xs
xsm
sm
md
lg

ยอดแชมป์มวยกรง “เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค” เลือดรักในนักสู้ ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถ้าแนะนำว่าเขาคือ “ธำรง ทองใย” หรือ “เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค” เจ้าของฉายา “ไอ้ตาดุ” ก่อนหน้านี้ทุกคนอาจจะถึงขั้นงงว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ถ้าไม่ใช่คอแม่ไม้มวยไทยแบบชิดขอบเวที ทว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ชื่อของเขาก็กลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก ในฐานะแชมป์รุ่นสตรอว์เวต รุ่น 115 ปอนด์ ของ MMA (Mix Martial Art) จากสถาบัน ONE FC คนแรกของโลก

จากอดีตเด็กหนุ่มชาวตรัง เดินตามความฝันจนก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จบนเวทีมวยลุมพินีหลายสมัย จนถึงวันที่โรยราด้วยเงื่อนไขอายุ ชะตาชีวิตเหวี่ยงซัด จับพลัดจับผลูไปเป็นโค้ชครูมวยต่างชาติ ก่อนจะวกกลับมาสร้างชื่อได้อีกครั้งอย่างที่ตัวเขาเองก็ยังไม่คิดว่าจะมีวันนี้...

ก้าวแรกบนสังเวียน “มวยไทย”

ไม่ต่างไปจากนักมวยหลายต่อหลายคนที่ความปรารถนาในเรื่องค่าตอบแทนเพื่อการดำรงชีวิต เป็นแรงผลักดันแรกๆ ให้ก้าวสู่เวทีผ้าใบ และในความต้องการอย่างนั้น เดชดำรงค์ก็เริ่มทำความรู้จักกับกลิ่นนวมและลีลาหมัดมวยมาตั้งแต่ยังเยาว์

"คือเรามันลูกทุ่งอยู่แล้ว พ่อก็ชอบมวย เราก็ชอบมวย แล้วบ้านเราดีอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่เขาชกสมัครเล่น คนที่ชกต้องจ่ายตังค์ให้โปรโมเตอร์ แต่มวยไทยเรา เราชก เราได้เป็นเงิน ตั้งแต่เด็กๆ ประมาณ 10 ขวบ มันก็เลยเป็นอาชีพไปเลย

"เมื่อก่อน บ้านนอกเขาจะมีการนัดเปรียบมวย เหมือนงานวัด หรือว่างานประจำปี งานอะไรทุกอย่าง เขาจะนัดว่าใครอยากชกมวย ก็บอกต่อๆ กัน ใครอยากชกมวยก็มาวันนี้ๆ เขาก็จะมีตาชั่ง ชั่งน้ำหนัก คนโน้นก็พาลูกมา คนนี้ก็พากันมาเปรียบมวย น้ำหนักเท่ากัน ตัวเสมอกัน สูงต่ำเท่ากัน แล้วมวยใหม่เหมือนกัน คือคนไม่เคยชกเหมือนกัน ก็ชกกันได้ ส่วนคนที่เคยชกกันมาแล้ว ก็ต้องดูว่าชกกันมากี่ครั้งแล้ว แล้วนานพอที่จะชกกันได้อีกครั้งหรือไม่ ระบบก็จะเป็นแบบนั้น"

70 บาท คือราคาค่าตัวในการขึ้นไปยืนซดหมัดเป็นครั้งแรกบนเวที นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อคิดว่านั่นคือสมัยปี พ.ศ. 2531 ที่ขนงขนม อาหารการกิน ราคาหลักหน่วย

