xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชื่นชมรัฐบาลเล็งยกเลิกโทษประหาร ยันพร้อมหนุนข้อมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม. ชื่นชมรัฐบาลเล็งยกเลิกโทษประหาร ยันพร้อมหนุนข้อมูล ยาหอมหวังสำเร็จได้ในรัฐบาลปัจจุบัน หลังเสนอ ครม. ยกเลิกโทษประหารชีวิต เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต เหตุไม่ช่วยการทำผิดลดลง ด้าน ครม. ส่งให้ ยธ. ไปพิจารณาแล้วแจ้งผลภายใน 30 วัน

วันนี้ (23 เม.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) ได้ออกเอกสารข่าวแสดงความขอบคุณและชื่นชมรัฐบาลที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตของ กสม. ไปพิจารณาและจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม เสนอกลับมายัง ครม. ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งในการประชุม

โดยถือว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ เอาจริงเอาจังต่อการยกเลิกโทษประหารที่เป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติส่วนใหญ่ มากกว่า 150 ประเทศ ได้ยกเลิกหรือระงับการใช้โทษประหารชีวิตในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย กัมพูชา เป็นต้น มีเพียง 58 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ยังมีโทษประหารชีวิต ซึ่ง กสม. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ต่อกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานอื่นเพื่อประกอบการพิจารณาให้สามารถดำเนินการยกเลิกโทษประหาร โดยหวังว่าจะทำได้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ภายใต้การบริหารในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและหลักสิทธิมนุษยชน โดย กสม. รายงานว่า แนวคิดการลงโทษผู้กระทำผิดในปัจจุบันมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดด้วยการบำบัดฟื้นฟูจิตใจและพฤติกรรมที่เป็นผลจากความรู้ความเข้าใจที่ผิดพลาดของบุคคลนั้น ซึ่งประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อให้ผู้ทำความผิดได้แก้ไข ฟื้นฟูให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิตของบุคคล และไม่ได้ช่วยให้การกระทำความผิดลดลง กสม. จึงเสนอต่อ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราที่มีโทษประหารชีวิตในบางฐานความผิดก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานความผิดที่ผู้กระทำผิดไม่ได้มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของผู้เสียหายหรือไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

นอกจากนี้ ไม่ควรกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตอยู่ในกฎหมายในกฎหมายที่กำลังจะออกมาใหม่และควรแก้ไขกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกฐานความผิด เมื่อสังคมมีความเข้าใจและความพร้อมในการยกเลิกโทษดังกล่าวต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิในการดำรงชีวิตอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมควรมีมาตรการทดแทนซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยให้มีระยะเวลาการจำคุกไม่น้อยกว่า 25 - 30 ปี แต่นักโทษเหล่านี้มีสิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ตามกลไกที่กฎหมายกำหนดดังนั้นกรมราชทัณฑ์จะต้องเร่งปฏิรูประบบเรือนจำให้สามารถรองรับนักโทษประหารชีวิต หากมีการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต สำหรับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคมไทยเกี่ยวกับโทษประหาร ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มบทบาทครอบครัวและชุมชนในการคุมประพฤติผู้กระทำผิด รวมถึงต้องพัฒนาวิธีการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพการและจิต ส่วน กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงระบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพถูกต้อง และรวดเร็ว

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอดังกล่าวและมอบหมายให้กระทรวยุติธรรมนำไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดแล้วให้จัดทำรายงานผลการพิจารณากลับมาที่ ครม. ภายใน 30 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น