xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ก.ย.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “เฉลิม” ยกสารพัด กม.อ้าง ขออภัยโทษ “ทักษิณ” ได้ ไม่ต้องติดคุก ขณะที่ “อภิวันท์” จี้ ศาลฎีกาฯ รื้อคดีซื้อที่รัชดาฯ ด้านสภาทนายฯ ชี้ ต้องมีหลักฐานใหม่!

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาทวงถามความคืบหน้าเรื่องการถวาย ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีซื้อที่รัชดาฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงเคยเข้าชื่อกว่า 3 ล้านรายชื่อยื่นถวายฎีกาสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า เรื่องนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รายงานว่า ได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย และมีการประสานเพื่อให้ยืนยันเจตนาที่จะถวายฎีกา หากยืนยันแล้ว หน่วยงานจะทำตามกระบวนการเหมือนกรณีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ชี้ว่า “โดยหลักเกณฑ์ในอดีตที่ผ่านมา อย่างสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน คนที่หลบหนีคดี ความเห็นของฝ่ายบริหารคือ ไม่ควรอภัยโทษ ฉะนั้นควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนไทยทุกคน เห็นพรรคการเมืองบางพรรคชอบพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน ก็ควรจะมีมาตรฐานเดียวสำหรับคนไทยทุกคน อย่ามีมาตรฐานสำหรับพวกพ้องตัวเองเท่านั้น” นายอภิสิทธิ์ ยังเตือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า การดำเนินการเรื่องฎีกาดังกล่าว ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่พี่น้องใคร
        
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รีบออกมายืนยันว่า ไม่ได้มีการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน พร้อมย้ำว่า เรื่องฎีกาขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมีเท่าที่แถลงต่อรัฐสภาเท่านั้น
        
ขณะที่นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ รีบออกมาบอกว่า ตนเคยร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้วในการรวบรวมรายชื่อครั้งก่อน แต่ถ้าจะให้ตนลงชื่อใหม่อีกครั้งหรือขาดเอกสารหลักฐานอะไรก็พร้อมที่จะส่ง ข้อมูลไปยังกระทรวงยุติธรรม
        
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปรามพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ควรออกมาพูดเรื่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนดูแลเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาตนเซ็นเอกสารไปหลายเรื่องแล้ว ใครขอพระราชทานอภัยโทษ ก็นำความกราบบังคมทูลฯ เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ตนก็รับสนองพระบรมราชโองการ ถ้านายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์อยากรู้ขั้นตอน ให้ยื่นกระทู้สดมา ตนจะสวมวิญญาณอาจารย์กฎหมายอธิบายให้เข้าใจ
        
เป็นที่น่าสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้ให้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจกจ่ายเอกสารแก่สื่อมวลชน โดยเป็นเอกสารที่เขียนถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษว่ามี กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 191 ซึ่งระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 259-267 เกี่ยวกับผู้ที่สามารถทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวหรือถวายฎีกา ได้แก่ 1.ผู้ต้องโทษคำพิพากษา 2.ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ และ 3.คณะรัฐมนตรี
        
เอกสารที่ ร.ต.อ.เฉลิมให้แจก ยังระบุด้วยว่า ไม่มีกฎหมายใดห้ามผู้หลบหนีคดีตามคำพิพากษาศาลยื่นถวายฎีกา และไม่มีกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขว่าต้องถูกจำคุกจริงๆ นานเท่าใดจึงจะถวายฎีกาได้ รวมทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะอภัยโทษในกรณี ใดบ้าง หรือคดีประเภทใดอภัยโทษได้/ไม่ได้ “เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การแปลกฎหมายว่า ผู้หลบหนีจะต้องมามอบตัวและรับโทษจำคุกเสียก่อน จึงขออภัยโทษได้นั้น เป็นการแปลกฎหมายตามความคิดเห็นส่วนตัว หรือเป็นการเข้าใจเอาเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้”
        
ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ความเห็นจากกรมราชทัณฑ์เรื่องการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หากได้รับเมื่อใด จะตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญทั้งด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ขึ้นมาพิจารณา พล.ต.อ.ประชา ยังส่งสัญญาณด้วยว่า โดยหลักปฏิบัติแล้ว ไม่มีใครสามารถยับยั้งการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้
        