"แต่แม่ก็ห้ามนะ แต่เราก็ไปชก เพราะว่าพ่อพาไป (หัวเราะ) ก็ไปซ้อมไปชกเรื่อยๆ หลังๆ เขาห้ามไม่ไหวก็เลยไม่ห้าม ตอนนั้น ที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน มีครูท่านหนึ่งชื่อ “ประเสริฐ รักแก้ว” แกเห็นเด็กหลายคนอยากจะชกมวย ก็เลยตั้งยิมสร้างเป็นค่ายขึ้นมาชื่อ “ป.ปาหนัน” ก็ชกกันมาเรื่อยๆ เริ่มมีชื่อเสียงระดับจังหวัด ขึ้นมาระดับภาค คือเขารู้จักกันหมด ถ้าเอ่ยชื่อ “ดำรงค์ ป.ปาหนัน” ช่วงนั้น"

"จริงๆ เราจะใช้ชื่อ “ธำรงค์” ชื่อจริงของเรา แต่คนที่เขาจัดเปรียบมวย เขาได้ยินเพี้ยนเป็นดำรงค์"

แต่ไม่ว่าจะชื่อเสียงเรียงนามใด แววเพชฌฆาตในดวงดาก็ฉายแสงเปล่งกล้าขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นที่มาของฉายาในวงการมวยไทยมาตราบจนปัจจุบัน ใครเรียกขานสมัญญา “ไอ้ตาดุ” เป็นอันรู้กันว่าคือเดชดำรงค์ผู้นี้ล่ะ

"ตอนนั้นคือตระเวนชกตามสายภาคใต้หมดแล้ว จากแรกๆ เราต้องมาเปรียบมวย หลังๆ ไม่ต้องไป คือชื่อเราสามารถชกกับคนนี้ได้ เขาก็จะวัดตรงนั้น เขาก็จะมาบอกแค่ชื่อรายการให้เรา ก็ชกมาเรื่อยๆ ปิดเทอมไปซ้อมอยู่จังหวัดสตูลบ้าง จังหวัดพัทลุงบ้าง แล้วไปอยู่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาบ้าง เพราะว่าเราไม่มีคู่ชกแล้ว ถ้าเราชกที่ตรังอย่างเดียว ก็ต้องตระเวนไปอยู่ค่ายอื่นบ้าง มันก็ไปดีอีกส่วนหนึ่ง เราได้วิชามาในแต่ละที่ เพราะว่ามันไม่เหมือนกัน"

และจากการตระเวนฝึกปรือฝีมือและทักษะแม่ไม้มวยไทย ชื่อ “ดำรงค์” เฉยๆ ก็เพิ่มเติม “เดช” ตามการเติบโต กลายเป็น “ดำรงค์เดช” และนั่นทำให้เขามีโอกาสได้ขึ้นชกต่างภาคครั้งแรก ที่เวทีมวยอ้อมน้อย กรุงเทพฯ แต่กระนั้น การก้าวขึ้นสู่เมืองหลวง ก็ต้องพบเจอประสบการณ์ที่ทำให้เขากลายเป็นเช่นนกขมิ้นปีกเดาะ บินกลับแดนดินถิ่นสตออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"คือมันไม่เหมือนกันไง (หัวเราะ) ตอนนั้นก็ได้โอกาสก็มาชกเวทีมวยอ้อมน้อย มวยรอบ ก็แพ้หมด 3 ครั้ง ประสบการณ์เรายังไม่พอ ไปชกก็แพ้หมดเลย แล้วตอนนั้นโดนเข่าเข้าที่ซี่โครงเดาะ หายใจ หัวเราะ ก็เจ็บ ก็กลับไปรักษาอยู่ที่บ้านเป็นเดือน ไม่กล้าบอกใคร"

ดำรงค์เดชเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า เมื่ออาการดีขึ้น ก็กลับมาต่อยเหมือนเดิม แต่วี่แววดูแล้วไม่ค่อยเข้าที เข้าใจว่า การแข่งขันต้องมีชนะบ้าง แพ้บ้าง สลับผลัดเปลี่ยน แต่ชีวิตดูลุ่มๆ ดอนๆ ชอบกล จนมีคนมาทักว่าสาเหตุน่าจะมาจากชื่อไม่ดี

