xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขออภัยโทษ “แม้ว” มหาราษฎร์ท้าทายพระราชอำนาจ “ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรี” จัดให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดคำตอบบรรทัดสุดท้ายของ “ทักษิณมหาราษฎร์” ในการเถลิงอำนาจการปกครองประเทศผ่าน “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โคลนนิงผู้น้องก็มาถึงบทสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า เขามีเป้าหมายสูงสุดเยี่ยงไร เมื่อทุกองคาพยพของระบอบทักษิณประสานเสียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือการเร่งขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษชายหนีคดีอาญาแผ่นดิน

เพียงแต่สังคมคาดไม่ถึงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะมาเร่งรีบ รวบรัดและรวดเร็วราวกับกามนิตหนุ่มเช่นนี้ รวดเร็วชนิดที่ถ้าเป็นวัยรุ่นยุคนี้ก็ต้องบอกว่า ยังไม่ทันได้ “กินยาคุมฉุกเฉิน” เลยทีเดียว

ที่สำคัญคือเป็นการเร่งทั้งๆ ที่รู้ว่า ขัดต่อหลักนิติประเพณีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากการใช้มวลชนคนเสื้อ รวมทั้งคะแนนเสียงที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมา 15 ล้านเสียงเป็นเครื่องมือในการก้าวล่วงต่อพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์

และแน่นอนผู้ที่มีผลงานอันเอกอุที่สุดคงหนีไม่พ้น “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรีที่กางตำรากฎหมายช่วยนายห้างตราดูไบและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบคำตอบอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจนได้รับสมญานามอย่างเป็นทางการว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรี”

**เสื้อแดงเหลิงอำนาจ ทำลายนิติรัฐ ขัดนิติประเพณี

การเปิดเกมเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ นช.ทักษิณเริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและผ่านการวางแผนล่วงหน้าอย่างมิอาจปฏิเสธได้ โดยคนเสื้อแดงผู้จงรักภักดีต่อนายเหนือหัวของตนเองกระทำการผ่าน “หนังสือพิมพ์มหาประชาชนสุดสัปดาห์” ฉบับที่ 53 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดระหว่างวันที่ 2-8 กันยายน ด้วยการพาดหัวตัวใหญ่ว่า “ทวงราชทัณฑ์ 3 ล้านฎีกาแดง” ขณะที่ภาพประกอบเป็นพานทองและบนพานมีรายนามผู้ลงชื่อปึกใหญ่ พร้อมกับมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งกำลังหาบรายชื่อผู้ร่วมถวายฎีกาเพื่อเตรียมนำไปมอบต่อสำนักราชเลขาธิการ

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวถือเป็นสื่อในเครือข่ายของคนเสื้อแดงโดยตรง เนื่องเพราะเมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ก่อการแล้ว พบว่า ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญของขบวนการเสื้อแดงและบางคนก็ได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เสียด้วยซ้ำไป

กล่าวคือ เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มิใช่ใครอื่นหากแต่เป็นมี “บริษัทเพื่อพ้องน้องพี่ จำกัด” หรือ “พีทีวี” เป็นเจ้าของ โดยมีนายพิระศักดิ์ มุสิกพงศ์ หลายชายของนายวีระ มุสิกพงษ์ที่เปลี่ยนชื่อเป็นนายวีระกานต์เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ขณะที่ตัวนายวีระกานต์เองเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และนายสมหวัง อัสราสี เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อความจริงวันนี้และเครื่องใช้ไฟฟ้ามิตซูชิต้า นายทุนคนสำคัญของคนเสื้อแดงซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นที่ปรึกษา

และเป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายในการขับเคลื่อนของคนเสื้อแดงในครั้งนี้คือ ไม่ต้องการให้ นช.ทักษิณติดคุกดังเช่นที่ “นายก่อแก้ว พิกุลทอง” หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของคนเสื้อแดงที่ระบุชัดเจนว่า “วันนี้ ถ้านำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาติดคุกก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะสร้างความขัดแย้งและโกรธแค้นให้กับคนที่สนับสนุนมากกว่า ดังนั้น ผมจึงอยากให้มองเรื่องความเป็นธรรมมากกว่า”