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.ประชา ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาจำนวน 10 คนเพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงการเข้าชื่อถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลายคนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย เช่น ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ว่าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงาน ถือว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายประจวบ ไชยสาส์น นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง บิดานายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทย ส่วนคณะทำงาน ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ในตุลาการเสียงข้างมากในคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น เมื่อปี 2544 ที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิด และนายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน โดยมีข่าวว่าถูกเสนอชื่อเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคนใหม่แทน ดร.อำพน กิตติอำพน
        
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปรามรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงว่า เป็นเรื่องไม่สมควรและผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่จะยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะคนที่จะได้รับอภัยโทษต้องเป็นผู้ต้องโทษและรับโทษอยู่ ขณะที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้เครือข่ายพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อ แดงยุติการกระทำที่จาบจ้วงละเมิดพระราชอำนาจ เพราะสำนักพระราชวังได้ระบุแล้วว่า การจะอภัยโทษบุคคลทำได้ใน 2 กรณี คือ เสียชีวิตหรือติดคุกเท่านั้น ดังนั้นถ้า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการได้รับการอภัยโทษ จะต้องทำ 2 กรณีดังกล่าว
        
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงรัฐบาล โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาการันตีว่า กลุ่มคนเสื้อแดงสามารถยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ โดย พ.ต.ท.ทักษิณไม่จำเป็นต้องติดคุกก่อน แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเปิดประเด็นใหม่ ด้วยการอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำอะไรผิดในคดีซื้อที่รัชดาฯ เพราะการที่ศาลแพ่งตัดสินให้สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ เท่ากับว่าการซื้อขายที่ดินไม่เคยเกิดขึ้น และต้องกลับไปสู่จุดเดิม ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
        
ขณะที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ออกมาจี้ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรื้อคดีซื้อ ที่รัชดาฯ ขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยอ้างคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ตัดสินให้การซื้อขายที่ดิน ดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงเท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำสัญญาใดใดกับรัฐทั้งสิ้น
        
อย่างไรก็ตาม นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาให้ความกระจ่างต่อสังคมว่า การจะรื้อฟื้นคดีอาญา ต้องมีพยานหลักฐานใหม่และพยานหลักฐานนั้นต้องมีผลพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่เคยถูก พิจารณา ไม่มีความผิด ส่วนที่มีการอ้างคำพิพากษาของศาลแพ่งว่าตัดสินให้สัญญาเป็นโมฆะแล้วนั้น นายเจษฎา บอกว่า ต้องย้อนดูด้วยว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งเป็นเรื่องที่มีการพิจารณาต่อเนื่อง จากคดีอาญาที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100 กรณีลงนามในเอกสารยินยอมให้คู่สมรสทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้กำกับดูแล การทำสัญญาซื้อขายจึงไม่ชอบเพราะเป็นประโยชน์ทับซ้อน ต่อมาจึงต้องมีการดำเนินการทางแพ่งเพื่อให้เกิดการเพิกถอนการทำสัญญาที่ไม่ ชอบนั้น ศาลแพ่งจึงตัดสินว่าสัญญาเป็นโมฆะ การพิจารณาของศาลแพ่งจึงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกับคดีอาญา จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่

2. รัฐบาล เด้ง “ถวิล” พ้นเลขาฯ สมช.แล้ว ขณะที่เจ้าตัวผิดหวังนายกฯ เตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.พ.ค. 12 ก.ย.นี้!
นายถวิล เปลี่ยนศรี เปิดแถลงหลัง ครม.มีมติโยกพ้นเลขาธิการ สมช.ไปนั่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ(7 ก.ย.)
หลังรัฐบาลมีแผนจะโยก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พ้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เพื่อดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน แต่เมื่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า การจะโยกย้าย ผบ.ตร. ต้องให้เจ้าตัวสมัครใจ ประกอบกับ พล.ต.อ.วิเชียร บอกว่า ถ้าจะย้ายตน ต้องให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม กระทั่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจ ออกมาบอกว่าจะให้ พล.ต.อ.วิเชียร ย้ายไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แทนนายถวิล เปลี่ยนศรี และอาจจะย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่นายถวิล ได้ออกมาตัดพ้อว่า ตนทำงานที่ สมช.ด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี หากถูกโยกโดยไม่เป็นธรรม ตนจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ. ค.)นั้น

ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาบอกว่า จะหาเวลาคุยกับนายถวิล แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์เปลี่ยนใจ โดยให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สมช.ไปคุยกับนายถวิลแทน ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.โกวิทได้หารือกับนายถวิล แต่ไม่ยอมเผยผลหารือแต่อย่างใด ขณะที่นายถวิล บอกว่า “ถ้าผมไปนั่งในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับความรู้ความสามารถ เท่ากับว่าไปนั่งตบยุงอยู่เฉยๆ นั่งกินเงินเดือนเปล่าๆ คงไม่มีประโยชน์อะไร”

วันเดียวกัน(5 ก.ย.) นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบ พล.ต.อ.โกวิท เพื่อนำคำสั่งโยกย้ายนายถวิล ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ มาให้ พล.ต.อ.โกวิท ลงนาม เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 6 ก.ย.

ด้าน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา(สบ 10) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) บอกว่า “หากผลประชุม ครม.ในวันที่ 6 ก.ย. ไม่มีปัญหา และตามข่าวหาก พล.ต.อ.วิเชียรลาพักผ่อน โดยมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์รักษาราชการแทน คาดว่าจะนัดประชุม ก.ต.ช.และบรรจุวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นวาระเพื่อพิจารณาได้ในสัปดาห์ถัดไปในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 ก.ย.”

ซึ่งในที่สุดก็เป็นไปตามคาด โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ได้ให้ความเห็นชอบโยกย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้า ราชการประจำ ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า เมื่อย้ายนายถวิลมาช่วยงานแล้ว เร็วๆ นี้จะต้องมอบหมายงานให้ จากนั้นจะพิจารณาผู้มาทำหน้าที่ต่อเลย

ขณะที่นายถวิล เมื่อรู้ผล ครม.ว่าตนถูกย้าย ได้เปิดแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้น(7 ก.ย.) โดยชี้ว่า กระบวนการย้ายตนให้พ้นตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายการเมืองบางคนมีอคติและลุแก่อำนาจ “ท่วงทำนองเป็นไปอย่างเยาะเย้ยถากถางต่อผม ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผมนั้น ก็ไม่ได้ออกมาปกป้องหรือดูแลผมแต่อย่างใด ทั้งที่ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ ซึ่งผมรู้สึกเสียใจ” นายถวิล เผยด้วยว่า ได้เตรียมใช้สิทธิของตัวเองด้วยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบ คุณธรรมภายใน 30 วันตามที่ระเบียบกำหนด โดยจะร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี “แต่นั่นเป็นระเบียบกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือกฎแห่งกรรม กฎธรรมชาติ ที่ทุกคนต้องได้รับทั้งนั้น ท่านต้องต่อสู้ ผมเองต้องต่อสู้ ท่านที่รังแกผมก็ต้องต่อสู้กับความเที่ยงแท้แน่นอนของกฎแห่งกรรมและกฎ ธรรมชาติ”

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่นายถวิลระบุนายกฯ ไม่ให้ความเป็นธรรมว่า ยังต้องการนายถวิลมาช่วยงาน เพราะถือว่าเป็นคนมีประสบการณ์ด้านงานความมั่นคงอยู่ โดยจะมาช่วยงาน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่หวั่นหากนายถวิลจะฟ้อง โดยบอกว่า สามารถอธิบายได้ เพราะการย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ มีเงินประจำตำแหน่ง โดยรัฐบาลจะมอบหมายงานที่เหมาะสมให้ทำ “ผมพูดตามตรง ถ้าศาลเรียกไปให้การ ผมก็ให้การ แล้วผมก็ยังบอกว่า ถ้าผมเป็นคุณถวิลจะทำเรื่องขอย้ายตัวเอง หากนายถวิลคิดจะเอาคำพูดของผมไปฟ้องร้องก็ให้ดูข้อเท็จจริงการย้าย... สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ยังได้เหมือนเดิม...”