"เพราะลูกพี่เราชื่อ “เดช” แต่เราเอาชื่อเรานำหน้า คนเขาก็ทักว่าทำไมเอาชื่อลูกพี่ไว้หลัง ก็เปลี่ยนเลย กลายเป็น “เดชดำรงค์” ก็ลงล็อกที่ชื่อนี้ ก็ดีขึ้น (ยิ้ม) จากนั้นพ่อก็ส่งเราขึ้นมากรุงเทพฯ อีกครั้ง ก็เลยมีโอกาสได้มา คือที่เราขึ้นมาเพราะเราอยากเรียนด้วย แล้วชกมวยเราก็ชอบ ได้เงิน มีรายได้ ก็มาอยู่ที่ค่าย "ลูกบ้านใหญ่ ในการดูแลของป๋าโจ"

"แต่ตอนแรกๆ พอมาได้ซ้อมช่วงเดือนแรก อยากจะกลับบ้านเลย (หัวเราะ) คือเทรนเนอร์เขาอัดซ้อมเราหนักมาก เหมือนเขาต้องการลองใจเราด้วย เพราะเรามาจากบ้านนอก อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็กลับ ก็คิดหนัก ไม่ไหวแล้ว ซ้อมไปก็คิดไป แต่ก็ได้เพื่อนที่มาจากจังหวัดตรังด้วยกัน “แสงหิรัญ” “วังวิเศษ” ลูกบ้านใหญ่ ปลอบใจ ผ่านนี้ได้ก็ไม่เป็นไรแล้ว ก็ได้จริงๆ แล้วอยู่ๆ ไปสัก 4-5 ปี ก็มีโอกาสได้ชิงแชมป์เวทีลุมพินี รุ่น 105 ปอนด์ เล็กสุด"

และโอกาสที่ทำให้ได้ชิงแชมป์ก็เนื่องจากลักษณะการชกชนิดถ้า “ถอยหลังแล้วหกล้ม” นั่นเองที่ทำให้เข้าตากรรมการยอดโปรโมเตอร์

"เราเป็นมวยบู๊ไง แลก ยิ่งคู่ชกมีสีหน้าแสดงอาการเจ็บให้เห็น เราจะยิ่งรีบตะครุบเหยื่อเลย คือเวลาต่อย เราอยากให้จบเร็วที่สุด เขาเห็นฟอร์มต่อยเราทุกครั้งเป็นอย่างนั้น ก็เลยได้มีโอกาสชก จำได้ว่าชิงกับยอดแสนไกล ตอนแรกเราเจ็บขวาด้วยเทรนเนอร์ ครูโมกศักดิ์ ลูกบ้านใหญ่ เขาก็บอกว่ายังไงถอนไม่ได้ เพราะโอกาสที่เราได้ชิงแชมป์มีน้อยมาก เราก็สู้ ตอนเราซ้อมเราเจ็บหน้าแข้งขวา เราแตะไม่ได้เลย ตอนซ้อมคือขาขวาไม่ต้องแตะ เวลาซ้อมจะแตะซ้าย แทงเข่าขวา ต่อย ศอก เพื่อพยายามรักษาหน้าแข้งไม่ให้มันเจ็บ จนถึงวันชก มันเริ่มดีขึ้นเยอะ

"แต่พอขึ้นชก เจอมวยซ้าย ก็ขึ้นแตะขวาอย่างเดียวเลย (หัวเราะ) คือพอขึ้นไปต่อยแล้ว มันไม่เจ็บ เพราะเวลาเราชกมวย มันไม่มีความรู้สึกเจ็บ แผลแตกยังไงเราไม่ได้เจ็บนะ มันจะไปเจ็บตอนชกเสร็จ คือตอนนั้นอารมณ์ที่เราชก หัวใจที่เรามุ่งมั่น ถ้าเราคิดเจ็บ เราแพ้เลย"

