xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก“ปราสาทพระวิหาร” ในวันที่(เคย)เป็นของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร ณ ยอดเขาพระวิหาร (ภาพ : google earth)
แม้จะเป็นเพื่อนบ้านที่กระทบกระทั่งกันบ้างตามประสาลิ้นกับฟัน แต่ไทย-กัมพูชา ก็มีอดีตร่วมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อครั้งไทยเรียกตนเองว่าสยาม และกัมพูชาถูกขนานนามว่าเขมร

ทั้งสองประเทศถูกกั้นเขตแดนระหว่างกันด้วยเทืองเขาพนมดงรัก (พนมดงเร็ก) อันเป็นจุดแบ่งแยกระหว่างดินแดนที่ราบสูงโคราชและที่ราบต่ำเขมร และบนเทือกเขาแห่งนี้ก็เป็นที่ตั้งของ ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่รู้จักกันในนาม “ปราสาทพระวิหาร”

“ปราสาทพระวิหาร” เป็นซากโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหาร เทือกเขาพนมดงรัก ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอม ตัวปราสาททอดยาวจากทิศเหนือจรดใต้ โดยมีจุดเริ่มต้นทางขึ้นที่ตีนเขาฝั่งที่ราบสูงโคราชดินแดนแผ่นดินสยาม ทางเดินทอดยาวสู่ปราสาทประธานซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูถึง 5 ชั้น ที่จำหลักลวดลายศิลปะขอม กระทั่งไปสิ้นสุดที่ปลายผาที่ถูกเรียกว่าเป้ยตาดี อันเป็นแนวสันปันน้ำของเทือกเขาแห่งนี้และสามารถของเห็นแผ่นดินเขมรต่ำได้อย่างกว้างไกล

กาลเวลาที่ผ่านไป อาณาจักรขอมโบราณที่เคยรุ่งเรืองก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แน่นอนว่าปราสาทพระวิหารก็ได้ถูกทิ้งร้างตามไปด้วย จากนั้นก็มีอาณาจักรใหม่ๆ ที่ขึ้นมามีอำนาจในดินแดนแถบนี้แทนที่ อาทิ อาณาจักรอยุธยา ที่ได้ยกทัพมาตีเมืองพระนครอยู่หลายครั้ง เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ได้จัดทัพไปตีเขมรจนกระทั้งได้เขมรตกเป็นหัวเมืองประเทศราชและเมืองพระตะบองได้กลายเป็นศูนย์กลางของอิทธิพลสยาม ในส่วนของปราสาทพระวิหารก็ยังคงถูกทิ้งร้างอยู่บนขุนเขา แต่ก็ยังถือได้ว่าปราสาทแห่งนี้อยู่ภายใต้เขตแดนของสยามอย่างชอบธรรม
ทางเดินขึ้นสู่ โคปุระชั้นที่2 ปราสาทพระวิหาร
กระทั่งเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ก็ยังดำเนินต่อ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับนักองค์เอง เจ้าชายแห่งอาณาจักรเขมรมาชุบเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม เพื่อหลีกหนีสงครามที่แขกจามได้เข้ามารุกรานเขมร และเมื่อเหตุการณ์สงบลงจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นักองค์เองกลับมาครองเขมร และพระราชทานนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ประวัติศาสตร์การเมืองนี้พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอยู่ในฐานะผู้อุปถัมภ์และผู้แต่งตั้งกษัตริย์เขมรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

อีกทั้งในรัชสมัยนักองค์จัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงขอเมืองพระตะบองและเมืองเสียมราฐ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้ครอบครองและขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ โดยตรง เพื่อคอยคุ้มครองประเทศเขมรอย่างใกล้ชิด ดินแดนแถบนี้จึงถูกเรียกว่าดินแดนเขมรส่วนใน ซึ่งรวมไปถึงปราสาทพระวิหาร นครวัด นครธม และส่วนหนึ่งของทะเลสาบเขมร ดินแดนเขมรส่วนที่เหลือตั้งแต่พนมเปญไปจรดชายแดนที่ติดกับญวนให้กษัตริย์เขมรเป็นผู้ปกครอง

และในเวลาต่อมาปราสาทเขาพระวิหารก็ได้ถูกค้นพบโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2442 เขาพระวิหารที่ได้หลับใหลมาอย่างยาวนานก็ได้เป็นที่รู้จักและกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินสยามโดยสมบูรณ์ แต่การเวลาแห่งความสงบของกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มาสิ้นสุดลง เมื่อมือที่สามจากแดนไกลได้นำพาความละโมบโลภมากของตนมาสู่ดินแดนแถบนี้
ทัศนียภาพดินแดนเขมรต่ำและแนวขอบผาเป้ยตาดีสันปันน้ำแห่งเทือกเขาพระวิหาร(ภาพ : google earth)
ฝรั่งเศสหนึ่งในประเทศมหาอำนาจจากยุโรปผู้พกความทะเยอทะยานของลัทธิจักรวรรดินิยม ในการแสวงหาอาณานิคมเพื่อแข่งขันกับมหาอำนาจชาติอื่น ได้เข้ามาสู่ภูมิภาคแห่งนี้โดยได้ทำสงครามและยึดญวน ประเทศคู่แข่งของสยามได้สำเร็จ หลังจากนั้นสายตาแห่งความกระหายที่ไม่สิ้นสุดก็ได้มองมาที่เขมร แต่ยังติดปัญหาเพราะเขมรนั้นเป็นเมืองขึ้นของสยาม จนกระทั้งต้องงัดเล่ห์เหลี่ยมนานาประการในการหาทางครอบครองเขมรและดินแดนอื่นๆ ในแถบนี้