ทั้งนี้ หลัง ครม.เห็นชอบให้นายถวิลย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ นายถวิลได้เข้ารายงานตัวต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.ย. พร้อมขอลาพักร้อนเป็นเวลา 7 วัน และคาดว่าจะยื่นร้องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในวันที่ 12 ก.ย.นี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายถวิลถูกเด้งพ้นเลขาธิการ สมช. ปรากฏว่า ข้าราชการ สมช.ได้ทำหนังสือถึงสื่อมวลชนโดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ พร้อมชี้ให้เห็นว่า การย้ายเลขาธิการ สมช.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ สมช. เพราะที่ผ่านมาแม้จะเคยมีการย้ายเลขาธิการ สมช. และรองเลขาธิการ สมช.ไปประจำตำแหน่งอื่น แต่บุคคลเหล่านั้นเป็นคนภายนอกที่เข้ามารับตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายถวิลจึงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและขวัญกำลังใจของข้าราชการ สมช.ทุกคน ข้าราชการ สมช.ยังดักคอนายกรัฐมนตรีด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรียึดหลักคุณธรรมตามที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนจริง ไม่ควรตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นเลขาธิการ สมช.คนใหม่

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การโยกย้ายนายถวิลไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่นายถวิลเป็นผู้มีความสามารถ จึงอยากให้เข้ามาแนะนำเรื่องความมั่นคง ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้าราชการ สมช.ต้องการให้คนภายในขึ้นมาเป็นเลขาธิการ สมช.แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบเหมือนไม่รับลูกว่า “ไม่หรอก เราจะพิจารณาให้ดีและได้บุคคลที่เหมาะสม ครั้งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนงานตามปกติ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากรัฐบาลจะโยกย้ายนายถวิล เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. และให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มานั่งเลขาธิการ สมช.แทนนายถวิลแล้ว รัฐบาลยังได้โยกย้ายข้าราชการอีกหลายกระทรวงหลายกรม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลที่ใกล้ชิดตระกูลชินวัตรต่างได้ดิบได้ดีกันหลายคน เช่น นางเบญจา หลุยเจริญ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานของกรมสรรพากรที่ระบุว่าการซื้อขายหุ้นของตระกูลชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษี ได้มานั่งตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต ขณะที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยถูกฟ้องในคดีหวยบนดินได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเป็น 1 ในกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการโยกนายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง แล้วให้นายดำรงค์ พิเดช รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ มาเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ แทน ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า นายดำรงค์เป็นคนสนิทนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ สมัยรัฐบาลทักษิณ และเคยเคลื่อนไหวต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


3. วุฒิสภา เลือก 11 อรหันต์ กสทช.แล้ว ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่กล้านำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หลังดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ อ้าง กระบวนการสรรหาไม่ชอบ!
บรรยากาศขณะสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเลือก 11 กสทช.(5 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ได้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จาก 44 คน ให้เหลือ 11 คน ทั้งนี้ ก่อนเปิดให้ลงคะแนน ส.ว.หลายคนได้ถามประธานวุฒิสภาว่า สามารถถือโพยเข้าคูหาลงคะแนนได้หรือไม่ ซึ่งประธานวุฒิสภา วินิจฉัยว่าไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้ หลังใช้เวลาลงคะแนนและนับคะแนนกว่า 4 ชั่วโมง ปรากฏว่า ผู้ได้รับเลือกเป็น 11 กสทช.ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประกอบด้วย

ด้านกิจการกระจายเสียง 1 คน คือ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณณศรี ได้ 73 คะแนน ,ด้านกิจการโทรคมนาคม 2 คน คือ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ได้ 118 คะแนน และ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ได้ 112 คะแนน ,ด้านกฎหมาย 2 คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ 109 คะแนน และ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า อดีต ผกก.สภ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ได้ 67 คะแนน ,ด้านกิจการโทรทัศน์ 1 คน คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ 62 คะแนน ,ด้านเศรษฐศาสตร์ 2 คน คือ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้ 110 คะแนน และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ 58 คะแนน ,ด้านคุ้มครองผู้บริโภค(กระจายเสียงและโทรทัศน์) คือ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้ 95 คะแนน ,ด้านคุ้มครองผู้บริโภค(โทรคมนาคม) คือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้ 78 คะแนน ส่วนด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม คือ พล.อ.สุกิจ ชมะสุนทร ที่ปรึกษาพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ 72 คะแนน

เป็นที่น่าสังเกตว่า 11 กสทช.ที่ได้รับเลือก เกือบครึ่งเป็นทหาร ส่วนคนดังที่หลุดโผไม่ได้รับเลือกในครั้งนี้ ได้แก่ รศ.พนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ซึ่งเป็นผู้สมัครด้านกิจการโทรทัศน์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการบริหารและรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่ง ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สมัครด้านกิจการโทรทัศน์เช่นกัน

สำหรับขั้นตอนหลังจากวุฒิสภาเลือก 11 กสทช.แล้ว คณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน จะประชุมกันเองเพื่อเลือกประธานและรองประธาน 2 คน โดยจะประชุมในวันที่ 12 ก.ย. ก่อนส่งรายชื่อ 11 กสทช.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้ กสทช.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี หากผู้ใดมีอายุครบ 70 ปีก่อนกำหนด จะต้องพ้นวาระ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงกรณีที่มีทหารได้รับเลือกเป็น กสทช.ถึง 5 นายว่า ทหารที่ได้รับเลือกส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้ว ถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่อยากเข้าไปช่วยทำงานให้บ้านเมือง “ทุกคนผ่านกระบวนการคัดสรรด้วยวิธีการของระบบงาน...ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์ พูดจาไม่รู้เรื่อง คงไม่ได้รับเลือกเข้าไป ส่วนประเด็นเลือกเข้ามาเพื่อปกป้องกองทัพและรักษาผลประโยชน์ของกองทัพ ผมคิดว่าคงไม่ใช่ เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ชาติมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่าการทูลเกล้าฯ รายชื่อ 11 กสทช.จะต้องชะลอไว้ก่อนหรือไม่ เนื่องจากนายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเครือข่ายพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้สืบสวนว่าการสรรหา กสทช.เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ย.เห็นชอบให้การสรรหา กสทช.เข้าข่ายกระทำความผิด จึงให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้ดีเอสไอสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เผยหลังประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินคดีอาญากับกรรมการสรรหา กสทช.ใน 2 ส่วน คือ 1.มีข้อมูลน่าเชื่อว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสทช.ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2.กระบวนการสรรหา กสทช.บัญชี 2 (แบบสรรหา) เป็นกระบวนการที่มีพยานหลักฐานว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลังจากนี้ดีเอสไอจะสอบสวนเต็มรูปแบบตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายของดี เอสไอ “คดีของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับ 11 กสทช.แต่เกี่ยวข้องกับกรรมการสรรหา กสทช.ว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ ดีเอสไอดำเนินการกับคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น จะไม่ไปก้าวล่วงหรือทับซ้อนอำนาจหน้าที่องค์กรอื่นๆ”

นายธาริต ยังพูดถึงกรณีที่มีการมองว่าดีเอสไอรับการสรรหา กสทช.เป็นคดีพิเศษเพื่อเอาใจรัฐบาลนี้โดยปฏิเสธว่า “ผมขอยืนยันว่าดีเอสไอไม่เคยทำงานเอาใจใคร อย่ามาบอกว่าผมปรับตัวเพื่อให้เข้ากับรัฐบาล คงไม่ใช่ ผมทำงานตามหน้าที่ของผม และเรื่องนี้มีผู้มาร้องไว้นานแล้ว เมื่อเข้าเป็นคดีพิเศษจะสอบสวนตามข้อเท็จจริง ดังนั้น ขอความเป็นธรรมกับเราด้วย เราไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ”

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงการทูลเกล้าฯ รายชื่อ 11 กสทช.หลังดีเอสไอรับการสรรหา กสทช.เป็นคดีพิเศษว่า ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีศึกษาขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งจะตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย หากเห็นว่าสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ก็จะดำเนินการต่อไป