"ถ้าแพ้ก็อาจจะต้องกลับบ้านอีกรอบ แต่พอได้แชมป์ก็อยู่ยาว คือเราคนชกมวย เรามีเป้าหมายว่าเราต้องการได้แชมป์ลุมพินี เพราะเป็นแชมป์เวทีมวยตราฐาน"
เดชดำรงค์ เล่าด้วยรอยยิ้มถึงวินาทีที่ความฝันในฐานะ “นักมวย” ก้าวแรกได้ผ่านพ้นประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจ แม้ว่าหลังจากนั้นอยู่ได้สักพักจะต้องเสียแชมป์ แต่ก็ตามทวงเอาเข็มขัดมาคืน ก่อนจะสละขยับรุ่นที่ 108 ปอนด์ ได้แชมป์อีก 1 สมัย และเพิ่มน้ำหนักไปชกได้แชมป์มวยรอบเซลลูลาร์ กับแชมป์เวทีมวยอ้อมน้อยในรุ่น 112 ปอนด์

ด้วยวัย 27-28 ปี รวมระยะเวลาบนสังเวียนมวยไทยเกือบ 20 ปี และนี่เป็นการปิดตำนานก้าวแรกสู่สังเวียนของ “ไอ้ตาดุ” จากจังหวัดตรัง หรือ "เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค" ตามชื่อหัวหน้าคณะ (นายอำนวย ศิริโชค) ยอดมวยอีกคนหนึ่งของวงการมวยไทย

ก้าวที่สองกับการเป็นโค้ช “ต่างชาติ”

หลังจากประสบความสำเร็จเก็บเกี่ยวผลงานรายทางเป็นอย่างดี เมื่อมุ่งมั่นและรักในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรืออะไรสักอย่าง ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต่อยอดหรือพาตัวเองให้อยู่ในวงโคจรนั้นๆ เรื่อยไป

"พอได้แชมป์สุดท้ายที่เวทีอ้อมน้อยแล้ว ด้วยอายุมวยเราก็เยอะขึ้น มวยไทยอายุ 27-28 นี้ก็เริ่มโรยแล้ว เด็กรุ่นใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ ความแข็งแกร่งอะไรเขาก็เยอะกว่าเรา คือเราเหมือนด่านหิน เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเจอเรา แพ้กลับไปยังทำฟอร์มใหม่ได้อีก แต่ถ้าชนะเรา เขาขึ้นไปเลย (หัวเราะ) ทีแรกก็ยืนพื้นได้อยู่ แต่ก็ตามสภาพร่างกายของคน คือคนเอเชียกับคนต่างประเทศไม่เหมือนกัน อย่างคนฝรั่งเศส อายุยิ่งเยอะเขายิ่งแกร่ง สังเกตดูได้เลย เราก็ยังงง

"ก็เลยไปต่อยอยู่แถวบ้านนอก หมื่นสองหมื่นก็เอา บางครั้งก็แอบไปชกฝั่งมาเลเซียก็มี เพราะไฟต์เราน้อยลง เดือนสองเดือนมีหนึ่งไฟต์ ขืนชกที่นี่ มันอยู่ไม่ได้ตอนนั้นก็ไม่คิดหรอกว่าจะมีโอกาสกลับมาได้อีกแล้ว

"คือชีวิตมันก็เหมือนถนน มีโทลเวย์มาบ้างแล้วก็มีทางธรรมดาบ้าง" ยอดนักมวย กล่าวเชิงรำพึง

และก็เป็นจริงดังว่า "เพชร" ก็คือ "เพชร" ต่อให้อยู่ในตมหรือจมอยู่ในปลัก ก็ยังคงแวววาว

