xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ส.ค.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ “ในหลวง” พระอุระไม่อักเสบแล้ว-น้ำในพระสมองใกล้ปรกติ!

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 14 ความว่า ตามที่คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้เชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อตรวจพระวรกายอย่างละเอียดและถวายการตรวจพิเศษพระสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามผลการรักษา ผลการตรวจพบว่า ปริมาณน้ำในพระสมองเพิ่มขึ้น คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปรับระดับการระบายน้ำในพระสมองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเฝ้าติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิด ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระสมองติดตามพระอาการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่าปริมาณน้ำในพระสมองลดลงตามลำดับ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรอทเป็นครั้งคราว อีกทั้งมีพระเสมหะมาก หายพระทัยเร็วขึ้น อัตราการเต้นของพระหทัยเร็วขึ้น ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นผลสืบเนื่องจากพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบตั้งแต่ครั้งก่อน ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสพระโลหิตลดลงบ้างเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ฯ ได้ถวายกายภาพบำบัดสำหรับพระอุระ (อก) เพื่อช่วยให้การขับพระเสมหะสะดวกขึ้น พร้อมทั้งถวายพระโอสถละลายพระเสมหะร่วมกับการถวายออกซิเจนผสมอากาศเป็นระยะ

ผลการตรวจเอกซเรย์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของพระอุระ (อก) ติดตามพระอาการ ไม่พบการอักเสบ ผลการตรวจพระหทัยและการตรวจด้วยเครื่องมือตรวจคลื่นไฟฟ้า พบว่า อัตราการเต้นของพระหทัยลดลงเป็นปรกติแล้ว อัตราการหายพระทัยลดลงเกือบเป็นปรกติ ความดันพระโลหิตปรกติ ผลการตรวจพิเศษด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระสมองเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 พบว่า ปริมาณน้ำในพระสมองลดลงใกล้เคียงกับปริมาณเดิม คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานถวายกายภาพบำบัดพระอุระ (อก) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยการขับพระเสมหะต่อไปจนกว่าพระเสมหะจะลดลงเป็นปรกติ

2.สนช.มีมติไม่ถอดถอน 248 อดีต ส.ส.กรณีแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว. ด้านอดีต ส.ส.เพื่อไทย รีบแถลงขอบคุณ สนช.ที่ให้ความเป็นธรรม!

(บน) บรรยากาศการลงมติและนับคะแนนกรณีถอดถอน 248 อดีต ส.ส. (ล่าง) อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยแถลงขอบคุณ สนช.ที่ลงมติไม่ถอดถอน(14 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแถลงปิดสำนวนถอดถอนอดีต ส.ส.248 คนออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยฝ่าย ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้แถลงปิดสำนวน ขณะที่ฝ่าย 248 อดีต ส.ส. ผู้ถูกกล่าวหามีเพียงนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยมาแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา ขณะที่อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ขอแถลงปิดสำนวนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน

ทั้งนี้ นายวิชัย ตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช. แถลงปิดสำนวนว่า ความผิดของอดีต ส.ส. 248 คน คือ การใช้อำนาจหน้าที่ผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ในวาระ 1-3 ทั้งที่เป็นร่างกฎหมายคนละฉบับกับที่เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขกฎหมาย โดยร่างรัฐธรรมนูญที่อดีต ส.ส. 248 คนลงมติทั้ง 3 วาระเป็นร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานวิปรัฐบาล นำมาสับเปลี่ยนกับร่างเดิม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญใหม่ โดยเพิ่มเติมมาตรา 6 ที่ให้สมาชิกวุฒิสภาลงสมัครเป็น ส.ว. 2 สมัยได้เข้าไป จนเนื้อหาแตกต่างจากร่างเดิม ดังนั้นการที่อดีต ส.ส. 248 คน ลงมติทั้ง 3 วาระ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และว่า ที่ผ่านมา 90 ปีคนไทยรู้จักเพียงประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างเดียว ส่วนการข่มเหงเสียงข้างน้อยโดยเสียงข้างมากไม่เคยมีการพูดถึง แต่กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงแก่นแท้ของประชาธิปไตย ช่วยให้เสียงข้างน้อยมีหลักประกัน มีที่ยืน ไม่ทำให้เกิดวัฒนธรรม "ด้านได้อายอด" ของเสียงข้างมาก

