xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-17 ม.ค.2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 5 รมต.แล้ว – เตรียมถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ โรงพยาบาลศิริราช!
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พ้นจาก รมว.ศึกษาธิการ เพื่อไปนั่ง รมว.สาธารณสุขแทน
หลังที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มีมติด้วยการโหวตให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทนนายวิทยา แก้วภราดัย ที่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีถูกคณะกรรมการสอบฯ ชุด นพ.บรรลุ ศิริพานิช สรุปว่าบกพร่องต่อหน้าที่กรณีโครงการไทยเข้มแข็งส่อทุจริต ขณะที่นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขจากพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกคณะกรรมการสอบฯ ระบุว่ามีพฤติกรรมส่อทุจริตในโครงการดังกล่าวด้วย ได้ยอมลาออกเมื่อวันที่ 10 ม.ค.หลังทนกระแสสังคมกดดันไม่ไหว พร้อมกันนี้มีข่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา และแกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นเจ้าของโควตารัฐมนตรีของนายมานิต มีแนวคิดที่จะหนุนนายประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีต ส.ส.สุโขทัย ซึ่งมีความสนิทสนมกับตนให้มานั่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแทนนายมานิตนั้น

ปรากฏว่า ได้มีกระแสต่อต้านนายประศาสตร์จากกลุ่มแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า หากนายประศาสตร์มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแทนนายมานิต คงเหมือนคนคนเดียวกัน เพราะนายประศาสตร์เป็นผู้ช่วยเลขานุการของนายมานิต การดำเนินงานจึงมีความเชื่อมโยงกันอยู่ เกรงว่าจะไม่ค่อยเหมาะสม

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา และแกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้ออกตัวแทนนายประศาสตร์ที่ถูกกระแสต่อต้านเพราะใกล้ชิดกับนายมานิตว่า บางครั้งคนที่อยู่ใกล้กันเป็นเรื่องของการทำงาน อาจจะไม่ได้รักกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ ทำให้นายสมศักดิ์ต้องเตรียมชื่อบุคคลสำรองที่จะเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข หากเกิดปัญหาขึ้นกับการเสนอชื่อนายประศาสตร์ คือนายเรืองศักดิ์ งามสมภาค อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรคฯ อันดับ 1 แต่กระนั้นก็ยังอาจเกิดปัญหาหากเลือกนายเรืองศักดิ์เป็นรัฐมนตรี เพราะอาจมีปฏิกิริยาจาก ส.ส.ในกลุ่มมัชฌิมา ที่ไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แทนที่จะเป็น ส.ส.ในกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่านายสมศักดิ์อาจผ่าทางตันโดยเลือกนายสมนึก เฮงวาณิชย์ ส.ส.บุรีรัมย์ มาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งอาจเกิดกระแสต่อต้านได้เช่นกัน เพราะยังอ่อนพรรษา จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรี

เมื่อชื่อไหนก็ดูจะมีปัญหา ในที่สุด นายสมศักดิ์ได้ตัดสินใจส่งชื่อน้องสาวตัวเองเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแทนนายมานิต คือ นางพรรณสิริ กุลนาถสิริ โดยก่อนเสนอชื่อน้องสาวเป็นรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ได้ปรึกษานายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และแกนนำพรรคภูมิใจไทยแล้ว ทั้งนี้ นางพรรณสิริ เผยว่า ตนเพิ่งขอเออร์ลี่ รีไทร์มาจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมดรุณี จ.สุโขทัย เพื่อดูแลมารดาและช่วยงานนายสมศักดิ์ พี่ชาย “เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายสมศักดิ์ได้มาพูดคุยว่าอยากให้มาช่วยงานการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ดิฉันก็ตกใจ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน ...ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะต้องมารับหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้”

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พูดถึงกรณีที่นางพรรณสิริจะมาเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขคนใหม่ว่า เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านงานของกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน จึงไม่ส่งผลกระทบเรื่องผลการทำงานที่ผ่านมา จึงพร้อมเปิดโอกาสและร่วมงานด้วย “แพทย์ชนบทเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขคนใหม่เข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ และพร้อมจะร่วมทำงานด้วย ส่วนผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร ค่อยมาว่ากันทีหลัง พวกเราไม่อยากเป็นกบเลือกนาย”