"ต่อยๆ ไปได้สักพักเสี่ยเล็ก SKV ยิม ก็โทร.มาถามว่าอยากไปชกที่ญี่ปุ่นไหม ชก kick boxing ชกเอาค่าตัวเท่าไหร่ เราก็รีบบอกเลยว่าแล้วแต่พี่จะให้ เพราะว่าเราอยากไปชก เราอยากชกมวยอาชีพต่อ แล้วเราก็อยากจะไปเห็นบ้านเมืองเขาด้วยตอนนั้น อีกอย่างสำคัญเลยอยากเป็นครูมวยด้วย เราไปเพื่อหาโอกาสที่ญี่ปุ่น"

"ก็ไปชกที่ญี่ปุ่นเหมือนชกประทังชีวิต จำได้เลยว่าขึ้นมาชกครั้งแรก เตรียมกระเป๋าจัดเสื้อผ้าไปชุดเดียว กับกางเกงมวย (หัวเราะ) ดูเป็นมวยวัดมากกว่า ไม่ใช่มวยอาชีพ ผ้ามัดมือก็ไปได้ เราคิดว่าเขาเตรียมให้เรา แล้วเราก็คิดในใจเผื่อสิ่งที่คาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามเป้าก็กลับบ้านเลย"

"แต่พอชกชนะ เฮียชัยโตเกียวเขาก็มาติดต่อถามเราเลยว่าอยากอยู่ที่นี่ไหม ก็เข้าทางเราเลย (หัวเราะ) โอกาสมา เลยรีบบอกเลยว่าอยากอยู่ครับ เขาก็บอกว่ามียิมต้องการครูมวยไทย ให้เงินขนาดนี้ ทดลองงาน 3 เดือน ก็ไปเลยวันนั้น ก็อยู่ที่นั่นเรื่อยมา แต่เหมือนเราแอบอยู่นะ เพราะด้วยกฎหมายของเขา เราใช้วีซ่านักมวยเข้าประเทศ ชกเสร็จเราก็ต้องกลับ เราเลยต้องอยู่แต่ในยิม ก็อยู่เงียบๆ ตอนเย็นเขาพากินข้าวก็มาส่งโรงยิม นอน อยู่อย่างนั้น 3 เดือน โคตรทรมาน"

"จริงๆ ฝั่งโตเกียว ครูมวยไทยก็มีหลายคน แต่เราไม่มีโทรศัพท์ติดต่อใคร อินเทอร์เน็ตก็ไม่เป็นสักอย่าง คือต้องดิ้นรน อีกเรื่องคือเรื่องภาษา ตอนแรกก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึง ก็มึนๆ สอนยังไงวะ แรกๆ ก็อาศัยภาษาใบ้ (หัวเราะ) แล้วค่อยๆ เรียนรู้ เปิดหนังสือเป็นคำๆ กับลูกศิษย์ที่นั่น พอพ้น เขาถามว่าอยากอยู่ต่อที่นี่ไหม ก็เปิดหนังสือคุยกันนะยังพูดไม่รู้เรื่อง 365 วัน คุณจะอยู่ไหม เราก็บอกว่าอยู่ครับ เขาก็ทำวีซ่าให้"

"มองย้อนไปก็คุ้ม เพราะถ้าเราอยู่บ้าน งานเราไม่มีแล้ว พอเราได้โอกาสอยู่นั่น มันดีกับเรา เราอยู่ ทำงานก็มีเงินส่งทางบ้าน ตอนนั้นก็มีลูก 3 คนแล้ว มันเลยทำให้เรามุ่งมั่นที่จะไม่หยุด" เดชดำรงค์ กล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าให้กับชีวิตที่จากเสื้อผ้าชุดเดียวกับก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้งในฐานะ “ครูฝึก” มวยไทยในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2555 ก่อนจะย้ายมาเป็นครูสอนมวยไทยในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มเรื่องของเส้นทางแชมป์โลกที่เขาเองก็ยังไม่รู้ตัว...