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แถลงปิดสำนวนว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอดีต ส.ส. 248 คน ทำด้วยความสุจริต ไม่มีอะไรแอบแฝง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดำเนินการตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ยืนยันว่า การแก้ไขร่างกฎหมายทำได้ ตราบใดที่ประธานสภาฯ ยังไม่สั่งบรรจุร่างเข้าสู่วาระการประชุม และว่า ที่ผ่านมาเคยมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาแล้ว ซึ่งอดีตรองประธานวุฒิสภาที่ขณะนี้เป็นรองประธาน สนช. เคยไปให้ปากคำต่อ ป.ป.ช. ว่า สามารถทำได้ เรื่องนี้เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นร่างปลอม ขอยืนยันว่า มีเพียงร่างเดียวตั้งแต่วาระ 1-3

นายสามารถ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ป.ป.ช.บางคนมีอคติต่อ ส.ส. จึงได้ลงมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 248 คน ในวันเดียวกับที่ สนช.ลงมติว่า อดีต ส.ว. 38 คน ไม่มีความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ทั้งที่เป็นฐานความผิดเดียวกัน และว่า ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจอ้างรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาลงโทษพวกตน และอดีต ส.ส. 248 คนก็พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว จึงไม่มีตำแหน่งอะไรเหลือให้ถูกถอดถอนอีก จึงหวังว่า สนช.จะยึดการลงมติกรณีอดีต 38 ส.ว. มาเป็นบรรทัดฐานในการลงมติคดีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแถลงปิดคดี ประธานที่ประชุมได้นัดประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน 248 อดีต ส.ส.ในวันที่ 14 ส.ค. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ผลการลงมติปรากฏว่า อดีต ส.ส.ทั้ง 248 คนไม่ถูกถอดถอน เนื่องจากคะแนนถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 132 เสียงขึ้นไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนรู้ผลการลงมติ ปรากฏว่า อดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างไปรอลุ้นผลที่พรรคเพื่อไทย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางไปให้กำลังใจด้วย และหลังรู้ผลว่า สนช.ลงมติไม่ถอดถอน ทางอดีต ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลงขอบคุณ สนช.ที่ให้ความเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า พวกตนไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่กระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรม

3.สปช.มอบพิมพ์เขียวปฏิรูปให้รัฐบาลแล้ว เตรียมเคาะคำถามประชามติ 18 ส.ค.ด้าน กมธ.ยกร่างฯ ผุด คกก.ยุทธศาสตร์ฯ หวังแก้วิกฤตชาติ!

บรรยากาศ สปช.มอบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.(13 ส.ค.)
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้จัดงาน สปช.รายงานประชาชน เรื่อง เปลี่ยนประเทศไทยกับ สปช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้มารับมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศจาก สปช.ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เผยว่า วันที่ 18 ส.ค.นี้ สปช.จะประชุมเพื่อพิจารณาคำถามสำหรับทำประชามติควบคู่กับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีสมาชิก สปช.เสนอคำถามมาบ้างแล้ว โดยจะเลือกให้เหลือเพียงคำถามเดียว ก่อนนำไปขอมติในวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับคำถามที่ สปช.เสนอให้ถามในการทำประชามติ เบื้องต้นมี 2 คำถาม ได้แก่ คำถามที่เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิก สปช.ที่เสนอให้ถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง และคำถามที่เสนอโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เห็นด้วยกับคำถามนี้ โดยเสนอให้ถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป โดยที่ประชุม สปช.จะเลือกให้เหลือคำถามเดียวในวันที่ 18 ส.ค.นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติในประเด็นสำคัญ เช่น เรื่องที่มาของ ส.ว. โดยเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ประชุมกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติคงหลักการให้มี ส.ว.200 คน แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 123 คน มาจาก 4 กลุ่ม รวมทั้งปรับที่มาของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 4 กลุ่มใหม่ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังถูกท้วงติงว่าคณะกรรมการสรรหามีจำนวนมากเกินไปและไม่ยึดโยงกับประชาชน

นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้ข้อสรุปว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย รวมทั้งเพื่อให้การปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดองบรรลุเป้าหมายสูงสุด ให้ ส.ว.มี 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ว.จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ส่วน ส.ว.สรรหาอีก 123 คน ให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสรรหา และเมื่อ ส.ว.ชุดแรกครบวาระ ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 118 และ 119 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และไม่ตัดสิทธิ ส.ว.ชุดแรก หากจะลงสมัคร ส.ว.ชุดต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังได้บัญญัติมาตรา 260 ขึ้นมา โดยให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการไม่เกิน 22 คน นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นกรรมการได้ พร้อมกำหนดอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ว่า หาก ครม.ไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการสถานการณ์ดังกล่าว หลังจากได้ปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร โดยให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และถือเป็นที่สุด โดยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้ กำหนดให้ใช้ได้เพียง 5 ปี ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้ว่า อำนาจดังกล่าวไม่เหมือนกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะไม่มีอำนาจทางตุลาการ