ทั้งนี้ มีข่าวด้วยว่า นายเนวินได้เสนอให้ปรับนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคมนาคม และให้นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ส.ส.มหาสารคาม เข้ารับตำแหน่งแทน ซึ่งนายประจักษ์ ได้ออกมายอมรับว่า ผู้ใหญ่ในพรรคแจ้งให้เตรียมตัวรับการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง พร้อมยืนยัน ไม่มีปัญหา ไม่รู้สึกน้อยใจ เพราะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโจมตีการปรับ ครม.ของรัฐบาลว่า มีลักษณะเหมือนสมบัติผลัดกันชม “การปรับ ครม.ครั้งนี้เป็นการซูเอี๋ยทางการเมือง เพื่อลดความกดดันจากการแก้ไข รธน. และเรื่องการตรวจสอบการทุจริตในกระทรวง เพื่อหวังจะเป็นรัฐบาลต่อไปให้ครบวาระ”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี 5 ตำแหน่ง ดังนี้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี ,นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ,นางพรรณสิริ กุลนาถสิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้รัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ในวันจันทร์ที่ 18 ม.ค. เวลา 17.30น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 14 โรงพยาบาลศิริราช

2. “แกนนำเสื้อแดง” เหิม เตรียมบุกสำนักราชเลขาธิการ ทวงความคืบหน้าฎีกาอภัยโทษ “ทักษิณ” 20 ม.ค.นี้!
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ยืนยัน กรณีที่ดินบนเขายายเที่ยง หากกรมป่าไม้ชี้ขาดอย่างไร พร้อมปฏิบัติตาม(12 ม.ค.)
ความคืบหน้ากรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีกับพวกรวม 3 คน กรณีบุกรุกเขายายเที่ยง เนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ไม่มีเจตนาทำผิด มีเพียงการครอบครองที่ดินที่ผิดเงื่อนไขตามมติ ครม.เมื่อปี 2518 เท่านั้น อัยการจึงมีหนังสือแจ้งให้ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ยืนยันว่า พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ยังคงยืนยันนำคนเสื้อแดงและคนไร้ที่ทำกินบุกเขายายเที่ยงเพื่อชุมนุมทวงความยุติธรรม ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ถูกดำเนินคดีฐานครอบครองที่ดินและมีบ้านพักบนเขายายเที่ยงในวันที่ 11 ม.ค.นั้น

ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(11 ม.ค.) มีคนเสื้อแดงไปร่วมชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์บนเขายายเที่ยงประมาณ 5 พันคน ด้านนายอารีฟีน วิเศษศักดิ์ ครูสอนศาสนาอิสลาม ในหมู่บ้านบนเขายายเที่ยง พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่ง นำดอกไม้ไปเจรจากับแกนนำเสื้อแดงว่า โปรดอย่าใช้วิธีนำเกมการเมืองมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ เราชาวบ้านและบ้านพักขององคมนตรีอยู่ร่วมกันมาหลายสิบปี ไม่เคยสร้างปัญหาแต่อย่างใด ควรหาทางออกที่ละมุนละม่อมกว่านี้