ก้าวที่สามกับแชมป์ระดับโลก

"จริงๆ ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าจะมาชกมวย MMA นะ เพราะความรู้สึกก่อนหน้านั้นก็คือ เราสงสัยว่าเขาทำอะไรกัน ทำไมถึงไปนอนปล้ำ เราไม่รู้วิธีของเขา เรานี่มวยไทย ยืนชกกันเลย ทำไมต้องลงล่าง พอลงล่างแล้วมันช้า เหมือนกับคนทะเลาะกัน เมื่อก่อนคิดอย่างนั้น"

เดชดำรงค์ กล่าวขยายความเมื่อเราถามถึงความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้มาชกมวย “MMA” (Mix Martial Art) หรือ “มวยกรง” ที่บ้านเรานิยมเรียก คือกีฬาต่อสู้ที่ผสมผสานศิลปะการต่อสู้ทุกแขนงของโลก ไม่ว่าจะ ยูโด คาราเต้ เทควันโด กังฟู มวยปล้ำ มวยไทย ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี หรือ ยูยิสสู (BJJ) ของบราซิล แซมโบ้ของรัสเซีย โดยทั้งหมดทั้งมวลมีกฎกติกา ห้ามต่อยบริเวณท้ายทอยและกระดูกสันหลัง ห้ามกระทืบใบหน้าคู่ต่อสู้ที่ล้มลงนอน มีการนับคะแนนจากท่วงท่าที่เราใช้ เป็นต้น และยังมีสถาบันรองรับคือ ONE FC กับ UFC ไม่ได้เป็นการชกป่าเถื่อนเหมือนอย่างในภาพยนตร์ที่เล่นกันถึงขั้นเสียชีวิต

"คือหลังจากบินกลับมาจากโตเกียว เพราะว่าคุณพ่อไม่สบาย เราก็ไม่อยากจะกลับไป เพราะมันไกลครอบครัว บังเอิญก็มีโอกาสได้ไปเป็นครูสอนมวยที่สิงคโปร์ เราก็ไป สอนได้ 6 เดือน เราเห็นพวกเพื่อนๆ ชาวบราซิลที่เป็นครูด้วยกันเขาสอนพวกยูยิสสู (BJJ) และฝึกซ้อม MMA มันเป็นศิลปะของเขา ไม่ใช่อย่างที่เราคิด เราก็เลยอยากจะลองชกกับเขาบ้าง ก็เลยหัดซ้อม ครั้งแรกก็รู้ซึ้งเลยว่ามันไม่ง่าย เพราะใหม่ๆ เราพลิกไปไหนก็โดนล็อกๆ ไปไหนไม่ได้เลย (หัวเราะ)

"มันไม่ง่ายเหมือนที่เรามอง คือเรามองมันไม่ง่ายใช่ไหม แต่เอาเข้าจริง อย่างเราป้องกันตัวแล้วไม่ให้เขาล็อกมือ เผลอแป๊บเดียว จากที่เขาจะล็อกมือเรา เขาไปล็อกคอเราแทน แล้วถ้าเราไปป้องกันคอกับมือ เขาก็ใช้ขามาพาดคอล็อกเราอีก คือมันพลิกแพลงได้ตลอดเวลา"

"เรามีมวยไทยเป็นพื้นฐานแล้ว เราก็อยากเรียนวิธีล็อก วิธีป้องกันตัวแบบกระชั้นชิด มวยไทยเรายืนระยะห่าง แต่บางครั้ง พอมันกระชั้นชิดหรือการที่เราตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบ อย่างด้านล่างเป็นต้น แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เปรียบกว่าเขาอีกทีหนึ่ง"

"มันต้องใช้ความคิด สติ ต่อเนื่องตลอดเวลา"
และเมื่อจับจุดได้รู้เส้นทางที่ชอบบวกกับความท้าทายที่ใช่ จึงเดินหน้าขยันหมั่นเพียรฝึกซ้อม แลกเปลี่ยนศิลปะจนร่างกายเข้าที่เข้าทาง ก็ได้ขึ้นชกในระยะเวลาเพียงไม่นานปี

