xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.วอน ปชช.อย่ารื้อคันริมคลองประปา ชี้สารพิษปะปนจะยิ่งวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศปภ.อ้างเตรียมย้ายที่ทำการไว้ล่วงหน้าแล้ว 2-3 สัปดาห์ แต่ที่ยังไม่ย้ายเพราะต้องเร่งอพยพประชาชนก่อน เผยโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวันได้แล้ว ยันเร่งแก้ปัญหาโรงผลิตน้ำประปาบางเขน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ชาวบ้านพังคันประมาณ 10 เมตร พร้อมวอนอย่ารื้อกระสอบทราย เพราะหากสารพิษปะปนในน้ำประปาจะยิ่งวิกฤต


วันนี้ (29 ต.ค.) เมื่อเวลา 21.00 น. ศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ ทำหน้าที่โฆษก ศปภ. แถลงข่าว ชี้แจงการย้ายที่ทำการ ศปภ.ว่า ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ว่าจะย้ายออกจากดอนเมือง แต่เหตุที่ยังไม่ย้าย เพราะต้องเร่งอพยพประชาชนที่อพยพมาพัก ออกไปที่อาคารของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากสถานการณ์น้ำได้ท่วมสูงและขยายวงกว้าง ก่อนขยายพื้นที่เป็นวงกว้างในฝั่งตะวันออก ครอบคลุมเขตดอนเมือง บางเขน และสายไหม ส่วนฝั่งตะวันตก เขตทวีวัฒนา น้ำท่วมเต็มพื้นที่เช่นกัน การจราจรบนถนนบรมราชชนนี เป็นไปอย่างยากลำบาก เขตบางพลัด น้ำท่วมขังจำนวนมาก น้ำเต็มอุโมงค์แล้ว แต่โชคดีที่น้ำทะเลวันนี้หนุนไม่สูงตามที่คาดไว้ ทำให้น้ำที่เอ่อล้น ลดน้อยลงจากวันก่อน

พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ทุกภาคส่วนกำลังเร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออก ซึ่งหลังจากมีการตัดถนนที่คลอง 9 ทำให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น และกำลังเร่งติดตั้งไซฟ่อนน้ำ เพื่อผันน้ำจากทุ่งรังสิตสู่คลองหกวาล่าง ออกคลองแสนแสบ ส่งต่อไปยัง แม่น้ำบางปะกง และออกสู่อ่าวไทยต่อไป

นอกจากนี้ ศปภ.ยังชี้แจงข่าวดี เกี่ยวกับเรื่องการผลิตน้ำประปาของโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ที่ได้รับผลกระทบ จนต้องลดกำลังการผลิตลง เหลือแค่ 4 แสนลูกบาศก์เมตร เมื่อช่วงเช้าว่า สามารถกอบกู้ให้เพิ่มอัตราการผลิตเป็น 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวันแล้ว รวมถึงจะพยายามแก้ปัญหาที่โรงผลิตน้ำประปาบางเขน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกรณีที่ชาวบ้านพังคันดิน ประมาณ 10 เมตร ที่ ต.หลักหก ในวันพรุ่งนี้

ด้าน นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ศปภ.อยากขอความร่วมมือจากประชาชนริมคลองประปา อย่ารื้อหรือพังกระสอบทราย เพราะจะทำให้น้ำท่วมซึ่งไหลผ่านมาหลายนิคมอุตสาหกรรมที่อาจปนเปื้อนสารพิษอันตราย และหากน้ำประปาปนสารพิษทางการประปาอาจต้องปิดการให้บริการซึ่งจะทำให้คน กทม.ไม่มีน้ำใช้ย่อมสร้างวิกฤตเพิ่มอีก ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

สำหรับสาเหตุที่ประชาชนรื้อคันกั้นน้ำเพราะคิดว่าหากรื้อออกแล้วจะทำให้ระดับน้ำลดลง แต่ไม่ได้ผล แต่กลับสร้างผลกระทบใหม่คือสารพิษที่อาจตกค้างในน้ำประปาแทน ทั้งนี้หากน้ำท่วม กทม.สูง 3 เมตรทาง รฟม.จึงจะปิดระบบการเดินรถ แต่หากน้ำท่วมบางจุดอาจมีการปิดเฉพาะบางสถานีเท่านั้นไม่จำเป็นต้องปิดให้บริการทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น