4.“พล.อ.ไพบูลย์” ชง “บิ๊กตู่” ผู้เกี่ยวข้องมีมติถอดยศ “ทักษิณ” ขณะที่ “สมยศ” ปัดยื้อเวลา รอนายกฯ สั่ง ด้าน “บิ๊กตู่” ชี้ถอดยศ-ยึดคืนเครื่องราชฯ !
(บน) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม (ล่างซ้าย) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. (ล่างขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มอบหมายให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ว่ามีข้อติดขัดอย่างไร จึงทำให้การดำเนินการล่าช้า

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. พล.อ.ไพบูลย์ ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ, ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

หลังประชุม พล.อ.ไพบูลย์ แถลงว่า ที่ประชุมพิจารณาข้อกฎหมายและหลักการแล้ว มีมติว่าสามารถถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ.2547 ซึ่งกฤษฎีการะบุว่า ระเบียบดังกล่าวสามารถใช้กับบุคคลที่ยังรับราชการและอยู่นอกราชการได้ โดยกฤษฎีกาเคยตอบเรื่องนี้แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2554 ส่วนเรื่องที่สงสัยกันว่า การประกาศถอดยศจำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่นั้น สรุปว่า ไม่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องภายในราชการตำรวจ และว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยมีหนังสือถามกฤษฎีกาเกี่ยวกับการประกาศรายชื่อตำรวจในราชกิจจานุเบกษาตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ บังคับใช้ก่อนระเบียบการถอดยศ ปี 2547 โดยกฤษฎีกาตอบกลับว่า ทำได้ เพราะเป็นเรื่องภายใน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้การถอดยศตั้งแต่ปี 2547 ไปเป็นจำนวน 632 คนแล้ว โดยไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เคยมีการสอบสวนและมีมติเรื่องการถอดยศแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2552

พล.อ.ไพบูลย์ เผยด้วยว่า คณะกรรมการในที่ประชุมเห็นว่า เมื่อระเบียบว่าด้วยการถอดยศได้ใช้กับตำรวจไปแล้ว 632 นาย ทั้งตำรวจในราชการและนอกราชการ จึงไม่มีเหตุที่จะละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด และว่า หลังจากนี้ จะทำหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งการต่อไป ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ย้ำว่า คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาแค่ว่าสามารถถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่ ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)

ด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้นำข้อมูลเรื่องการถอดยศรายงานให้ ผบ.ตร.ทราบโดยตลอดว่า เข้าองค์ประกอบความผิดตามระเบียบการถอดยศทั้ง 6 ข้อ รวมถึงพฤติกรรมก็ได้เสนอไป แต่อำนาจการถอดยศเป็นดุลพินิจของ ผบ.ตร.

ด้านนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 ส.ค.เหน็บเรื่องถอดยศว่า “ถอดยศ ทักษิณ ถ้าคิดว่าทำแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองจะดีขึ้น ก็ทำไปเถอะครับ..!! รีบๆ ทำ รีบๆ ถอดซะให้เสร็จๆ จะได้เอาเวลาที่เหลือไปทำประโยชน์ ช่วยเหลือชาวบ้านที่เขายังลำบาก ยังต้องปากกัดตีนถีบ รอความหวังจากรัฐบาลกันอยู่...”

ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอดตั้งแต่ปี 2552 แต่มีการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชามาตลอดตั้งแต่ปี 2552-2557 ขณะที่ความเห็นก็แตกต่างกันตลอด โดยปี 2552-2554 เห็นว่าควรถอดยศ บางปีมองว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ปี 2555 เห็นว่าไม่ควรถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นปี 2556 มีผู้ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ถูกต้อง เห็นควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาปี 2557 และส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ให้ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล เป็นประธาน ซึ่งเห็นว่ามีความผิดตามระเบียบการถอดยศ ข้อ 1(6) เมื่อส่งเรื่องให้ตน ตนก็ส่งให้สำนักงานกำลังพล(สกพ.) ประมวลเรื่อง โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมาย และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันตั้งแต่อดีต ก่อนทำเรื่องถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นบุคคลในหรือนอกราชการ สามารถดำเนินการถอดยศได้หรือไม่ และเรื่องการถอดยศ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกา บอกว่า เรื่องประกาศในราชกิจจาฯ หรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงได้ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งได้เชิญตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปชี้แจงแล้วเมื่อวันที่ 14 ส.ค.