ด้านพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้พยายามเปรียบเทียบกรณี พล.อ.สุรยุทธ์ครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงกับกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ว่า พล.อ.สุรยุทธ์เจตนากระทำผิดมากกว่า จึงเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ลาออกจากองคมนตรีและทุกตำแหน่ง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานคุณธรรมจริยธรรมกับสังคมไทยต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วิดีโอลิงก์มายังเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดงบนเขายายเที่ยงว่า การที่คนเสื้อแดงขึ้นเขามาครั้งนี้ ก็เพื่อเอาความจริงมาเปิดเผย บางคนแกล้งเซ่อ แกล้งมองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องเอาความจริงมาบอก และว่า ตนจะต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงต่อไป จะไม่ยอมแพ้ ไม่ย่อท้อ ถ้าพี่น้องบอกว่าจำเป็นแล้วที่จะให้ตนเข้าไป ตนก็จะเข้าไปทันที แต่ก็มีคนบอกว่า ตอนนี้ยังไม่ปลอดภัย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้กลุ่มเสื้อแดงจะพักค้างคืนบนเขายายเที่ยงเมื่อวันที่ 11 ม.ค. แต่เช้าวันรุ่งขึ้นเหลือประชาชนร่วมชุมนุมแค่ประมาณ 500 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ทยอยเดินทางกลับตั้งแต่กลางดึก ทำให้กลุ่มเสื้อแดงได้สลายตัวลงหลังร่วมกันเปิดป้ายหมู่บ้าน 2 มาตรฐานบนเขายายเที่ยง ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ประกาศว่า การขึ้นเขายายเที่ยงครั้งนี้ เป็นการซ้อม เพื่อเตรียมพร้อมขึ้นเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ซึ่งแกนนำคนเสื้อแดงสงสัยว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ครอบครองพื้นที่บนเขาสอยดาว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ภารวี ชาญเลขา นายทหารนอกราชการ ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของสอยดาวไฮแลนด์ กอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท ได้ออกมาชี้แจงว่า คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า พล.อ.เปรมมีหุ้นส่วนที่สนามกอล์ฟแห่งนี้ ทั้งที่ไม่เคยมีหุ้นส่วนหรือเป็นที่ปรึกษา เพียงแต่เคยเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ และไม่ได้มาเล่นกอล์ฟที่นี่ 3 ปีกว่าแล้ว พล.อ.ภารวี ยังปฏิเสธด้วยว่า สนามกอล์ฟแห่งนี้ไม่ใช่ของบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพ แต่เป็นของบริษัท สวนจันทบุรี จำกัด

ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดถึงการบุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยงว่า ขอให้รอกรมป่าไม้ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะที่นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า กระทรวงฯ จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขและบรรเทาการบุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยง คาดว่าเมื่อได้รับสำนวนคดีจากอัยการสูงสุดแล้ว จะใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เขายายเที่ยงภายใน 7 วัน

ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ยืนยันอีกครั้ง(12 ม.ค.)ว่า กรณีที่ดินและบ้านพักบนเขายายเที่ยงนั้น ตนพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกรมป่าไม้มีคำชี้ขาดอย่างไร ตนพร้อมจะปฏิบัติตามนั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ลาออกจากองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ ส่งสัญญาณไม่ลาออกด้วยการบอกว่า คงไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน

ด้านแกนนำ นปช.ได้ประชุมหารือ(13 ม.ค.) เพื่อกำหนดปฏิทินการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและองคมนตรีในเดือน ม.ค. โดยหลังประชุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แถลงว่า การเคลื่อนไหวจะเริ่มด้วยวันที่ 15 ม.ค.เดินทางไปยังกรมป่าไม้ เพื่อเรียกร้องให้รังวัดที่ดินเขายายเที่ยง เพราะมีเอกสารหลักฐานที่เชื่อได้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้ถือครองที่ดิน 21 ไร่ตามที่แจ้ง แต่ถือครองกว่า 30 ไร่ จากนั้นวันที่ 17 ม.ค. ไปแจ้งความที่กองปราบปรามให้ดำเนินคดี พล.อ.สุรยุทธ์ ,วันที่ 18 ม.ค.แกนนำคนเสื้อแดงทั้งคณะ จะเดินทางไปยังทำเนียบองคมนตรี เพื่อยื่น จม.เปิดผนึกถึงบรรดาองคมนตรี ให้ทราบถึงพฤติกรรมของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ยึดครองสมบัติชาติไว้เป็นของตัวเอง พร้อมขอคำอธิบายจากคณะองคมนตรี ,วันที่ 19 ม.ค. จะไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 กรณีหน่วงเหนี่ยวถ่วงรั้งฎีกาที่คนเสื้อแดงขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้ยื่นไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 จากนั้นวันที่ 20 ม.ค. จะเดินทางไปสำนักราชเลขาธิการ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องฎีกาของคนเสื้อแดง ส่วนวันที่ 23-24 ม.ค. คนเสื้อแดงจะไปชุมนุมที่สนามกอล์ฟเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เพราะเข้าใจว่าเป็นของ พล.อ.เปรม