"ก็ซ้อมอยู่ 5-6 เดือน ซ้อมหนัก ซ้อมพร้อมสอน เช้า 2 คลาส เย็น 2 คลาส ควบคุมจนร่างกายเข้าที่ ทั้งอาหารและน้ำหนัก เราก็คิดว่าเราน่าจะชกได้แล้ว ทางที่นั่นเขาก็เห็นว่าเรามีพัฒนาการก็เลยมีโอกาสขึ้นชกครั้งแรก วันที่ 14 มิถุนายนปีที่ผ่านมา ก็เจอกับ โจมานส์ โอมานส์ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เราก็รู้มาว่าคู่ชกเป็นมวยสากล มวยสากลคือตามศัพท์มวยไทย มวยสากลเขาจ้องมาหมัด เตะน้อย เราเลยเลือกเล่นขาเขาก่อน คือเล่นเตะขาเพื่อให้คู่ต่อสู้เจ็บ เพราะพอเขาเจ็บขา การทรงตัวมันจะไม่เหมือนเดิม

"ทีนี้พอเขารู้อย่างนั้น เขาก็จ้องที่จะมาเทกดาวน์ คือเขารู้ว่าเราเตะขา เขาก็ยอมให้เตะ เพื่อที่จะจับขาเราไถให้เราล้ม พวก MMA ที่เก่งๆ พื้น เขายอมให้เตะเลยแล้วดักจับไถ เพื่อให้เราล้ม เขาเทกดาวน์เราได้ครั้งแรก เขาอยู่บนเราอยู่ล่าง เราก็พยายามทำอย่างไรให้เขาทำอะไรเราไม่ได้ คือครั้งแรกก็ยังไม่ดิ้นอะไรเยอะ เพราะเรายังไม่คุ้น ก็ได้แต่ป้องกันตัว พอคู่ต่อสู้ทำอะไรกันไม่ได้กรรมการเขาก็จะมีการแยกขึ้น เราก็ได้โอกาส ก็ชนะด้วยเข่าในยกแรก"

หลังจากนั้นก็ชนะน็อกทุกครั้ง เริ่มจากไฟต์ที่ 2 ก็จบที่ยกแรก ด้วยการใช้ท่าซับมิชชันลูกอาร์มบาร์ล็อกคู่ชกชาวมาเลเซียที่ประเทศดูไบ ไฟต์ที่ 3 กับนักชกชาติเดียวกัน ก็ชนะอีก ไฟต์ที่ 4 ชกที่กรุงมะนิลากับนักชกชาวฟิลิปปินส์ จบด้วยการแทงเข่าตั้งแต่ยกที่หนึ่ง นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ฟอร์มสไตล์การชก "ถอยหลังหกล้ม" เข้าตาโปรโมเตอร์ ถึงขนาดจัดแมตช์ชิงแชมป์รุ่นสตรอว์เวต (Strawweight) 115 ปอนด์ รุ่นเล็กสุดขึ้นครั้งแรกโดยเฉพาะ

"คือ 4 ครั้งแรกที่ชก เราชกรุ่นไลต์ฟลายเวต (Light flyweight) คือมันจะเป็นรุ่นน้ำหนักประมาณ 56 กิโลกรัม กับอีก 7 ขีด พอมีรุ่นสตรอว์เวตมันจะมีน้ำหนัก 52 กิโลกรัม เราก็ทำได้ แต่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะได้ชิงแชมป์รู้แต่ว่าอยากชกรุ่นนี้ ได้โอกาสก็ทาง ONE FC (ONE Fighting Championship) เห็นฟอร์มเราดีทุกครั้ง คนเล่นติดตาม ฝั่งเมืองนอกเขาชอบสไตล์มวยไทยชก ก็เลยมีโอกาสได้ชิงแชมป์ ก็ซ้อมมาได้อีกสักประมาณ 5-6 เดือน"

