xs
xsm
sm
md
lg

คุก 2 ปีไม่รอลงอาญา “ธาริต” สั่งย้ายอดีตข้าราชการดีเอสไอไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอาญาสั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีเอสไอโยกย้าย “พ.อ.ปิยะวัฒก์” อดีตข้าราชการดีเอสไอโดยไม่เป็นธรรม ภายหลังเจ้าตัวยื่นเงินสด 2 แสนบาทประกันตัวเพื่อสู้คดี


เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (11 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณา 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.3873/55 ที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง แต่ภายหลังโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2555 - 8 ตุลาคม 2555 ต่อเนื่องกัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ จำเลยที่ 1 ขณะนั้นในฐานะอธิบดีดีเอสไอ และจำเลยที่ 2 ในฐานะรองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการทำหนังสือโยกย้ายโจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็น ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ดีเอสไอ ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดีซึ่งมีระดับต่ำกว่าตำแหน่งเดิมอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วฟังได้โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 จำเลยที่ 1 ขณะรับราชการตำแหน่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโจทก์ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำขอเสนอให้ย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ไปดำรงตำแหน่งผู้เชียวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษของดีเอสไอ ต่อนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 ให้จำเลยที่ 1 ชี้แจงเหตุผลขอย้ายโจทก์เพิ่มเติมก่อนที่นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์จะเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน 2555 ชี้แจงเหตุเพิ่มเติมกลับไป โดยระบุว่าโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ และถูกร้องเรียนเรื่องการทำหน้าที่ควบคุมคดี รวมถึงมีการส่งเรื่องของโจทก์ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน จำเลยที่ 2 ในฐานะรองปลัดกระทรวงรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงนามคำสั่งย้ายโจทก์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 หลังจากนั้นโจทก์ยื่นร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมมีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งย้ายโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปลัดกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งย้ายโจทก์ ให้โจทก์กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมในเวลาต่อมา ศาลเห็นว่าแม้คำสั่งย้ายโจทก์จะเป็นคำสั่งตามปกครอง แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดของดีเอสไอ ต้องยึดหลักคุณธรรม ในการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องเป็นขวัญและกำลังใจต่อเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ การเสนอขอให้ย้ายโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมมีคำวินิจฉัยในเวลาต่อมา ว่าคำสั่งย้ายโจทก์ตามเหตุผลที่จำเลยที่ 1 เสนอไป เป็นการไม่ชอบและไม่มีเหตุผลเพียงพอ กับไม่ปรากฏว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการอย่างใด ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมมีผลให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 123 วรรค 3 บัญญัติไว้ แม้จำเลยที่ 1 จะต่อสู้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังและมีความรอบคอบเพียงพอในการเสนอขอให้ย้ายดังกล่าว การกล่าวอ้างระเบียบข้องบังคับตามกฎหมาย ต้องยึดหลักตามแนวทางคำวินิจฉัย ที่ถือปฏิบัติกันมา เพราะมิฉะนั้นแต่ละหน่วยงานต่างก็จะวินิจฉัยหรือตีความไปตามอำเภอใจ โจทก์นำสืบว่าการเสนอขอให้ย้ายโจทก์น่าจะมีมูลความขัดแย้งเรื่องการสั่งสำนวนคดีหลายคดีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะคดีแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน และโจทก์มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องที่ตกเป็นผู้ต้องหาหลายราย มูลค่าทรัพย์สินหลายล้านบาท ต่อมาผู้ต้องหาบางราย ยื่นหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 2 ลงนามสั่งย้ายโจทก์ไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ได้มีคำร้องยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหารายนั้น จำเลยที่ 1 นำสืบพยานต่อสู้ว่าการเสนอขอให้ย้ายโจทก์ไม่มีเจตนาจะกลั่นแกล้ง และไม่เกี่ยวกับการทำสำนวนคดี ซึ่งการเสนอขอให้ย้ายเป็นไปตามเหตุผลที่แจ้งต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีดีเอสไอ มีอำนาจสั่งสำนวนสอบสวนได้ทุกคดีอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องแทรกแซงการปฏิบัติงานของโจทก์ ทั้งคำสั่งย้ายโจทก์เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงยุติธรรม ศาลเห็นว่าช่วงระยะเวลาที่มีการเสนอขอให้ย้ายโจทก์กับการอายัดและยกเลิกการอายัดทรัพย์สินในคดีแชร์สลากกินบางรัฐบาลเชื่อมโยงสอดคล้องกัน เชื่อว่าการเสนอขอให้ย้ายโจทก์มาจากความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ แม้คำสั่งย้ายจะเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่ปลัดกระทรวงยุติธรรมต้องพิจารณาความเห็นขอให้ย้ายของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของดีเอสไอ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอขอให้ย้ายโจทก์ด้วยตนเอง การที่จำเลยที่ 1 เสนอขอให้ย้ายโจทก์เช่นนั้น และมีมูลเหตุจากความไม่พอใจหรือขัดแย้ง จากการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต เกี่ยวกับคำสั่งย้ายโจทก์อย่างไรบ้าง คงได้ความเพียงว่าขณะจำเลยที่ 2 ลงนามในคำสั่งย้ายโจทก์ จำเลยรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเดินทางไปราชการต่างประเทศ แม้จะพบความผิดปกติก่อนและขณะลงนามในคำสั่งว่าเป็นไปโดยเร่งรีบและไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่น่าจะต้องรอปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินทางกลับมาเสียก่อนก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 นำสืบพยานอ้างว่าได้ใช้ความรอบคอบตรวจสอบเอกสาร และเรียกนางสาวฉวีวรรณ แสนทวี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอัตรากำลังและกำหนดตำแหน่งรักษาราชการแทน ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอหนังสือขอให้ย้ายโจทก์เข้าไปสอบถามแล้ว นางสาวฉวีวรรณ ชี้แจงยืนยันว่ากระทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมอาวุโสอันดับ 1 และมิได้รับผิดชอบดูแลงานของดีเอสไอโดยตรง จึงไม่อาจรู้ถึงปัญหาและความขัดแย้งภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อได้รับหนังสือการเสนอขอย้ายโจทก์ประกอบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรายงานให้ทราบว่าไม่มีปัญหา สามารถลงนามได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงได้ลงนามในคำสั่งย้ายก็เป็นได้ ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูลเหตุขัดแย้งหรือเหตุผลอื่นใดที่จะให้ร้ายแก่กัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ละยกฟ้องจำเลยที่ 2