พล.ต.อ.สมยศ ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ได้ดึงเรื่องหรือยื้อเวลาเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ “ดูเหมือนผมยื้อ ดึงเรื่องดึงเวลา ซึ่งไม่เป็นความจริง ผมได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยตลอด แต่เมื่อบางเรื่องบางสิ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภายนอก ตนไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่เมื่อชุดของ พล.ต.อ.ไพบูลย์ ได้ข้อยุติว่าเห็นควรถอดยศ จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะประมวลเรื่องราวต่างๆ เหตุผลเสนอถึงนายกฯ จากนั้นถ้านายกฯ มีคำสั่งมาที่ตน ตนก็จะปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ภายในกรอบระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย” ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศ บอกด้วยว่า อยากให้เรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เสร็จสิ้นในยุคตน เพื่อจะได้ลบข้อครหาเรื่องเตะถ่วง หน่วงเวลา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.อ.ไพบูลย์ ได้มีหนังสือสรุปผลการประชุมพร้อมความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แล้ว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีคณะกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายยืนยันว่าถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ว่า จบแล้วไม่ใช่หรือ เดี๋ยวเขาก็เซ็นมา เมื่อถามว่า การถอดยศ ต้องพิจารณาเรื่องการคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เขาต้องทำต่อ กติกามีอยู่แล้ว กฎหมายว่าอย่างไรก็ตามนั้น เรื่องเก่ามีหรือไม่เมื่อถอดยศแล้ว ต้องเรียกคืนเครื่องราชฯ หรือเปล่า กฎหมายว่าอย่างไร สื่อไปหาข้อมูลมา แต่ผมรู้อยู่แล้ว”

5.ศาล พิพากษาจำคุก “ธาริต เพ็งดิษฐ์” 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีย้าย “พ.อ.ปิยะวัฒก์” ข้าราชการดีเอสไอไม่ชอบ!

(ซ้าย) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) (ขวา) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ดีเอสไอ
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 8 ต.ค. 2555 นายธาริต จำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ และนายชาญเชาวน์ จำเลยที่ 2 ในฐานะรองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการทำหนังสือโยกย้ายโจทก์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ซึ่งมีระดับต่ำกว่าตำแหน่งเดิม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง แต่ภายหลังโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2555 จำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์ ได้มีคำขอเสนอให้ย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษของดีเอสไอ ต่อมา นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2555 ให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงเหตุผลในการขอย้ายโจทก์เพิ่มเติมก่อนที่นายกิตติพงษ์ จะเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 19 เม.ย. 2555 ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมกลับไป โดยระบุว่าโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ และถูกร้องเรียนเรื่องการทำหน้าที่ควบคุมคดี รวมถึงมีการส่งเรื่องของโจทก์ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน ขณะที่จำเลยที่ 2 ในฐานะรองปลัดกระทรวงรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามคำสั่งย้ายโจทก์เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2555 หลังจากนั้นโจทก์ได้ยื่นร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ค.ก.พ.) ซึ่ง ค.ก.พ.วินิจฉัยว่า คำสั่งย้ายโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้น ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งย้ายโจทก์ และให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมในเวลาต่อมา

ศาลเห็นว่า แม้คำสั่งย้ายโจทก์จะเป็นคำสั่งตามปกครอง แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดของดีเอสไอ ต้องยึดหลักคุณธรรม ในการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องเป็นขวัญและกำลังใจต่อเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ การเสนอขอให้ย้ายโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่ ค.ก.พ.มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งย้ายโจทก์ไม่ชอบและไม่มีเหตุผลเพียงพอ รวมทั้งไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการแต่อย่างใด ซึ่งคำวินิจฉัยของ ค.ก.พ.มีผลให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม แม้จำเลยที่ 1 จะต่อสู้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังและมีความรอบคอบเพียงพอ มิฉะนั้นแต่ละหน่วยงานต่างก็จะวินิจฉัยหรือตีความไปตามอำเภอใจ

ขณะที่โจทก์นำสืบว่า การเสนอขอให้ย้ายโจทก์น่าจะมีมูลความขัดแย้งมาจากเรื่องการสั่งสำนวนคดีหลายคดีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะคดีแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน และโจทก์มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องที่ตกเป็นผู้ต้องหาหลายราย มูลค่าทรัพย์สินหลายล้านบาท ต่อมาผู้ต้องหาบางราย ยื่นหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้ยกเลิกการอายัดทรัพย์สิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์ และหลังจากจำเลยที่ 2 ลงนามสั่งย้ายโจทก์ไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหารายนั้น ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า ช่วงเวลาเชื่อมโยงสอดคล้องกัน เชื่อว่า การที่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์เช่นนั้น มีมูลเหตุจากความไม่พอใจหรือขัดแย้งจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่า มีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตเกี่ยวกับคำสั่งย้ายโจทก์อย่างไรบ้าง อีกทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูลเหตุขัดแย้งหรือเหตุผลอื่นใดที่จะให้ร้ายแก่กัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และยกฟ้องจำเลยที่ 2

