เพิ่มแรงกดดันต่ออินโดนีเซียอย่างทันทีทันใด หลังการยื่นอุทธรณ์ของนายแซร์จ อัตลาอุย ถูกปฏิเสธ โดยประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ เตือนว่าการประหารนักโทษแดนน้ำหอมอาจก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ความสัมพันธ์ทวิภาคี
อย่างไรก็ตาม แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ยืนกรานว่าการประหารชีวิตจะเดินหน้าต่อไป โดยชี้ว่าอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินสืบเนื่องมีการใช้ยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