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ได้ออกมายืนยันว่า พล.อ.เปรมไม่ได้มีที่ดินหรือมีสนามกอล์ฟบนเขาสอยดาว “ไม่มี เรื่องที่ป๋าจะมีที่ดินอยู่ที่เขาสอยดาว ไม่เป็นความจริง ผมบังเอิญรู้เรื่องพื้นที่เขาสอยดาวขณะที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีคนฝ่ายรัฐบาลพยายามเล่นงานบริษัทเอกชนที่ไปซื้อที่ดินเพื่อทำสนามกอล์ฟ บังเอิญผมทราบเรื่องว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ได้อภิปรายไปในสภา ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ พล.อ.เปรม”

ด้านนายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทำงานตรวจสอบข้อมูลรายชื่อฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 14 ม.ค. เพื่อยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เตะถ่วงฎีกาของคนเสื้อแดง โดยพบว่า ทางกรมฯ มีการจ้างพนักงานบันทึกข้อมูล 100 คน เพื่อบันทึกข้อมูลรายชื่อและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นฎีกา โดยนายชาติชาย บอกว่า เจ้าหน้าที่เร่งบันทึกข้อมูลเฉลี่ยได้วันละ 3 หมื่นรายชื่อ และทยอยส่งข้อมูลให้สำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ขณะนี้บันทึกข้อมูลแล้วประมาณ 1.2 ล้านรายชื่อ หรือร้อยละ 40 ของจำนวนรายชื่อทั้งหมด 3 ล้านรายชื่อ จึงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน

3. “ศาลฎีกาฯ” ปิดคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ” นัดพิพากษา 26 ก.พ. ด้าน “พายัพ” ขู่ หากยึดทั้งหมด กลียุคแน่!

นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้ เกิดกลียุคแน่ ถ้าศาลสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติและใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว

ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลา ศาลได้เรียกนายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเบิกความ ซึ่งสรุปได้ว่า นายสิทธิชัยได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการดำเนินการสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ 3 กรณี คือ กรณีภาษีสรรพสามิต ,กรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกรณีดาวเทียม ไอพีสตาร์ โดยกรณีภาษีสรรพสามิตนั้น นายสิทธิชัย ชี้ว่า การที่ ครม.ทักษิณมีมติให้เอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ ทำให้รัฐเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท นายสิทธิชัยจึงเสนอให้ ครม.สุรยุทธ์ยกเลิกมติ ครม.สมัยรัฐบาลทักษิณที่อนุญาตให้เอกชนเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ “ซึ่งเมื่อ ครม.ยกเลิกมติ ครม.(สมัยรัฐบาลทักษิณ)แล้ว กรมสรรพสามิตสามารถเรียกเก็บภาษีได้กว่า 1,000 ล้านบาทเศษภายในระยะเวลา 1 เดือน นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องจ่ายให้แก่รัฐ”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงการเก็บค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิตนั้น นายสิทธิชัย เบิกความยืนยันว่า เป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในทางธุรกิจอย่างแยบยล เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศหรือมาเป็นคู่แข่ง ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการต้องเสียค่าซื้อเครื่องโทรศัพท์ในราคาแพงและเสียค่าบริการในอัตราสูง ส่วนกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น นายสิทธิชัย บอกว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พบว่า สถานะของดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่ได้เป็นดาวเทียมสำรอง แต่เป็นดาวเทียมหลัก ซึ่งการจะยิงดาวเทียมหลักขึ้น ต้องขอสัมปทานใหม่และต้องมีดาวเทียมสำรองด้วย และควรเสียภาษี แต่ไม่ทราบว่าเหตุใด ครม.ทักษิณจึงไม่เรียกเก็บภาษี แต่ตนเห็นควรให้มีการเรียกเก็บภาษี