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่ออุทธรณ์สู้คดีเป็นเงินสด 200,000 บาท ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท และไม่กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว

ด้านนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความของโจทก์ เปิดเผยว่า คดีนี้นายธาริตอุทธรณ์สู้คดี ส่วนตนในฐานะทนายความโจทก์ก็จะอุทธรณ์คดีเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าศาลลงโทษนายธาริตเพียงแค่ 2 ปี ถือว่าโทษยังเบาเกินไป เพราะความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการนั้น เป็นเรื่องร้ายแรง และตามกฎหมาย มีอัตราโทษสูงสุดถึง 10 ปี ส่วนประเด็นที่ศาลยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จะยื่นอุทธรณ์เช่นกันในประเด็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การพิจารณาต่างๆ จะต้องใช้ความรอบคอบความระมัดระวังให้มาก อีกทั้งในการสืบพยาน ก็นำหลักฐาน เช่น คำสั่งต่างๆ มาแสดงให้ศาลเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งจะขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกครั้ง แต่ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลด้วย

6.ก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์เลือก “จักรทิพย์ ชัยจินดา” เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ พบเจ้าตัวอู้ฟู่ มีทรัพย์สินนับพันล้าน!

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้นัดประชุม ก.ต.ช. แต่ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรองประธานทำหน้าที่เป็นประธาน ก.ต.ช.แทน โดยวาระสำคัญในการประชุมที่ถูกจับตามากที่สุด คือ การคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 11 ต่อจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้

สำหรับตำรวจที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ มี 5 คน คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์, พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ, พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมี 2 แคนดิเดตสำคัญที่น่าจับตามอง คือ พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์

หลังประชุม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ ก.ต.ช. เผยว่า ที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเอกฉันท์เลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่

ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีอาวุโสน้อยสุดในบรรดาแคนดิเดต ผบ.ตร.ทั้ง 5 คน โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 2563 ขณะที่ พล.ต.อ.เอก นั้น ในการคัดเลือก ผบ.ตร.เมื่อปี 2557 เคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งกับ พล.ต.อ.สมยศ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ทำให้ถูกจับตาว่ามีโอกาสในปีนี้อีก แต่ในที่สุดที่ประชุม ก.ต.ช.ก็มีมติเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตามที่ พล.ต.อ.สมยศ เสนอ

สำหรับประวัติของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เกิดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. พ.ศ.2502 จบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย,โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36) ปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรการสอบสวน (ATF-ILEA) และหลักสูตร FBI รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา รับราชการโดยเริ่มต้นจากตำแหน่งนายเวรผู้บังคับการประจำกรมตำรวจสำนักงานกำลังพล และสารวัตรแผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กองกำกับการสายตรวจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้รับฉายาจากบุคคลใกล้ชิดว่า "แป๊ะ 8 กิโล"  เนื่องจากเป็นบุคคลรูปร่างเล็ก แต่เมื่อแต่งเครื่องแบบแล้วจะพกพาอาวุธปืนขนาดต่าง ๆ พร้อมแม็กกาซีนบรรจุกระสุนและอุปกรณ์ต่างๆ ติดตัวไว้เสมอ ซึ่งรวมกันทั้งหมดมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ว่า "น.1 อีซี่พาส" เนื่องจากติดยศ “พลตำรวจโท” อย่างรวดเร็ว และเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
       
       ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ช่วงดำรงตำแหน่ง สนช. ปี 2557 ว่า มีทรัพย์สินกว่า 87 ล้านบาท ขณะที่ ดร.บุษบา ชัยจินดา ภรรยา ซึ่งเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยศรีปทุม มีทรัพย์สินกว่า 870 ล้านบาท รวมทรัพย์สินของทั้งคู่กว่า 962 ล้านบาท มีหนี้สินกว่า 6 ล้านบาท และเป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ แจ้งในส่วนของรายได้ด้วยว่า มีรายได้จาก “เงินราชการลับ” จำนวน 7.2 แสนบาท เมื่อสื่อมวลชนถามถึงเงินดังกล่าว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตอบว่า เงินราชการลับก็คือเงินราชการลับ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เป็นเงินของทางตำรวจ ซึ่ง ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น