xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ มสธ.อัด “เหลิม-อภิวันท์” มั่ว กม.เอาใจ “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อ.คมสัน” ไม่ให้ค่า “เหลิม-อภิวันท์” แถ กม.ช่วยแม้ว ไล่เปิด กม.พื้นฐานแยกอาญากับแพ่งให้ออก บอกคำพิพากษาศาลแพ่งลบฎีกาไม่ได้ พร้อมเหน็บเป็นดอกเตอร์น่าจะรู้เรื่องมากกว่าเด็กนิติฯ ปี 1


เมื่อวันที่ 8 ก.ย. อาจารย์คมสัน โพธิ์คง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการประจำคณะนิติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ช่วงรายการ News Hour ทางสถานี ASTV ต่อกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดว่า ที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี ไม่ใช่คดีทุจริต แต่เป็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา กับที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย พูดว่าศาลแพ่งได้พิจารณาคดีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แล้วว่าไม่ได้มีการซื้อที่ดินแถมยังมีการคืนเงินให้ จึงสรุปได้ว่าไม่ได้ทำสัญญาใดๆ กับรัฐ ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดด้วย นั้น

ก่อนอื่น ร.ต.อ.เฉลิม กับ พ.อ.อภิวันท์ ต้องทำความเข้าใจหลักพื้นฐานทางกฎหมายก่อนว่า อาญากับแพ่งต่างกันอย่างไร หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ กฎหมายแพ่งเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ ให้สิทธิคนตั้งแต่เกิดจนตายสามารถทำอะไรได้บ้าง ส่วนกฎหมายอาญากำหนดข้อห้ามไม่ให้คนกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น การกระทำทางอาญากับแพ่งจึงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หากทำนิติกรรมทางแพ่งฝ่าฝืนข้อบังคับ ทางกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะ ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการกระทำเกิดขึ้น เพียงแต่ให้ถือผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้้นจากการทำนิติกรรมนั้นเสมือนไม่เคยมีการกระทำเกิดขึ้น

อ.คมสันกล่าวต่อว่า คดีของคุณหญิงพจมานเป็นคดีทางแพ่ง เมื่อศาลวินิฉัยว่าอยู่ในฐานะไม่สามารถทำนิติกรรมได้เนื่องจากเป็นภรรยานายกฯ จึงขาดคุณสมบัติในการทำนิติกรรม ซึ่งตามหลักการให้ถือเป็นโมฆะเฉพาะการซื้อขายที่ดิน ส่วนการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าลักษณะเอื้อประโยชน์ก่อน คุณหญิงพจมานเข้าทำนิติกรรม กล่าวคือ ทำให้มีคุณสมบัติซื้อที่ดินได้ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติ เป็นความผิดทางกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาตรา 100 ดังนั้น การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องแยกออกจากฐานความผิดทางนิติกรรม เรื่องนี้เป็นหลักกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง เบื้องต้น นักศึกษากฎหมายปี 1 เข้าใจดีไม่ต้องอธิบายให้มากความ

อีกประการหนึ่ง ปกติศาลมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งแต่ละศาลจะมีความสำคัญไล่กันไปตามลำดับเริ่มจากศาลชั้้นต้น ตามหลักเมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาแล้ว ศาลชั้นต้นไม่อาจก้าวก่ายหรือแก้ไขคำพิพากษาของศาลฎีกาได้เลย กรณีคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา แม้ต่อมาจะมีคำพิพากษาของศาลแพ่งวินิจฉัยว่าไม่ได้มีการซื้อที่ดินและคืนเงินให้คุณหญิงพจมานก็ตามที กรณีนี้จะถือเอามาโยงกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาคนละนิติกรรมกัน ฉะนั้น ที่ ร.ต.อ.เฉลิม และ พ.อ.อภิวันท์ ออกมาให้ความเห็นจึงไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ทำอย่างนี้เด็กปี 1 ที่เรียนกฎหมายเขาจะหัวเราะเอาได้ว่าออกมาพูดอย่างนี้ได้อย่างไร

“เชื่อว่าคนที่ตั้งประเด็นพวกนี้ขึ้นมา พยายามหลอกล่อให้สังคมไขว้เขว หันมาสนใจประเด็นใหม่หวังให้ลืมประเด็นที่กำลังจนมุมอย่างเรื่องนิรโทษฯ นโยบายทั้งหลายที่เริ่มมีปัญหา แต่งตั้งโยย้ายข้าราชการ ที่จริงประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม และพ.อ.อภิวันท์ เอามาพูดไม่มีน้ำหนักในทางกฎหมาย อย่าหลงกับเขาเลย ปล่อยให้เขาพูดไป มันผิดหลักกฎหมายอยู่แล้ว”

อ.คมสันกล่าวอีกว่าที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูดว่าศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี เป็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ตรงนี้ หากจะพูดอย่างนี้ก็พูดได้ แต่ความผิดตามที่่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด มันถูกบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 100 และเมื่อย้อนกลับไปดูบทกำหนดโทษใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าเขากำหนดโทษทางอาญาไว้ ดังนั้น การกระทำความผิดตามมาตรา 100 จึงมีโทษทางอาญา ถือเป็นความผิดทางอาญา ที่ ร.ต.อ.เฉลิม วางหลักการมาถือว่าผิดในทางหลักกฎหมาย คนที่จบนิติศาสตร์เข้าจะไม่พูดกันแบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น