xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ขี้เมาของโกษาปานแสดงอิทธิฤทธิ์อวดพระเจ้าหลุยส์! ให้ทหารฝรั่งเศส ๕๐๐ ระดมยิง... ทหารไทย ๑๗ คน นั่งกินเหล้าเฉย!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนราชทูตไทยเข้าถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งโกษาปานไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส นอกจากจะมีข้าราชการไทยไปกันเป็นคณะใหญ่แล้ว โกษาปานยังเสาะหาอาจารย์ผู้มีวิชาทางด้านคาถาอาคมร่วมคณะไปด้วย และ อาจารย์ขี้เมาผู้นี้ก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่อพระพักตร์พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ถึงขนาดท้าให้เอาทหารฝรั่งเศส ๕๐๐ คนมาระดมยิงทหารไทย ๑๗ คนที่นั่งกินเหล้ากันอย่างไม่สะทกสะท้าน ก็ไม่มีระคายเคืองกันสักคน เรื่องนี้แม้จะเหลือเชื่อเกินกว่าคนในสมัยนี้จะรับได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องนิยายประเภทอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเชียวแหละ อ่านให้สนุกยกล้อกันไปก่อน แล้วค่อยมาฟังความว่า เรื่องเหลือเชื่อนี้ไปปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารได้อย่างไร

พระราชพงศาวดารฉบับนี้บันทึกไว้ว่า เมื่อโกษาปานรับอาสาจะไปกรุงฝรั่งเศสแล้ว

“...ให้เที่ยวหาคนดีมีวิชาได้อาจารย์คนหนึ่ง ได้เรียนในพระกรรมฐานชำนาญในกระสิณแล้วรู้วิชามาก แต่เป็นนักเลงสุรา ยอมจะไปด้วย...”

เมื่อจัดทีมเดินทางเสร็จสรรพพร้อมด้วยอาจารย์ผู้เก่งกล้าทางคาถาอาคมแล้ว คณะของราชทูตโกษาปานก็ออกเดินทางไปฝรั่งเศสโดยสำเภา

การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ครั้งแรกของอาจารย์นั้น พงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“...แล่นไปในทะเลประมาณ ๔ เดือนก็บรรลุถึงวนใหญ่ เกือบใกล้จะเข้าปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดลมใหญ่พัดสำเภากำปั่นซัดลงไปในวน เวียนอยู่ ๓ วัน ฝูงชนในกำปั่นชวนกันร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดซัดลงไปในวนใหญ่นั้นแล้ว ก็จะล่มจมไปสิ้นทุกๆลำ ซึ่งจะรอดพ้นจากวนได้นั้นมิได้มีสักลำหนึ่ง แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ก็ปรึกษากับอาจารย์ว่า กำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๒ วัน ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านแก้ไขเป็นประการใดจึงจะขึ้นพ้นจากวนได้ เราทั้งหลายจะได้รอดจากความตาย ฝ่ายอาจารย์จึงกล่าวเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าได้ตกใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยให้จงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชาจุดธูปเทียน และตัวอาจารย์นั้นก็นุ่งห่มผ้าขาว แล้วเข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสิณ สักครู่หนึ่งก็บันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ก็แล่นใบไปถึงปากน้ำเมืองฝรั่งเศส...”

ขณะเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ตรัสถามถึงการเดินทาง เมื่อได้ทรงทราบว่าเรือของคณะราชทูตไทยตกลงไปอยู่ในวังวนถึง ๓ วัน ๓ คืน แล้วขึ้นมาได้ ก็แปลกพระทัยเห็นเป็นมหัศจรรย์ ให้ล่ามซักถามเรื่องนี้กับราชทูต ซึ่งโกษาปานก็ยืนยันว่าตกลงไป ๓ วัน ๓ คืนจริง เจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมเชื่อ แต่เมื่อตรัสถามกับลูกเรือชาวฝรั่งเศสเอง ก็ได้ความตรงกัน จึงรับสั่งถามราชทูตว่าทำอย่างไรกำปั่นจึงขึ้นมาจากวังวนได้ โกษาปานก็กราบทูลด้วยฝีปากของยอดนักการทูตว่า

