ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกันเรื่อง "โทษประหารชีวิต" หลายคนยกมือสุดแขน อยากให้มี และเด็ดขาด ขณะที่บางกลุ่มยกมือสุดแขนเช่นกัน แต่ขอคัดค้าน เพราะมองเห็นข้อเสียของการลงโทษในลักษณะนี้ เนื่องจากมองถึงความหละหลวมในกระบวนยุติธรรมที่ยังมีการจับแพะกันอยู่ ต่างจากโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่ยังสามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณากันใหม่ หรือปล่อยตัวจำเลยที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ผิดได้
ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และหลักสิทธิมนุษยชน โดย กสม.ชี้แจงว่า หลายประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตกันไปแล้ว เพื่อให้ผู้ทำความผิดได้แก้ไข ฟื้นฟูให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิตของบุคคล และไม่ได้ช่วยให้การกระทำความผิดลดลง
พร้อมเสนอมาตรการทดแทน นั่นก็คือ อาจเปลี่ยนจาก "โทษประหารชีวิต" เป็น "โทษจำคุกตลอดชีวิต" โดยให้มีระยะเวลาการจำคุกไม่น้อยกว่า 25-30 ปี แต่นักโทษเหล่านี้มีสิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ตามกลไกที่กฎหมายกำหนด ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องเร่งปฏิรูประบบเรือนจำให้สามารถรองรับนักโทษประหารชีวิต หากมีการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
สำหรับเรื่องนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมนำไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้จัดทำรายงานผลการพิจารณากลับมาที่ ครม.ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ต่อประเด็นเดียวกันในข้างต้น แม้จะมีเสียงส่วนใหญ่คัดค้าน แต่ในทัศนะของ ผศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขาเคยให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live โดยอธิบายไว้อย่างน่าคิด
"การทำวิจัยของนักศึกษาที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการยกเลิก ยังอยากให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้ แต่หลังจากลองเปลี่ยนวิธีโดยให้ความรู้ก่อนที่จะถามในทันทีว่าคิดอย่างไรต่อโทษประหาร ปรากฏว่า เปอร์เซ็นต์ที่อยากจะให้คงโทษเอาไว้ก็ต่ำลงมา ส่วนตัวมองว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับโทษประหารหรือไม่ประหาร และก็ไม่ได้มองว่า คนที่คงโทษประหารเอาไว้จะเป็นคนไม่ดี หรือเห็นด้วยกับการฆ่าคน
แต่ในความคิดพวกเขา การมีโทษประหารมันโอเค แต่ที่มันไม่โอเค เพราะกระบวนการที่ลงโทษมันไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง พูดง่ายๆ คือ กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่มันไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้จริง หรือคนที่ผิดจริงไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะคิดว่าตัวเองรอด รอดจากกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม หรือรอดจากการได้รับโทษประหาร เพราะมีขั้นตอนที่ช่วยเหลือได้
ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลที่ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นภาพว่า มันไม่ใช่ไปแก้ตรงยกเลิกโทษหรือไม่ยกเลิกโทษ ควรจะมาดูประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะคนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมต่างหาก ทำให้คนเราเกิดความกลัว พอคนเกิดความกลัวก็ขอให้มีโทษประหารเอาไว้" ผศ.ดร.ศรีสมบัติอธิบาย ก่อนจะฝากทิ้งท้ายว่า
"ทุกวันนี้ระบบการจับตัวคนร้ายของบ้านเรามีข้อกังขาเยอะ พอจับมาแล้วกลับไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจริง กลายเป็นแพะที่ต้องมารับผิดแทน ดังนั้น ควรมีบทลงโทษที่เหมาะสม อาจไม่ใช่ว่า ฆ่าคนตาย แล้วต้องได้รับโทษด้วยการถูกฆ่าตาม แต่น่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า อย่างประเทศเกาหลีใต้ เขาก็เปลี่ยนจากการประหารชีวิตมาใช้วิธีฉีดยาให้เจ้าโลกของนักโทษฝ่อแทน เพื่อจะได้ใช้การไม่ได้อีกต่อไป"
ปัจจุบันประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติส่วนใหญ่ มากกว่า 150 ประเทศ ได้ยกเลิกหรือระงับการใช้โทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มองโกเลีย กัมพูชา เป็นต้น คงมีเพียง 58 ประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่
นับเป็นอีกหนึ่งแง่มุมชวนตั้งคำถามว่า "โทษประหารชีวิต" คือคำตอบสุดท้าย หรือกระบวนการยุติธรรมไทยไม่อาจเป็นหลักประกันแห่งความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754