ส่วนในช่วงบ่าย ศาลได้เรียกนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ขึ้นเบิกความ ซึ่งนายสมเกียรติ ยืนยันเช่นกันว่า การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเสรี และว่า การที่ ครม.ทักษิณอ้างว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพราะความจำเป็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องหารายได้ ก็ขัดแย้งกับเหตุผลของตัวเอง ที่ยกเว้นการเก็บภาษีแก่ผู้ให้บริการบางราย นอกจากนี้การออกมติ ครม.ลดหย่อนการเก็บภาษีสรรพสามิตและสามารถนำมาหักค่าสัมปทานที่ต้องให้รัฐได้ ก็ส่งผลให้เงินไม่เข้ารัฐด้วย นายสมเกียรติ ยังเบิกความด้วยว่า ตนเคยทำวิจัยเรื่องสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับตลาดหุ้นไทย พบว่า หุ้นธนกิจการเมืองที่ถือครองโดย ครม.นักการเมืองหรือเครือญาติ จะมีผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจอื่นทั่วไป ขณะที่การขึ้น-ลงของราคาหุ้นก็มีความสัมพันธ์กับนโยบายและเหตุการณ์ทางการเมือง “เช่น ครม.มีมติเก็บภาษีสรรพสามิต การที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิมได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทำให้ราคาหุ้นชินคอร์ปทั้ง 5 ตัว ทั้งชินคอร์ป ไอทีวี เอไอเอส หรือทหารไทย มีผลตอบแทนดีกว่าหลักทรัพย์ประเภทใกล้เคียงกันสูงถึงร้อยละ 141 หมายความว่า ถ้าหุ้นตัวอื่นกำไร 100% แล้วหุ้นชินคอร์ปกำไร 100% บวกอีก 141%”

ทั้งนี้ หลังนายสมเกียรติเบิกความเสร็จ ศาลได้แถลงหมดพยาน เสร็จสิ้นการไต่สวน และให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน หากไม่นำส่งภายในกำหนด ถือว่าไม่ติดใจ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.เวลา 13.00น.

ด้านนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย 1 ในคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน บอกว่า “คดีนี้อัยการมั่นใจตั้งแต่ยื่นคำร้องแล้ว แต่ต้องรอดูว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีอย่างไร...”

ขณะที่นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงกรณีที่ศาลนัดพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านในวันที่ 26 ก.พ.โดยส่งสัญญาณว่า หากจะมีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณจริง ควรยึดเป็นบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นเกิดกลียุคแน่ “ทางออกของเรื่องนี้ ต้องแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไม่ใช่ไปยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน แต่ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและให้ชดใช้เงินในส่วนที่ถือเป็นค่าเสียหายของรัฐแต่ละคดีที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิด ...เราจะให้เขาผิด ต้องให้เขาเต็มใจ ไม่ใช่เหมารวมทำเป็นมหากาพย์ว่าเขาผิดไปหมด อย่างนี้บ้านเมืองพังแน่นอน วันนี้บ้านเมืองเปราะบาง ถ้ายังเป็นไปตามเส้นทางก็จะกลายเป็นกลียุค บ้านเมืองก็จะลำบาก”

ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) พูดถึงกรณีมีข่าวว่า คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณจะพยายามล็อบบี้ให้มีการยึดทรัพย์สินแค่ 40% จาก 7.6 หมื่นล้านบาทว่า ตามหลักแล้ว คดีร่ำรวยผิดปกติ จะต้องยึดทรัพย์ทั้งหมด ไม่ใช่ยึดบางส่วน เพราะทรัพย์สินตั้งต้นถือเป็นตัวล่อให้เกิดการเพิ่มพูน หากยึดเฉพาะเงินที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังก็เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกลงโทษเลย ซึ่งจะไม่ต่างอะไรกับคนขโมยของไป พอถูกจับได้ก็เอาของมาคืน ก็จบกัน หากเป็นเช่นนั้นกฎหมายริบทรัพย์สินจากผู้ที่ร่ำรวยผิดปกติก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย วิธีคิดกรณีนี้จึงต้องคิดถึงการป้องกันการทุจริต คือผู้กระทำผิดถูกลงโทษด้วย “ตัวอย่างไม่นานมานี้ มีข้าราชการคนหนึ่งขายที่ดินให้กับหน่วยงานราชการแพงเกินจริง สมมุติว่าขายให้ในราคา 25 ล้านบาท จากราคาจริง 10 ล้านบาท ภายหลังถูกจับได้ แล้วศาลตัดสินว่ามีความผิด ก็เกิดข้อถกเถียงว่าต้องริบทรัพย์ 25 ล้านบาท หรือส่วนที่เกินมา 15 ล้านบาท ที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินใจริบทรัพย์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า หากริบเฉพาะ 15 ล้านบาท ข้าราชการคนดังกล่าวจะไม่ถูกลงโทษเลย”