หรือหมายความว่า คนเสื้อแดงไม่สนใจกฎหมายของบ้านเมือง และต้องการให้นายเหนือหัวของตนเองพ้นผิดไม่ต้องติดคุกเท่านั้นเป็นพอ และที่สำคัญคือเป็นโทษในคดีทุจริตอีกต่างหาก ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือเป็น “ก้าวล่วง” และ “ท้าทายพระราชอำนาจ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทยทีเดียว

นอกจากนี้ คำให้สัมภาษณ์ของนายก่อแก้วในบรรทัดถัดมาก็ยิ่งเห็นคำตอบของเรื่องนี้ชัดขึ้นไปอีก

“ถ้าได้รับการอภัยโทษ ก็จะบอกว่าเป็นความกรุณาของพระองค์ท่านที่ได้คืนความเป็นธรรมต่อเรื่องนี้ เพราะว่าที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณทำอะไรมักถูกต่อต้านทั้งหมด โดยจะเห็นได้จากการออกมาต่อต้านจากหลายๆ ฝ่าย”

นายก่อแก้วต้องการให้ประโยคข้างต้นนี้สื่อไปถึงคนเสื้อแดงในลักษณะใดกันแน่ เพราะเป็นคำพูดในลักษณะของการตั้งเงื่อนไข และเงื่อนไขสำคัญที่นายก่อแก้วจะต้องตอบก็คือ ถ้านักโทษชายหนีคดีชื่อทักษิณไม่ได้รับการอภัยโทษ จะนำไปสู่อะไร....

หมายความว่าสถาบันไม่กรุณา ใช่หรือไม่

เพราะนั่นคือการชี้เป้าให้กับคนเสื้อแดงได้เห็นกันชัดๆ อีกครั้งถึงสาเหตุที่ทำให้นายเหนือหัวของพวกเขาไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เพราะกรณีดังกล่าวชัดเจนมาตั้งแต่ครั้งที่คนเสื้อแดงรวบรวม 3 ล้านรายชื่อยื่นถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวังว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการยื่นถวายฎีกาที่มิได้กระทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขัดต่อนิติประเพณีอีกต่างหาก

กล่าวคือ การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อจำเลยต้องได้รับโทษบางส่วนมาก่อน

ดังเช่นที่ “นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ” โฆษกศาลยุติธรรม ชี้ชัดเอาไว้ว่า “ในอดีตไม่เคยปรากฏว่ามีแนวทางดังกล่าวมาก่อน ซึ่งการขออภัยโทษก็มีตัวอย่างคดีของนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ที่รับโทษมาแล้วบางส่วนจากข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง”

นอกจากนี้แล้วข้อยกเว้นมีเพียงประการเดียวคือ “จำเลยหรือผู้ต้องโทษนั้นเสียชีวิต ซึ่งไม่อาจนำตัวมาพิจารณาความผิดและรับโทษได้”

ดังนั้น สิ่งที่มวลชนคนเสื้อแดง และนายก่อแก้วจะต้องตอบก็คือ ทั้งๆ ที่รู้กฎหมายอยู่เต็มอก ทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่สามารถทำได้ แต่ทำไมถึงยังกล้าทำ

เพราะถ้าไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ที่ชัดเจนก็มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นว่า คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์กำลังเหลิงอำนาจที่ได้รับผ่านการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยโดยมิได้สนใจว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์กำลังจะกดดันโดยใช้คนหมู่บ้างเป็นเครื่องต่อรอง

ในเมื่อ 3 ล้านเสียงในการยื่นถวายฎีกายังไม่เพียงพอ ก็ใช้ 15 ล้านเสียงที่คนเลือกพรรคเพื่อไทยสำแดงพลังให้เห็นอีกครั้ง

ยิ่งเมื่อนำไปผนวกกับยุทธศาสตร์ของคนเสื้อแดงที่กำลังเร่งเปิด “หมู่บ้านเสื้อแดง” ไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะล่าสุดที่ภาคใต้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สังคมทวีความแตกแยกหนักเข้าไปอีก เพราะต้องไม่ลืมว่า ในหมู่บ้านเสื้อแดงรูปเคารพที่ประชาชน “มีทุกบ้าน” ก็คือรูปของนายห้างตราดูไบ

ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีเป้าหมายในทางการเมืองเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันโดยตรงใช่หรือไม่

ที่สำคัญคือ หากพิจารณากระบวนการโฆษณาให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อถวายฎีกา พิจารณาเนื้อความฎีกา และจุดประสงค์ ร่วมกันทั้งหมดแล้ว ต้องบอกว่าฎีกาดังกล่าวไม่ใช่ทั้งฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาทางการเมืองที่หวังผลทางการเมืองโดยชัดแจ้ง โดยอาศัยกระแสมวลชนตามที่ชินกับการดำเนินการในทางการเมืองอื่นมาผลักดัน หรือกดดันผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยไม่สมควร

**ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรี กางตำราช่วยลูกพี่สุดตัว

ภายหลังการเปิดเกมจากสื่อเสื้อแดงและแกนนำคนเสื้อแดง ผู้ที่ออกมารับลูกอย่างหน้าชื่นตาบานและด้วยความเต็มใจก็คือ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งความจริงก็ไม่ได้น่าแปลกใจอะไรนักเพราะกรณีขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ นช.ทักษิณนั้น ร.ต.อ.เฉลิมเป็นหนึ่งในแกนนำที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

และการเคลื่อนไหวของ ร.ต.อ.เฉลิมก็ตอบโจทย์ของสังคมให้กระจ่างขึ้นไปอีกว่า ด้วยเหตุอันใด ร.ต.อ.เฉลิมถึงได้รับมอบหมายให้กำกับหน่วยงานสำคัญๆ มากมายถึงขนาดนี้
ที่สำคัญคือ เป็นการเคลื่อนไหวที่สมกับสมญานามที่ได้รับมอบหมายยิ่งว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรี” อีกด้วย เพราะในขณะที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์เจ้าของสมญานาม “ดีแต่โม้โมเดล” จะตีหน้าเศร้าและตีมึนด้วยประโยคอมตะอย่าง “ไม่รู้....ไม่เห็น...ไม่ทราบค่ะ...ไม่ใช่เป็นนโยบายของรัฐบาล เราไม่ได้เร่งกระบวนการ ทุกอย่างเป็นไปตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกค้าง ไม่มีการเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษ” ผู้สำเร็จราชการฯ เฉลิมก็เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว

ปฏิบัติการตะแบงของผู้สำเร็จราชการฯ เฉลิมเริ่มต้นด้วยการงัดข้อกฎหมาย(ของกูเอง) ออกมาแจกจ่ายพร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ตอกย้ำคัดง้างกับทุกข้อคัดค้าน โดยยืนยันว่า นักโทษหนีคดีก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้

สำหรับเอกสารที่ดอกเตอร์ทางกฎหมายนำมาแจกจ่ายนั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 191 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

        2..ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 สำหรับผู้ที่ทูลเกล้าฯ และถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายฎีกา 1.ผู้ต้องโทษคำพิพากษา (ม.259) 2.ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ (259) 3. คณะรัฐมนตรี (ม.261 ทวิ)

        สำหรับผู้ที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังให้ลงโทษจำคุก มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

        1.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด ตัดสิทธิห้ามผู้หลบหนีตามคำพิพากษาศาลจะยื่นถวายฎีกา 2.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องถูกจำคุกจริงๆ นานเท่าใดจึงจะถวายฎีกาได้ 3.การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะอภัยโทษในกรณีใดบ้าง คดีประเภทใดอภัยโทษได้ คดีประเภทใดอภัยโทษไม่ได้ หรือการอภัยโทษจะต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง ต้องจำคุกมาแล้วนานเท่าใด

และ 4.เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การแปลความหมายว่า “ผู้หลบหนีจะต้องมามอบตัว และรับโทษจำคุกเสียก่อนจึงขออภัยโทษได้” นั้น เป็นการแปลกฎหมายตามความคิดเห็นส่วนตัว หรือเป็นการเข้าใจเอาเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้”

  “เท่าที่ผมดูกฎหมาย พบว่ากฎหมายไม่ได้มีข้อห้าม ที่มีการอ้าง พ.ร.ฎ.ปี 2550 มาตรา 4, 5 และมาตราที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นกรณีเฉพาะราย ซึ่งเป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่คนตกทุกข์ได้ยาก จึงได้ออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ปี 50 กำหนดหลักเกณฑ์และมีคณะกรรมการพิจารณา นั่นเป็นรายกรณี ไม่ใช่เหมารวม และในวโรกาสสำคัญๆ ก็มักจะมี พ.ร.ฎ.เสมอ”ร.ต.อ.เฉลิมแจกแจง

คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า การตีความกฎหมายของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ หนึ่ง จารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นเช่นใด

ประเด็นนี้ โฆษกศาลยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ตอบชัดว่า ไม่เคยมีการขอและอภัยโทษให้กับผู้ต้องโทษที่หลบหนีหรือไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน

จริงอยู่แม้กฎหมายไม่ได้มีการระบุชัดว่า ต้องติดคุกก่อน แต่ตามนิติประเพณีแล้ว ไม่เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น

ดังที่ “นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “หากรัฐบาลจะดำเนินการจะเป็นการทำลายประเพณี และสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า ผู้ที่ขอพระราชทานอภัยโทษไม่จำเป็นต้องติดคุก”

หรือที่สำนักข่าวทีนิวส์ได้เปิดเผยรายงานข่าวจากสำนักพระราชวังถึงการยื่นถวายฎีกาของพระราชทานอภัยโทษให้กับ นช.ทักษิณว่า ให้ยึดตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ซึ่งมีความชัดเจนตามมาตรา 4 ที่ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษหรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

สอง ตามมาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

       ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

        กฎหมายเปิดช่องให้อำนาจไว้ ดังนั้น จึงต้องติดตามว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม จะถวายความเห็นและคำแนะนำที่เป็นการฝืนต่อจารีตประเพณีปฏิบัติหรือไม่

       นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิมยังตะแบงด้วยว่า กรณีที่ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุก นช.ทักษิณ 2 ปีนั้น ไม่ใช่คดีทุจริต แต่เป็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ซึ่งต่อมาเมื่อศาลแพ่งตัดสินว่า สัญญาการซื้อขายที่ดินระหว่างคุณหญิงพจมาน กับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เท่ากับว่า ไม่มีการซื้อขาย ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดเดิม และให้กองทุนฟื้นฟูฯคืนเงินคุณหญิงพจมาน ดังนั้น นช.ทักษิณ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายแล้ว เพราะสัญญาเป็นโมฆะ แต่คดีที่ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 2 ปีในข้อหานี้จะทำอย่างไร คดีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ นช.ทักษิณ

ตะแบบช่วยลูกพี่สมกับหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรีจริงๆ

เฉกเช่นเดียวกับพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อีกหนึ่งแดงตัวพ่อที่เปิดหน้าท้าชนอย่างตรงไปตรงมาว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าจะขออภัยโทษใดทั้งสิ้น เพราะ นช.ทักษิณไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาไปแล้ว ที่ผิดก็คือการทำสัญญากับรัฐ โดยการเซ็นยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดิน แต่ศาลแพ่งได้พิจารณาแล้วว่าไม่ได้มีการซื้อที่ดิน ทั้งยังมีการคืนเงินให้คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา นช.ทักษิณ จึงสรุปว่า นช.ทักษิณ ไม่ได้ทำสัญญาใดๆ กับรัฐทั้งสิ้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนอย่างนี้ และศาลฎีกาฯตัดสินไปแล้ว ดังนั้น ศาลฎีกาฯจะต้องรับผิดชอบ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนไปจะต้องตัดสินใหม่ ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกทำกัน

**”ประชา”จัดทีมศึกษากม. จับตา 3 เด็กในคาถา

หลังจากตะแบงกันได้พักใหญ่ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ก็เดินหน้าสู่ภาคปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณอย่างเต็มรูปแบบ โดยการรับลูกของ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ด้วยการประกาศตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายและรายละเอียดในการดำเนินงาน เนื่องเพราะขณะนี้การตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์ได้ถูกส่งตรงมาถึงพญาอินทรีอีสานเรียบร้อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมี นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหงเป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วยนายจุมพล ณ สงขลา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ นายศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาการบริการงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นายนัทธี จิตสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

และทันทีที่ชื่อปรากฏ สายตาของสาธารณชนก็พุ่งเป้าไปที่รายชื่อของคณะกรรมการ 3 คนในทันที นั่นคือ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ นายจุมพลและนายธงทอง เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับก๊กไหน กลุ่มใดและเคยทำงานรับใช้ใครมาก่อน

สำหรับนายจุมพลชัดเจนยิ่งว่าเขาคือ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้น ภาค 1 ที่ตัดสินให้ นช.ทักษิณพ้นผิดกรณีการปกปิดการถือครองหุ้นโดยพ.ต.ท.ทักษิณโอนหุ้นให้คนรับใช้และคนขับรถ ท่ามกลางข้อกังขาของคนทั้งประเทศ และเชื่อว่าหลายคนคงจำได้ดีกับวลีเด็ดอันเป็นเหตุให้นายห้างตราดูไบพ้นผิดว่า “บกพร่องโดยสุจริต”

ส่วนอาจารย์ธงทองก็ชัดเจนมาตั้งแรกว่า เป็นข้าราชการและนักวิชาการที่ยืนตรงแน่วอยู่กับ นช.ทักษิณมาตั้งแต่ต้นจนจบ และเคยได้รับการปูนบำเหน็จได้เป็นถึงรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนที่จะถูกโยกย้ายจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา(สกอ.) และมีข่าววงในว่า ในอีกไม่ช้าจะได้ก้าวขึ้นไปเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแทน “ดร.กบ-นายอำพล นิติอำพน”

ขณะที่นายวุฒิศักดิ์นั้น ว่ากันว่าเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีขุนพลคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดยก่อนที่จะขึ้นเป็นอธิการบดี ม.รามคำแหง นายวุฒิศักดิ์เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในภาคธุรกิจ ราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่ตำแหน่งที่น่าจะต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือ ประธานกรรมการ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PINCI)

และสุดท้ายแล้วไม่ว่าผลการศึกษาจากคณะกรรมการชุดอาจารย์วุฒิศักดิ์จะออกมาเช่นไร แต่สิ่งที่ต้องตอกย้ำให้ขบวนการเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ร.ต.อ.เฉลิมและพล.ต.อ.ประชาเข้าใจกันอีกครั้ง แม้เชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเข้าใจแล้วและทำเป็นหูทวนลมก็คือ คดีของนช.ทักษิณนายใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่ “คดีการเมือง” แต่เป็น “คดีอาญา” ที่จำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เป็นคดีอาญาที่จะมีผลสิ้นสุดดังเช่นคำให้สัมภาษณ์ของนายสิทธิศักด์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรมระบุไว้ว่า “ตามกฎหมาย ผลทางคดีอาญาจะสิ้นสุดเมื่อจับกุมตัวผู้กระทำผิดซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้วมารับโทษ หรือจำเลยหรือผู้ต้องโทษนั้นเสียชีวิต ซึ่งไม่อาจนำตัวมาพิจารณาความผิดและรับโทษได้”

และสุดท้ายของสุดท้าย ก็ต้องบอกว่าฎีกานี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง และไม่อาจมีพระบรมราชวินิจฉัยทางการเมืองได้ ให้ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งยังนำประชาชนจำนวนมากให้เข้ามาสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่าย ที่สำคัญคือการใช้จำนวนคนมาเป็นปัจจัยประกอบพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่บังควรเพราะหากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยออกมาในทางใด ผลกระทบทางการเมืองจะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกทาง ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น