xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบร่าง กม.อาญา ให้อำนาจประธานศาลฎีกา สั่งโอนคดีให้ผู้พิพากษาที่มีชำนาญเฉพาะด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กม.อาญา ให้อำนาจประธานศาลฎีกา สั่งโอนคดีให้ ผู้พิพากษาที่มีชำนาญเฉพาะด้าน หรือตามภาษากฎหมาย ทั้ง ด้านภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งศาลล้มละลาย ระบุเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

วันนี้ (28 ก.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 เกี่ยวกับการโอนคดี) โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโอนคดี

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรม ได้นำเสนอ นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจในการที่จะสั่งโอนคดี ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญของรัฐออกไปได้ เพื่อความเข้าใจในปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีบางคดี

โดยหลายคดีมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ สมควรที่จะได้รับการพิจารณาจากผู้พิพากษา ที่มีชำนาญเฉพาะด้าน หรือตามภาษากฎหมาย จะเป็นผู้มีความชำนัญพิเศษแต่ละด้าน ซึ่งปัจจุบันเรามีด้านภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการล้มละลาย

“ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือจำเลย ก็ดี ถ้าเห็นว่าคดีนั้นๆมีความเกี่ยวพันกับเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ที่ผ่านมา ต้องมีการไปยื่นเรื่องกับอธิบดีศาลฎีกา เพื่อที่จะขอโอนย้ายคดีเหล่านั้นไปสู่การพิจารณาของศาล ที่มีความชำนัญพิเศษ”

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวกและง่ายขึ้น คือ ผู้ที่เป็นโจทก์ หรือจำเลย สามารถที่จะยื่นเรื่องได้ให้กับศาลที่กำลังพิจารณาเรื่องนั้นอยู่ เพื่อที่จะขออนุญาตโอนคดีไปสู่ศาลที่มีผู้ชำนัญพิเศษเฉพาะด้าน และศาลที่กำลังพิจารณาเรื่องนั้นอยู่ก็จะทำเรื่องประกอบความคิดเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกา ซึ่งอำนาจการพิจารณาของประธานศาลฎีกา ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่าจะให้โอนคดีนั้น ไปสู่คดีที่ศาลมีความชำนัญพิเศษหรือไม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น