ในช่วงเวลานั้นกษัตริย์เขมรที่ปกครองอาณาจักรมีนามว่า สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์พระองค์นี้ได้มีใจออกห่างสยามและมีความสนใจในผู้มาใหม่นี้มากกว่าญวน เขมรจึงได้ตกลงปลงใจทำสัญญาเข้าสู่การเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเพื่อการเป็นอิสระ

หลังจากนั้นแผ่นดินเขมรส่วนเล็กส่วนน้อยและประเทศราชต่างๆ ของสยามจึงต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศสเพื่อแลกกับสิทธิต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสยาม ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกขนานนามว่าใหม่ว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส
แผนที่เมื่อครั้งเขมรยังเป็นส่วนหนึ่งอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ (ภาพ : wikipedia)
หลักจากฝรั่งเศสได้ครอบครองและควบคุมทุกอย่างแล้ว ก็ได้เริ่มสำรวจดินแดนอินโดจีนของตนและเริ่มขีดเขียนเส้นแบ่งเขตต่างๆ นานา ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ปราสาทพระวิหารได้ตกไปเป็นของฝรั่งเศสในแบบคิดไปเองฝ่ายเดียว แต่ถึงอย่างไรสยามประเทศที่ได้ใช้ชื่อใหม่ว่าประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องนี้ รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้ความพยายามมากมายเรียกร้องเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืน เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 สงครามได้ถูกไกล่เกลี่ยโดยประเทศญี่ปุ่นผู้ซึ่งมีบทบาทในเอเชียมากที่สุดในขณะนั้น หลังจากนั้นจึงได้ทำอนุสัญญาโตเกียว โดยไทยได้ดินแดนเขมรส่วนใน คือ ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์

ช่วงเวลาแห่งการเป็นเจ้าของปราสาทอย่างแท้จริงนั้นสั้นนัก เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเปลี่ยนแปลงก็ได้กลับมาอีก ญี่ปุ่นผู้เคยช่วยไกล่เกลี่ยได้กลายมาเป็นผู้แพ้สงคราม จึงทำให้ฝรั่งเศสหาข้ออ้างนานาประการยกเลิกอนุสัญญาโตเกียว จนไทยต้องยกดินแดนเขมรส่วนในคืน อีกทั้งกษัตริย์เขมรพระองค์ใหม่ เจ้าสีหนุ ได้ทำให้เขมรได้รับเอกราชอย่างแท้จริงและรู้เป็นที่รู้จักในนามใหม่ว่ากัมพูชา แต่ความไม่แน่นอนของการเสนอความเป็นเจ้าของในปราสาทพระวิหารนั้นก็ยังคงอยู่ ถึงแม้ฝรั่งเศสจะออกจากดินแดนแห่งนี้ไปแล้วแต่ก็ยังคงได้ทิ้งปัญหาไว้ในเรื่องเขตแดนที่ไม่แน่นอนซึ่งได้ลากเส้นนี้ไว้บนแผ่นที่อย่างเห็นแก่ได้
แผนที่ดินแดนอาณานิคม “ดินโดจีนฝรั่งเศส” (ภาพ : wikipedia)
หลักจากที่ฝรั่งเศสได้จากไป ไทยก็ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง โดยได้ยึดความเป็นสากลที่ถูกกำหนดขึ้นว่าแนวเขตแดนนั้นถูกแบ่งที่สันปันน้ำ แต่ทางกัมพูชากลับใช้หลักฐานแห่งความละโมบที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส ประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหารและตัดสายสัมพันธ์อย่างขาดสะบั้น ซึ่งไม่เห็นเยื่อใยที่ว่าไทยนั้นเป็นประเทศแรกที่รับรองความเป็นเอกราชของกัมพูชา เจ้าสีหนุจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ในปี พ.ศ.2501

เหตุการณ์นี้ทางกัมพูชาได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีในเรื่องของหลักฐานต่างๆมากมาย ที่เป็นผลพลอยได้จากการตกเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส ไทยและกัมพูชาจึงได้ต่อสู้กันด้วยหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าใครเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารอย่างแท้จริง กระทั่งการตัดสินจบลงในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3 ปราสาทแห่งขุนเขาจึงต้องตกเป็นของกัมพูชา
แผนที่แสดงดินแดนเขมรส่วนใน ที่ได้กลับมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ภาพ : wikipedia)
เมื่อปี พ.ศ.2551 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่เนื่องจากการเป็นมรดกโลกนั้นจะต้องมีพื้นที่หรือบริเวณโดยรอบที่อยู่ภายใต้แผนบริหารจัดการมรดกโลก นั่นทำให้กัมพูชาฟ้องร้องให้ศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทอีกครั้ง

จากนั้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ศาลโลกได้ตัดสิน ยืนความตามคำพิพากษาในปี 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอแล้ว อีกยังระบุให้เขตอธิปไตยของกัมพูชาครอบคลุมถึงชะง่อนผา แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงภูมะเขือ พร้อมให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร แล้ว 2 ชาติต้องไปตกลงแผนปกป้องมรดกโลกภายใต้การดูแลของยูเนสโก

ทั้งนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ หรือว่าจะนำปราสาทพระวิหารไปโยงกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำประเทศโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น