4. “ก.ตร.” หักหน้า “นายกฯ” ไม่ทบทวนมติอุ้ม 3 ตร. ด้าน “ก.ม.ม.”ขู่เคลื่อนไหว หากส่งศาล รธน.ตีความอำนาจ ป.ป.ช.!

นายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) ประกาศ หาก ครม.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจ ป.ป.ช. พรรคฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้าน
ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) มีมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี ไม่ผิดวินัยกรณีปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และกรณีปล่อยให้กลุ่มเสื้อแดงทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการพลิกหรือกลับมติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลว่า ตำรวจทั้งสามผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ก.ตร.ได้มีมติให้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลความผิดหรือไม่ กระทั่งกรรมการ ป.ป.ช.บางท่านได้ออกมายืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัย และว่า ก.ตร.ไม่มีอำนาจกลับมติของ ป.ป.ช. ทำได้เพียงลดระดับโทษเท่านั้น เช่น ผู้อุทธรณ์ขอให้ ก.ตร.ลดระดับโทษจากไล่ออก เป็นปลดออก เป็นต้น ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันเช่นกันว่า ก.ตร.ไม่มีอำนาจกลับมติ ป.ป.ช.เพราะกฤษฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้ว พร้อมแจ้งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร. แจ้งให้ ก.ตร.ทบทวนมติดังกล่าวนั้น

ปรากฏว่า ก.ตร.ได้นัดประชุมเพื่อทบทวนมติอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ม.ค. หลังประชุม พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะโฆษก ตร.เผยว่า “ที่ประชุม ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงเดิมจากครั้งที่แล้ว มีความเห็นเหมือนเดิมว่า การอุทธรณ์ของนายตำรวจทั้งสามนายฟังขึ้น แต่เนื่องจากการพิจารณาเรื่องนี้หมิ่นเหม่เรื่องของข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก.ตร.จึงเห็นควรให้ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่พิจารณาในวันนี้ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและเสนอต่อ ครม.ก่อนส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ...การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น”

พล.ต.ท.พงศพัศ บอกด้วยว่า กรณีที่นายกฯ สั่งให้ ก.ตร.ทบทวนมติ ไม่ใช่การแทรกแซงแต่อย่างใด เพราะนายกฯ เป็นผู้บริหารประเทศสูงสุดอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่มติ ก.ตร.เป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นเช่นนั้น ซึ่งมติ ก.ตร.ก็ไม่ใช่ที่สุด ต้องหารือกันอีก และหากนายกฯ พิจารณาแล้วจะส่งเรื่องกลับมาให้พิจารณาอีกครั้ง ก.ตร.ก็ต้องทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนประชุม ก.ตร. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ได้เข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร.ที่ทำเนียบรัฐบาลนานกว่า 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า ระหว่างประชุม ก.ตร. พล.ต.อ.ปทีป กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อ ก.ตร.มีมติยืนยันมติเดิม ก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ตร.อีกครั้งเพื่อพิจารณารับ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์กลับเข้ารับราชการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนกรณี พล.ต.อ.พัชรวาทนั้น อยู่ที่นายกฯ เป็นผู้พิจารณา เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุม ก.ตร.ดังกล่าว มี ก.ตร.5 คนไม่ได้เข้าร่วมประชุม จาก ก.ตร.ทั้งหมด 15 คน โดยอ้างว่าติดภารกิจ ประกอบด้วย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.อำนวย ดิษฐกวี ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายสมศักดิ์ บุญทอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ ที่ ก.ตร.มีมติว่า 3 นายตำรวจไม่ผิดวินัย พล.ต.อ.วิเชียร ได้งดออกเสียง ขณะที่นายสมศักดิ์ได้เดินออกจากห้องประชุมก่อนลงมติ แต่ในการประชุมครั้งล่าสุด นอกจาก ก.ตร.ทั้ง 5 คนจะไม่เข้าร่วมประชุมแล้ว ในส่วนของ ก.ตร.อีก 10 คนที่เคยลงมติว่า 3 นายตำรวจดังกล่าวไม่ผิด ปรากฏว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีเสียงแตกออกมา 1 เสียง คือ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ของดออกเสียง โดยอ้างว่า ที่ครั้งก่อนลงมติว่าตำรวจทั้งสามไม่ผิด เพราะยังไม่ได้ศึกษาข้อมูล แต่หลังจากศึกษาแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและกฎหมาย ป.ป.ช.ขัดแย้งกันอยู่ จึงงดออกเสียง

