นครศรีธรรมราช - เปิดคำแถลงปิดคดี ทน.นครศรีธรรมราช จ่อหนาวอีกคดี หลังเอกชนฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์งานออกแบบซุ้มทางเข้าเมืองแพงหูฉี่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเตรียมพิพากษาชี้ชะตา 11 ส.ค.นี้
วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้ใช้เวลากว่า 1 ปี พิจารณาไต่สวน และสืบพยานทั้งโจทก์ และจำเลย ในคดีที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช พร้อมพวกที่ตกเป็นจำเลยในคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดลิขสิทธิ์ นับแต่ นายอนันต์ ทองสงค์ เจ้าของธุรกิจร้านกลิ่นสี ซึ่งประกอบกิจการสื่อโฆษณา และงานศิลปกรรมหลากหลายรูปแบบ และได้จดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างถูกต้อง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยมีจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งมี นายเชาว์นวัศ เสนพงศ์ เป็นผู้บริหาร เป็นจำเลยที่ 1 หจก.รัตนโกสุมภ์ เป็นจำเลยที่ 2 และนางอรพิน แจ่มดวง เป็นจำเลยที่ 3 พิจารณารับฟ้องโจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นความแพ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ตามหมายเลขคดีดำที่ 37/2557
โดยล่าสุด ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ซึ่งทนายฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเรียบร้อยแล้ว โดยสรุปความเป็นประเด็นความได้กล่าวคือ ประเด็นแรก โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ตามฟ้อง เนื่องจากเป็นผู้ทำ และก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ พยานหลักฐานที่นำสืบจึงฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งาน และจำเลยทั้งสามไม่ได้ต่อสู้ หรือคัดค้านว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งาน โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่างานลิขสิทธิ์ที่มีการฟ้องร้องในคดีเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
ประเด็นที่สอง เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานแล้วตามคำสั่ง หรือการว่าจ้างของจำเลยที่ 1 ลิขสิทธิ์ตามฟ้องจึงยังเป็นของโจทก์ หรือของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า เมื่อไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ สัญญาจึงยังไม่เกิดขึ้น เพราะตกลงในเรื่องสำคัญไม่ได้ ลิขสิทธิ์ตามฟ้องจึงยังเป็นของโจทก์ ซึ่งก่อนหน้าเคยมีคดีลิขสิทธิ์ ลักษณะข้อเท็จจริงเดียวกัน ศาลมีคำพิพากษาแล้วในคดีฎีกาที่ 3240/2543
ประเด็นที่สาม การกระทำของลูกจ้างจำเลยที่ 1 นำแบบซุ้มประตูเมืองของโจทก์ ถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และนำแบบไปเขียนอ้างว่าเป็นแบบของจำเลยที่ 1 การกระทำของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ภายใต้การควบคุม จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงต่อโจทก์
ประเด็นที่สี่ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 โดยพฤติการณ์ย่อมรู้ข้อเท็จจริงว่า แบบงานที่รับจากจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังมาทำการก่อสร้างเพื่อหากำไรจากการก่อสร้าง การกระทำของจำเลยที่ 2 และ 3 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อมตามมาตรา 31
ประเด็นที่ห้า ก่อนฟ้องโจทก์ได้ติดต่อทวงถามคัดค้านจำเลยทั้งสามแต่เพิกเฉย โดยนำแบบของโจทก์ไปหาประโยชน์โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของโจทก์
ประเด็นที่หก เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์โดยการทำซ้ำดัดแปลง เผยแพร่ จึงต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องโจทก์ในทุกประการ ค่าเสียหายต่างๆ ตามฟ้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เป็นค่าเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจริงตามฟ้องโจทก์ ขอศาลได้โปรดพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์ คำแถลงปิดคดีของฝ่ายโจทก์ ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดขึ้นจากกรณีโครงการสร้างซุ้มประตูเมืองที่ถูกติดตั้งบริเวณทางเข้าเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช 3 จุดด้วยกัน ซึ่งก่อสร้างด้วยโครงเหล็ก และปิดทับด้วยไฟเบอร์กลาสนูนต่ำ ด้วยงบประมาณที่สูงกว่า 9 ล้านบาท โดย นายอนันต์ ทองสงค์ เจ้าของธุรกิจร้านกลิ่นสี ได้ใช้ผลงานทั้ง 3 จุด ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว เป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นฟ้อง เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่มี ผศ.เชาวน์วัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เป็นผู้บริหารเป็นจำเลยที่ 1 และ หจก.แห่งหนึ่ง รวมทั้งผู้มีอำนาจลงนาม เป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ในฐานความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ และเรียกค่าเสียหายเป็นวงเงิน 9,361,007 บาท
โดยการเป็นความในกรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อกลางเดือนมกราคม 2555 โจทก์ได้รับเชิญจากจำเลยที่ 1 ให้ออกแบบซุ้มประตูเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งต้องการให้ออกแบบในเชิงสัญลักษณ์บ่งบอกลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะถูกติดตั้ง 3 จุด จะเป็นซุ้มประจำทางเข้าตัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยยืนยันว่า เมื่อออกแบบเรียบร้อยจะใช้วิธีจัดจ้างพิเศษ หลังจากนั้นโจทก์จึงเริ่มออกแบบโดยไม่ได้ลอกเลียนแบบบุคคลอื่น มีการเขียนแบบ ทำต้นแบบลายเส้น แยกตามส่วนจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้น โจทก์ได้แจ้งให้ทำการแกะแบบ หล่อ และผลิตชิ้นส่วนต่างๆ พร้อมทั้งเสนอราคาในการจัดทำ ต่อมา เมื่อมีการเสนอแล้วปรากฏว่า ไม่สามารถตกลงกันได้การจ้างยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ผลงานการออกแบบจึงยังเป็นของโจทก์อย่างสมบูรณ์
“ต่อมา ได้มีการนำผลงานไปทำซ้ำ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับความยินยอม และลงลายมือชื่อในกำกับแบบแปลน ทำให้เข้าใจว่าผลงานสร้างสรรค์เป็นของจำเลยที่ 1 และมีการหาประโยชน์ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลเข้าทำการซื้อแบบทำการก่อสร้าง โดยมีผู้ซื้อ 6 ราย ทำให้จำเลยที่ 1 มีรายได้ 6 หมื่นบาท ส่วนจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 นั้นชนะการประมูล เป็นผู้ที่ได้ทำสัญญาก่อสร้างโดยอาศัยแบบที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเกิดความเสียหายขึ้น”