เอเอฟพี - ข้อมือ และนิ้วที่โค้งงอ นางรำที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่เอี่ยมในท่วงท่าหลากหลายลักษณะตามประเพณีโบราณ นำพาความประสงค์ของกษัตริย์เขมรไปยังสรวงสวรรค์
นางรำที่สวมเครื่องประดับศีรษะสีทองเคลื่อนไหวยืดข้อมืออย่างเชื่องช้า และบ้างยืนด้วยขาเพียงข้างเดียว แสดงท่าทางเคลื่อนไหวด้วยมือสองข้างของนางรำแทนการถวายดอกไม้ หรือผลไม้ให้แก่ทวยเทพ
รำอัปสรา เป็นการร่ายรำโบราณในยุคสมัยพระนครซึ่งเกือบสูญหายไปในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้ระบอบการปกครองของเขมรแดง ที่ทำลายมรดกของประเทศไปอย่าง
มากมายรวมทั้งชีวิตผู้คนมากถึง 2 ล้านคน แต่การร่ายรำโบราณนี้กำลังหวนคืนกลับมาอีกครั้ง หลังท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ได้ถูกบันทึกไว้โดยผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษารูปสลัก และประติมากรรมบนกำแพงปราสาทหลายแห่งของนครวัดที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 1,000 ปี
ในเวลานี้ การรำอัปสราอาจเห็นได้ตามพิธีต่างๆ รวมทั้งในบริเวณโถงรับรองของโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น ใน จ.เสียมราฐ ที่เป็นที่ตั้งปราสาทนครวัด ที่การร่ายรำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักร
ทั้งนี้ การรำอัปสรายังอยู่ในบัญชีรายชื่อของสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ผู้ที่จะมาเป็นนางรำนั้น จะถูกเลือกตั้งแต่ยังมีอายุเพียง 7 ปี เพื่อดูความถนัด ความงาม รวมทั้งต้องมีความยืดหยุ่น และความสง่างามของมือด้วย
โรงเรียนวิจิตรศิลป์ในกรุงพนมเปญ กำลังฝึกสอนนางรำรุ่นใหม่ ที่แม้ว่ายังไม่สามารถระบุจำนวนนางรำที่มีอยู่ทั้งหมดได้อย่างแน่ชัด แต่เจ้าหน้าที่ และครูผู้ฝึกสอนเชื่อว่า มีนางรำที่เป็นเด็กรุ่นใหม่หลายร้อยคนที่ช่วยกันฟื้นฟูการร่ายรำอัปสราไม่ให้สูญหาย.