“ข้าพระพุทธเจ้ากระทำสัตยาธิษฐาน ขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธมิตรแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัตย์ข้อนี้เป็นที่พึ่งที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณบุญบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่พัดหวนหอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้”

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ฟังก็ทรงเป็นปลื้ม ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

อีกคราวหนึ่ง ในพิธีต้อนรับคณะราชทูต ทางฝรั่งเศสได้จัดทหารแม่นปืน ๕๐๐ คน มาแสดงให้แขกเมืองดู โดยแบ่งทหารเป็น ๒ แถวๆละ ๒๕๐ ยืนเผชิญหน้ากัน แล้วให้เล็งปืนนกสับลั่นกระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องของกันและกัน โดยมิได้พลาดแม้แต่คนเดียว

พงศาวดารกล่าวว่า

“...แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้ ในกรุงศรีอยุธยามีหรือไม่ ราชทูตได้กราบทูลว่า ทหารแม่นปืนดังนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามินับถือใช้สอย พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ฟังก็ทรงเคืองพระทัย จึงให้ซักถามราชทูตว่า พระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยนับถือทหารมีฝีมือประการใดเล่า ราชทูตให้กราบทูล พระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยทรงนับถือทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้ จะยิงไกลและยิงใกล้ก็มิได้ถูกต้องกาย และทหารบางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ตัดเอาศีรษะแม่ทัพข้าศึกมาถวายได้ หารบางจำพวกก็คงทนอาวุธต่างๆ จะยิงฟันแทงประการใดๆก็มิได้เข้า และทหารมีวิชาดังนี้จึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ใช้สอยสำหรับพระนคร”

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสตรัสว่าราชทูตไทยเจรจาอวดอ้างเกินไป และถามว่า ทหารที่มีวิชาอย่างที่ว่านี้มีติดกำปั่นมาบ้างหรือไม่ แสดงให้ดูหน่อยมิได้หรือ โกษาปานเห็นฝีมืออาจารย์ที่สำแดงอิทธิฤทธิ์เอากำปั่นขึ้นมาจากวังวนได้ จึงกราบทูลว่า ทหารที่เอามากับกำปั่นครั้งนี้เป็นเพียงแค่ทหารที่มีวิชาชั้นกลาง จะแสดงถวายให้ทอดพระเนตรก็ได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงซักว่าจะแสดงอย่างไร ราชทูตไทยจึงกราบทูลว่า

“ขอพระราชทานให้ทหารแม่นปืนทั้ง ๕๐๐ นี้ จะระดมยิงทหารของข้าพระพุทธเจ้าทั้งใกล้และไกล และทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนปืนทั้งสิ้นมิให้ถูกต้องกาย”

หลุยส์ที่ ๑๔ ได้ฟังก็ทรงเกรงว่า แสดงแบบนี้ทหารฝรั่งเศสจะยิงทหารไทยตายเสียเปล่าๆ จะทำให้เสียพระราชไมตรี จึงห้ามมิให้แสดง แต่โกษาปานก็กราบทูลว่า

“พระองค์อย่าทรงวิตกเลย ทหารของข้าพระพุทธเจ้ามีวิชาอาคม อาจห้ามกระสุนปืนมิให้ถูกต้องกายได้เป็นแน่แท้ ซึ่งจะเป็นอันตรายนั้นหามิได้ เพลาพรุ่งนี้ ขอตั้งเบญจา ๓ ชั้นในหน้าพระลาน ให้คาดเพดานผ้าขาวและปักราชวัติฉัตรธงล้อมรอบแล้ว ให้ตั้งเครื่องโภชนาหารมัจฉมังสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดู ทหารข้าพเจ้าจะสำแดงคุณวิชาให้ปรากฏเฉพาะหน้าพระที่นั่ง”

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เห็นว่าราชทูตไทยคุยเป็นมั่นเป็นเหมาะเช่นนี้ ก็อยากจะลองดี รับสั่งให้จัดเตรียมทุกอย่างตามที่ราชทูตไทยร้องขอ