ภายหลัง นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องแล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 1 โดยตีราคาประกันจำนวน 200,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว

ด้าน พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวภายหลังศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รออาญาต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ กรณีใช้อำนาจสั่งย้ายมิชอบว่า ขอขอบคุณและชื่นชมคำพิพากษาของศาล โดยส่วนตัวนั้นมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของศาลว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้เสมอ คำวินิจฉัยว่าการย้ายข้าราชการต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกย้ายเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการ ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมนั้นจะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาย้ายข้าราชการต่อไปว่าต้องคำนึงถึงขวัญกำลังใจ และการให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการที่ถูกสั่งย้ายด้วย

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวได้รับคืนตำแหน่งกลับมาแล้ว แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ตัดสินใจเออร์ลีรีไทร์ ออกมาแล้ว เหมือนกับการเกษียณอายุราชการแล้ว เพราะมั่นใจว่าเป็นการย้ายมิชอบและไม่เคยมีการย้ายลักษณะนี้มาก่อนในกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งข้าราชการพลเรือนกระทรวงใดก็ไม่เคยมีการย้ายในลักษณะนี้ ดังนั้นตนเชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ค.ก.พ. ที่ระบุว่าเป็นการย้ายที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงตัดสินใจลาออกมาต่อสู้คดีด้วยตนเอง เพราะการที่ยังอยู่ในราชการคงจะไม่สะดวกที่จะไปฟ้องผู้บังคับบัญชา

ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ

นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า คดีนี้นายธาริตอุทธรณ์สู้คดี ส่วนตนในฐานะทนายความโจทก์ก็จะอุทธรณ์คดีเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าศาลลงโทษนายธาริตเพียงแค่ 2 ปี ซึ่งถือว่าโทษยังเบาเกินไป เพราะความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการนั้นเป็นเรื่องร้ายแรง และตามกฎหมายนั้นมีอัตราโทษสูงสุดถึง 10 ปี ทั้งนี้เพื่อจะให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าผู้บังคับบัญชาที่จะโยกย้ายข้าราชการควรจะต้องคำนึงถึงหลักคุณธรรมและจริยธรรม ปราศจากอคติและจะต้องไม่กลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนประเด็นที่ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้นก็จะยื่นอุทธรณ์เช่นเดียวกันในประเด็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การพิจารณาต่างๆ จะต้องใช้ความรอบคอบความระมัดระวังให้มาก อีกทั้งในการสืบพยานก็นำหลักฐานเช่น คำสั่งต่างๆ มาแสดงให้ศาลเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งจะขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกครั้ง แต่ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล

“เมื่อปี 2556 ท่านพ.อ.ปิยะวัฒก์ระบุว่ามิได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นจึงเข้าช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในคดีนี้เพื่อเป็นการป้องปรามและปราบปรามข้าราชการหรือผู้บังคับบัญชาในพนักงานองค์การของรัฐที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นให้เกรงกลัวต่อกฎหมาย”นายสงกานต์กล่าว

 
 



















กำลังโหลดความคิดเห็น