ยามบ้านแตกสาแหรกขาดถึงขั้นเสียเอกราชนั้น ไม่ว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ขุนนาง ไพร่ ต่างก็ต้องได้รับชะตากรรมโศกเศร้าสะเทือนใจไม่ต่างกัน หลายครอบครัวต้องขมขื่นอาดูรที่ญาติพี่น้องถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยของข้าศึก แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ต้องทรงสะเทือนพระทัยถึงกับหลั่งน้ำพระเนตร เมื่อได้พบพระเจ้าหลานเธอที่ตกระกำลำบาก ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยพม่าอยู่ถึง ๒๕ ปี
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเรื่องราวสะเทือนใจนี้ไว้ว่า
ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ พระเจ้าอังวะต้องการจะเปลี่ยนเจ้าเมืองและกรมการเมืองทวาย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่า ให้เจ้าเมืองคนเก่ากลับไปอังวะ ทำให้แมงจันจา เจ้าเมืองทวาย และจิกแค ปลัดเมืองไม่พอใจ ฉะนั้นพอเจ้าเมืองกับกรมการเมืองชุดใหม่เดินทางมารับตำแหน่ง แมงจันจาจึงให้ทหารจับฆ่าทั้งหมด
พระเจ้าอังวะรู้ข่าวที่ทวายแข็งเมืองเป็นกบฏ จึงรับสั่งให้จับ สะดุแมงกอง แม่ทัพใหญ่ของอังวะ ซึ่งเป็นบิดาของแมงจันจาประหาร แต่สะดุแมงกองทูลว่าจะมีหนังสือไปเรียกลูกมาเฝ้า หากไม่มาจะขอรับพระอาญาตามโทษ พระเจ้าอังวะจึงไห้ระงับโทษประหารไว้ แล้วคุมตัวสะดุแมงกองกับภรรยาไว้ขณะมีหนังสือไปถึงลูก
ฝ่ายแมงจันจากลัวว่าพระเจ้าอังวะจะส่งทหารมาตีเมือง จึงคิดจะหันมาพึ่งพระเดชานุภาพพระเจ้าอยู่หัวไทย และสืบรู้ว่าพระราชภาคิไนยหญิงพระองค์หนึ่ง ตกอยู่ในเมืองทวายตั้งแต่ครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกและกวาดต้อนครอบครัวไทยมา ครั้นไปเชิญพระเจ้าหลานเธอมาสอบถามก็ได้ความว่าใช่แน่ ทรงผนวชเป็นชีอยู่ จึงให้แต่งศุภอักษรจารึกลงแผ่นทองเป็นภาษาพุกาม ๑ ฉบับ ใจความขออ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นกับไทย ขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมือง พร้อมกับส่งสาวงามที่เป็นน้องภรรยามาถวาย ๑ นาง แล้วให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือมากราบทูลเป็นภาษาไทยอีก ๑ ฉบับ จัดหาพระสงฆ์ไทยได้ มหาแทน มา ๑ รูป พร้อมกับขุนนางทวาย เป็นทูตถือศุภอักษรและเครื่องบรรณาการมายังกรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เสนาบดีพิจารณาดูหนังสือที่พระราชภาคิไนยส่งมาถวาย และไต่ถามไล่เลียงกับพระมหาแทน ก็ได้ความชัดว่าเป็นพระธิดาของ พระเจ้าขุนรามณรงค์ สมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นพระเจ้าหลานเธอแน่ จึงได้ถวายไตรจีวรเครื่องสมณบริขาร แล้วโปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ นำกำลัง ๕,๐๐๐ คนไปช่วยรักษาเมืองทวาย
เมื่อถึงทวายพระยายมราชก็ส่งข่าวบอกหมายกำหนดการที่จะส่งพระองค์เจ้าชี พระราชภาคิไนยลงมาให้ถึงแม่น้ำน้อย เมืองกาญจนบุรี ขอให้ส่งเรือไปรับด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดเรือมีหลังคาติดม่านทองสำหรับพระองค์เจ้าชี และเสด็จไปประทับที่พลับพลาค่ายหลวงริมแม่น้ำน้อยรอรับ
ในวันเดียวกัน ตอนบ่าย พระองค์เจ้าชีกับพระราชาพิมลก็มาถึง พร้อมด้วยข้าไทยที่ถูกกวาดต้อนไปสมัยกรุงแตกตามเสด็จมาด้วยเป็นจำนวนมาก พระองค์เจ้าชีได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรฯบนพลับพลา ทรงไต่ถามทุกข์สุขตั้งแต่ตกไปอยู่เมืองอังวะแล้วหลบหนีออกมาอยู่เมืองทวาย พระองค์เจ้าชีเล่าถวายถึงความทุกข์ยากลำบากแล้วก็ทรงกรรแสง พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาก็กลั้นน้ำพระเนตรมิได้ รับสั่งให้พระองค์เจ้าชีลงสรง ณ ที่สรงซึ่งทำไว้ที่ชายหาดในแม่น้ำน้อย และสรงน้ำพระปริตร จากนั้นก็จัดเรือนำพระองค์เจ้าชีและข้าไทยที่ตามมานั้นล่องมากรุงเทพฯ ต่อมาก็ได้โปรดฯตั้งพระองค์เจ้าชีขึ้นเป็นเจ้าฟ้าฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง
หลังจากที่ส่งพระองค์เจ้าชีลงมากรุงเทพฯได้ ๓ วัน กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทูลลายกทัพไปเมืองทวาย เพื่อดูท่าทีว่าพระยาทวายจะสุจริตหรือคิดประการใด ทรงพิจารณาแล้วก็เห็นว่าจะรักษาเมืองทวายไว้ได้ลำบาก พระยาทวายก็ดูหลุกหลิกไว้ใจไม่ได้ ทรงดำริที่จะกวาดต้อนผู้คนมาอยู่กรุงเทพฯ และทำลายกำแพงเมืองทวายเสีย บรรดาแม่ทัพนายกองได้ทราบข่าวดังนั้นก็ฉวยโอกาสให้บ่าวไพร่ลักลอบพาหญิงชาวเมืองทวายลงมา หวังจะให้เป็นข้าใช้สอยในครัวเรือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งยังประทับอยู่ที่พลับพลาแม่น้ำน้อย และเพิ่งสะเทือนพระราชหฤทัยเรื่องพระเจ้าหลานเธอที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ทราบข่าวก็ทรงพิโรธ รับสั่งให้ทหารออกไล่จับได้ตัวหมื่นสิทธิโสมตำรวจ พาหญิงทวายมา ๒ คน จึงให้ลงพระอาญาเฆี่ยนแล้วจำคุกไว้ คนอื่นๆรู้ข่าวที่หมื่นสิทธิโสมโดนพระอาญา ก็เลยไม่มีใครกล้าลอบพาผู้หญิงทวายเข้ามาอีก