ครั้นถึงเวลาเช้าตามกำหนดนัด โกษาปานก็ให้อาจารย์แต่งลูกศิษย์อีก ๑๖ คน ผูกเครื่องล้วนลงเลขยันต์คาถาศาสตราคมเสร็จแล้ว อาจารย์ขี้เมาก็นุ่งขาวใส่เสื้อคลุมขาวและพอกเกี้ยวพันผ้าขาว ศิษย์ ๑๖ คนใส่กางเกง เสื้อ หมวกปัศตูแดง รวมกันเป็น ๑๗ คน เข้าสู่หน้าที่ประทับ เมื่อกราบถวายบังคมแล้วก็ขึ้นนั่งบนเบญจา กราบทูลขอให้ทหารแม่นปืนทั้ง ๕๐๐ ระดมยิงมาที่ ๑๗ คนบนเบญจานั้นได้เลย

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เห็นว่าฝ่ายไทยพร้อม และร้องบอกมาอย่างมั่นใจเช่นนั้น จึงสั่งให้ทหารทั้ง ๕๐๐ ระดมยิงไปที่ ๑๗ คนบนแท่นพิธี

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกตอนนี้ไว้ว่า

“...ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย และคุณเลขยันต์สรรพอาคมคาถาวิชาคุ้มครองป้องกันอันตราย พลฝรั่งเศสทั้งหลายยิงปืนนกสับทั้งใกล้และไกลเป็นหลายครั้ง เพลิงศิลาปากนกไม่ติดดินดำมิได้ลั่นทั้งสิ้น ทหารทั้ง ๑๗ คนก็รับพระราชทานโภชนาหารมัจฉมังสารุราบานเป็นปกติ มิได้มีอาการสะดุ้งตกใจ พลทหารฝรั่งเศสทั้งหลายก็เกรงกลัวย่อท้อหยุดอยู่สิ้น...”

เมื่อสำแดงอิทธิฤทธิ์ต่อหน้าพระที่นั่งให้ปืนทั้ง ๕๐๐ กระบอกด้านไปหมด ประจักษ์แก่พระเนตรพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล้ว อาจารย์ขมังเวทย์ก็ร้องบอกให้ทหารฝรั่งเศสยิงอีกครั้ง

“ทีนี้เราจะให้เพลิงติดดินดำ แล้วจะให้กระสุนออกจากลำกล้องทั้งสิ้น...”

เมื่อทหารฝรั่งเศสยิงตามคำร้องท้าของอาจารย์ขี้เมาอีกครั้ง เสียงปืนทั้ง ๕๐๐ กระบอกก็ดังขึ้นพร้อมกัน แต่กระสุนพอออกจากลำกล้องก็ตกลงตรงปากกระบอกปืนบ้าง ห่างออกไปบ้าง บางกระสุนก็ไปตกที่ใกล้เบญจา แต่หาได้ถูกต้องตัวฝ่ายไทยทั้ง ๑๗ คนบนเบญจาแม้แต่นัดเดียว

พระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันได้บันทึกไว้อีกว่า

“...พระเจ้าฝรั่งเศสทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเชื่อเห็นความจริงของราชทูต ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญวิชาทหารไทยว่าประเสริฐหาผู้เสมอมิได้ สั่งให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเป็นรางวัลแก่ทหารไทยเป็นอันมาก...”

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ยังได้บันทึกไว้อีกตอนว่า

“...พระเจ้าฝรั่งเศสก็ทรงพระโสมนัสเชื่อถ้อยคำราชทูต ทรงพระการุณภาพเป็นอันมาก พระราชประสงค์จะใคร่ได้พืชพันธุ์ไว้ จึงทรงพระราชทานนางข้าหลวงให้เป็นภรรยาราชทูตคนหนึ่ง แล้วพระราชทานเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่งล้วน ประดับด้วยพลอยต่างๆ กับฉลองพระองค์ทรงองค์หนึ่ง แล้วให้เขียนรูปราชทูตและจดหมายถ้อยคำไว้ทุกประการ และราชทูตอยู่สมัครสังวาสกับด้วยภรรยา จนมีบุตรชายคนหนึ่งมีรูปร่างเหมือนบิดา อยู่ประมาณ ๓ ปีราชทูตจึงได้กราบถวายบังคมลา แล้วได้ทูลฝากบุตรภรรยาด้วย...”