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ได้เปิดแถลงชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่ดีเอสไอรับการสรรหา กสทช.เป็นคดีพิเศษ 3 ประเด็น เช่น การที่ดีเอสไอรับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ น่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะคนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอสอบสวนเรื่องนี้ คือ นายพิชา วิจิตรศิลป์ ซึ่งเคยร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีมาแล้ว ขณะที่บางประเด็นที่ดีเอสไออ้างประกอบการรับเรื่องสรรหา กสทช.ไว้เป็นคดีพิเศษ ก็เป็นประเด็นที่ศาลปกครองเคยพิจารณาแล้วว่า กระบวนการสรรหา กสทช.เป็นไปโดยชอบ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาย้ำว่า ฝ่ายค้านจะติดตามเรื่อง กสทช.ต่อไป เพราะเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเร่งพิจารณาว่ากรณีที่ดีเอสไอรับการสรรหา กสทช.เป็นคดีพิเศษ จะเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำตามขั้นตอนของกฎหมายในการทูลเกล้าฯ รายชื่อ กสทช.หรือไม่ “นายกฯ ต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น กสทช.มีสิทธิที่จะฟ้องร้องได้เช่นกัน อีกทั้งประเด็นที่ร้องไปยังดีเอสไอก็ลักษณะเดียวกับที่เคยร้องไปศาลปกครอง แล้ว และศาลปกครองวินิจฉัยไปแล้ว”

4. ศาลจังหวัดกันทรลักษณ์ ตัดสินจำคุก 3 สายลับเขมรคนละ 2 ปี ฐานจารกรรมข้อมูลทางทหารของไทย ขณะที่จำเลยถึงกับปล่อยโฮ หลังฟังคำพิพากษา!
1 ในสายลับกัมพูชาถึงกับปล่อยโฮ หลังศาลไทยพิพากษาจำคุก 2 ปี(6 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ศาลจังหวัดกันทรลักษณ์ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้อ่านคำพิพากษาคดี 3 สายลับกัมพูชาจารกรรมข้อมูลที่ตั้งฐานทหารของไทย โดยจำเลยทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายสุชาติ มูฮำหมัด อายุ 32 ปี สัญชาติไทย ,นายอึ้ง กิมไทย อายุ 43 ปี สัญชาติกัมพูชา และนายเหวียง เติ้งยัง อายุ 37 ปี สัญชาติเวียดนาม โดยทั้งหมดถูกตำรวจ สภ.กันทรลักษณ์ สนธิกำลังกับทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษณ์ จับกุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.หลังจากใช้รถยนต์เป็นพาหนะลักลอบเข้ามาหาพิกัดที่ตั้งของทหารไทย และสำรวจหลุมหลบภัยของชาวบ้านที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ โดยมีนายสุชาติเป็นคนขับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการตัดสินคดี มีนายพัมมิน ตวน และนายซาน ดุย คุย เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

ทั้งนี้ ศาลตัดสินว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดต่างกรรมต่างวาระ โดยนายสุชาติ จำเลยที่ 1 มีความผิด 2 กระทง คือ เสพยาบ้า ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 8 เดือน แต่เมื่อจำเลยสารภาพ จึงลดโทษให้เหลือ 4 เดือน ส่วนอีกกระทงฐานจารกรรมข้อมูลทางทหารของไทย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสาม ไม่ใช่ผู้ก่อการหลัก จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 2 ปี รวมแล้วจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 นายอึ้ง มีความผิด 2 กระทงเช่นกัน พิพากษาจำคุก 2 ปี 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 นายเหวียง มีความผิดกระทงเดียว คือจารกรรมข้อมูลทางทหารของไทย พิพากษาจำคุก 2 ปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสามถึงกับเข่าทรุด โดยนายอึ้งยกมือขึ้นปาดน้ำตา ขณะที่นายเหวียงถึงกับร้องไห้เสียงดัง พร้อมกับกอดภรรยาที่มานั่งฟังคำพิพากษาด้วย นายเหวียง ยังบอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า “ผมไม่เกี่ยว ผมไม่รู้เรื่อง ทำไมประเทศไทยทำกับผมอย่างนี้” ด้านนายสุชาติ สามารถเก็บอาการไว้ได้ โดยมีญาติพี่น้องและภรรยามาให้กำลังใจ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมที่เรือนจำต่อไป

ด้านนายวีระวัฒน์ ทองสุทธิ์ ทนายความของจำเลยทั้งสาม บอกว่า จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ขณะที่นายพัมมิน ตวน เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย บอกว่า จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เพื่อหาทางช่วยเหลือชาวเวียดนามที่ตกเป็นจำเลยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น