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ ก.ตร.เสียงส่วนใหญ่จะยืนยันมติเดิมว่าตำรวจทั้งสามนายไม่ผิดวินัย และจะเสนอให้นายกฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิด แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันอีกครั้ง(16 ม.ค.)ว่า จะไม่ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “ไม่ครับ ผมส่งความเห็นของกฤษฎีกาให้ดูแล้วว่า ไม่มีปัญหาในการตีความ แต่จะต้องดูเหตุผลที่ ก.ตร.จะส่งมาอีกครั้งว่ามีเหตุผลอย่างไร เพราะมติ ก.ตร.จะขัดกับ รธน.ไม่ได้ เรื่องนี้ รธน.ก็เคยมีคำวินิจฉัยของศาลไปแล้ว ในเรื่องการตีความ รธน. ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้”

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร. บอกว่า ก.ตร.ยังยืนยันให้นำผลการวินิจฉัยให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะถือว่าการพิจารณาของ ก.ตร.เป็นไปอย่างรอบคอบ และว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่การวินิจฉัยของ ก.ตร.กับ ป.ป.ช.จะแตกต่างกัน เพราะประเทศไทยมีกฎหมายให้ใช้หลายฉบับ

ด้าน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะหารือเรื่องมติ ก.ตร.ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ พร้อมย้ำว่า หากผู้ถูกชี้มูลรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องต่อศาลปกครองได้ เช่นเดียวกับกรณีนี้ หาก ก.ตร.เห็นว่าควรอุทธรณ์มติของ ป.ป.ช. ก็น่าจะยื่นคำร้องไปยังศาลปกครอง หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ ก.ตร.กลับเปลี่ยนมติของ ป.ป.ช.เสียเอง จึงเกิดปัญหาขึ้น

ด้านแกนนำพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) เช่น นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค และนายสำราญ รอดเพชร โฆษกพรรค ได้เปิดแถลงประจำสัปดาห์ในวันนี้(17 ม.ค.) โดยยืนยันท่าทีของพรรคว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ ก.ตร.มีมติสวนทางกับมติของ ป.ป.ช. และผิดหวังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร.ไม่ได้มีสุ้มเสียงเห็นใจผู้บาดเจ็บล้มตายจากกรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.แม้แต่น้อย ปล่อยให้ ก.ตร.เดินหน้าลงมติสวน ป.ป.ช.อย่างง่ายดาย พร้อมกันนี้ พรรคการเมืองใหม่ขอสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ให้ยืนยันในหลักการเดิมที่บอกว่า มติ ก.ตร.จะลบล้างมติ ป.ป.ช.ไม่ได้ จะขัดกับ รธน. สิ่งที่ทำได้คือการอุทธรณ์เพื่อลดโทษเท่านั้น โฆษกพรรคการเมืองใหม่ ยังประกาศด้วยว่า หากวันใดที่ ครม.ส่งมติ ก.ตร.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของ ป.ป.ช.แสดงว่านายกฯ ไม่รักษาหลักการ หากเป็นเช่นนั้นพรรคการเมืองใหม่จะได้เคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น