เมื่อตอนที่โกษาปานเดินทางไปถึงเมืองเบรสต์ เมืองท่าทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ทางราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ส่ง มองสิเออร์ เลอกงต์ ญัง เดอ วีเซ ติดตามคณะราชทูตไทยตั้งแต่ขึ้นฝั่งจนส่งลงสำเภากลับ และบันทึกบทบาทของราชทูตไทยไว้โดยละเอียด นำออกพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๒๒๙ หลังที่โกษาปานกลับไม่นาน ในชื่อ “Voyage des Ambassadeurs de Siam en France” ซึ่งกล่าวถึงความประทับใจของคนทั้งหลายต่อความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบและมีคารมเป็นเลิศของโกษาปาน โดยเฉพาะคำกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสในวันเข้าเฝ้าเพื่อทูลลากลับนั้น เป็นที่ประทับพระราชหฤทัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นอย่างมาก ทรงรับสั่งให้จดไว้ทุกตัวอักษรแล้วพิมพ์แจกจ่ายให้อ่านกันทั่วราชสำนัก แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องอาจารย์ขี้เมาและเรื่องพระราชทานนางข้าหลวงให้ทำพันธุ์ไว้เลย ที่สำคัญระบุว่าโกษาปานไปถึงเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๒๒๙ และกลับไปเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๒๓๐ อยู่ฝรั่งเศสเพียง ๘ เดือนเศษ ไม่ใช่ ๓ ปี

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษไปถึงเซอร์จอห์น บาวริ่ง ที่เคยเป็นราชทูตอังกฤษเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๙๘ และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกันเป็นการส่วนพระองค์ ทรงขอให้หาหนังสือที่เกี่ยวกับราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาถวาย และทรงกล่าวถึงเรื่องที่โกษาปานไปฝรั่งเศสไว้เช่นกันว่า

“...คณะเอกอัครราชทูตสยามไปเจริญทางพระราชไมตรียังกรุงฝรั่งเศส เพื่อเป็นการตอบแทนในรัชกาลเดียวกันนั้น คณะเอกอัครราชทูตนี้ กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของเราคนหนึ่งได้เป็นหัวหน้า ในกรุงสยามนี้ก็มีจดหมายเหตุรายการหรือรายละเอียดแต่งขึ้นไว้ นัยว่าเป็นจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชทูตในเมื่อกลับมาจากฝรั่งเศส แต่สำนวนและข้อความไม่เป็นที่พอใจที่เราจะเชื่อได้ เพราะว่าเป็นการกล่าวเกินความจริงไปมาก กับทั้งยังขัดต่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งเรารู้ในเวลานี้ ว่าเป็นการเป็นไปที่แท้จริงแห่งโลกนั้นมาก ด้วยผู้แต่งจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชทูตสยามในครั้งนั้นคงจะคิดว่า ไม่มีใครในกรุงสยามจะได้ไปดูไปเห็นประเทศฝรั่งเศสอีกเลย”

สาเหตุของการตอกไข่ใส่พงศาวดารนี้ ก็เนื่องจากคนบันทึกในยุคนั้นคิดว่าคงไม่มีใครรู้ความจริงได้ ก็โลกมันกว้างขนาดนั้น จึงโม้ไปสุดฤทธิ์ อีกทั้งบางอย่างตัวเองก็ไม่เข้าใจ อย่างที่ทหารฝรั่งเศสยิงสลุตต้อนรับคณะราชทูตด้วยกระสุนที่มีแต่ดินดำ ไม่มีหัวกระสุน ก็เลยโม้ส่งถึงอิทธิฤทธิ์ของอาจารย์ขี้เมาไปด้วย แม้พระราชพงศาวดารฉบับนี้จะบันทึกความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ไว้ ซึ่งมีคุณค่าอย่างมากต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ก็นำเรื่องเก่าๆที่บันทึกกันไว้มารวมไว้ด้วย ให้คนรุ่นหลังพิจารณากลั่นกรองเอาเอง เพื่อให้รู้ความเป็นไปต่างๆของยุคสมัย
ขบวนแห่พระราชสาส์นหน้าพระราชวังแวซายน์
คณะทูตกับเครื่องราชบรรณาการ
ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ถวายเครื่องราชบรรณาการ
ภาพเขียนคณะราชทูตไทยในราชสำนักฝรั่งเศส
กำลังโหลดความคิดเห็น