"ก็ครบรอบหนึ่งปีพอดี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เราเริ่มรู้จักเข้าวงการมวย MMA วันที่ชิงแชมป์กับนักชกชาวฟิลิปปินส์ที่ประเทศสิงคโปร์"
เดชดำรงค์ เผยด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า

"ก็รู้สึกภูมิใจ ถือว่าประสบความสำเร็จ ก็จะพยายามรักษาแชมป์ไว้เพราะเราเป็นมวยไทยด้วย เรายิ่งรักษาแชมป์ไว้นาน ก็เหมือนเราได้ช่วยสืบทอดอนุรักษ์ศิลปะบ้านเรา”

บทส่งท้ายของชายชาตินักสู้

แม้ว่าบทสรุปของความสำเร็จยังคงไม่จบสิ้น แต่ทว่าสิ่งที่หายสงสัยคือความใคร่รู้ในมวย MMA ศิลปะการต่อสู้ผสมผสาน และเรื่องราวของชีวิตคนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความภาคภูมิใจในฐานะ “นักสู้” บนสังเวียน แต่ "เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค" ยังคืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของลูกผู้ชายไทย เป็น “นักสู้” นอกสังเวียน ที่ควรค่าแก่การชื่นชม

"คือเรามีระเบียบของเราเวลาซ้อม เวลาชก เพราะถ้าเขามีรายการให้เราชก แต่เรายังไม่คิดจะอยู่ในระเบียบร่างกายเราก็ไม่พร้อม แล้วไอ้ตัวที่เราไม่เหนือกว่าเขาเนี่ย เราต้องเอาตัวนี้มาให้ได้ อย่างมวยไทยเรามีอยู่แล้ว เรามีพื้นแข็งอยู่แล้วของเรา แต่ลงพื้นเป็นจุดอ่อนของเรา เราคิดว่าจุดอ่อนของเรา จุดด้อยของเรา อ่อนสุด เราก็ต้องพยายามให้มันขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองให้ได้

“คือถ้าเราคิดว่าเรามีข้อดีหนึ่งข้อแล้ว เราพอแล้ว มันก็จะฆ่าเราตอนหลัง เหมือนเราประมาท เราถึงพยายามให้มันดีที่สุด ถึงเราทำมันดีขนาดไหน ยังต้องให้ดี ดีกว่านี้อีก เพราะว่าทั้งมวยไทยและรูปแบบการกีฬาทุกอย่างการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด

"รวมไปถึงชีวิตด้วย คือมันไม่สิ้นสุด เราอยู่ทุกวัน บางครั้งเราไม่รู้ว่าเราได้เรียนรู้จากมันอย่างไรบ้าง มันเข้ามาเอง บางครั้งมันเข้ามาแบบเราไม่รู้ตัว เหมือนพวกกีฬาเป็นศาสตร์ บางครั้งกูเป็นมวยไทยแล้ว พอแล้ว มวยไทยเนี่ย เราก็ไม่ได้ที่สุด แต่ละคนความแตกต่างมันไม่เหมือนกัน

“เหมือนขึ้นไปชกคนนี้เก่งหมัด คนนี้เก่งเข่า คนนี้ศอก เก่งศอกขวา ศอกอะไร เราทำได้ไหมศอก เราทำได้ แต่เราทำได้เหมือนเขาไหม ไม่เหมือน อย่างคนแตะก้านคอเก่งๆ คนไหนแตะเก่งๆ เผลอๆ เตะก้านคอแล้ว แต่เราจะทำเหมือนเขาไหม ไม่เหมือน

“แต่เราก็มีจุดเด่นอย่างน้อยหนึ่งอย่างแน่นอนที่เขาไม่มี”







เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย

กำลังโหลดความคิดเห็น