xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-6 มิ.ย.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. พันธมิตรฯ จดแจ้งตั้ง “พรรคการเมืองใหม่”แล้ว “สมศักดิ์”นั่ง หน.พรรคชั่วคราว!
สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นจดแจ้งขอตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อ กกต.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข รวมทั้งนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และตัวแทนพันธมิตรฯ จากภาคต่างๆ ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมือง ที่บ้านพระอาทิตย์ หลังประชุม นายสมศักดิ์และนายสุริยะใส แถลงว่า ที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วม 21 คน มีมติเอกฉันท์ว่า ให้ตั้งพรรคชื่อ “พรรคการเมืองใหม่” ชื่อย่อภาษาไทยคือ “ก.ม.ม.” ส่วนชื่อภาษาอังกฤษคือ “New Politics Party”หรือชื่อย่อว่า “NPsP” นายสมศักดิ์ บอกด้วยว่า ที่ประชุมได้เลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชั่วคราวจำนวน 27 คนเพื่อประกอบการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ตนเป็นหัวหน้าพรรค ,นางภินันท์ โชติรสเศรณี และนายสมศักดิ์ อิสมันยี เป็นรองหัวหน้าพรรค ,นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค ,นายพิชิต ไชยมงคล เป็นรองเลขาธิการพรรค ,นางลักขณา ดิษยะศริน เป็นเหรัญญิกพรรค ,นางภาณุมาศ พรหมสูตร เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค ,พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ เป็นโฆษกพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย นายสุทธิ อัชฌาศัย ,นางชญาดา ศริญญามาศ ,น.ส.ฉัตรกุล คำมีอ่อน ,น.ส.อาภารัตน์ ชาติชุติกำจร ,นางกาญจนา กาญจนเสวี ,น.ส.จีรนันท์ อินทร์สุริวงศ์ ,น.ส.พรชุลี คงขวัญ ,นางเสาวนีย์ รุ่งช่วง ,นางชญาบุญ เพชรพรหม ,น.ส.นิตยา กุระคาน ,นายอมรเทพ อมรรัตนานนท์ ,นางเพลินพิศ ทองวน ,นายวิลิต เตชะไพบูลย์ ,น.ส.เสน่ห์ หงษ์ทอง ,นายบรรจง นะแส ,นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ,นายสุทิน ธราทิน ,นายชาลี ลอยสูง และ น.ส.นริศวรรณ ศรีประยูรธรรม ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา บอกว่า รายชื่อทั้งหมดถือเป็นตำแหน่งชั่วคราว หลัง กกต.รับรองการจดทะเบียนตั้งพรรคแล้ว ทางพรรคจะประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนสัญลักษณ์หรือโลโก้ของพรรค ก.ม.ม. เป็นมือสีเหลืองประสานกัน 4 มือ ลักษณะคล้ายกังหัน มีหัวใจสีเหลือง 4 ดวงอยู่ตรงกลาง อยู่บนพื้นสีเขียว พร้อมชื่อพรรคทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สำหรับสีของพรรค คือสีเขียวและเหลือง โดยสีเขียวหมายถึง ธรรมะ คือเป็นการเมืองที่ใช้ธรรมนำหน้า มือสีเหลือง 4 มือ หมายถึง มือของประชาชนที่ยึดมั่นในธรรมจากทุกภูมิภาค ทุกภาคส่วน และทุกสาขาอาชีพ มาร่วมกันโอบอุ้มและลงมือทำการเมืองใหม่ด้วยมือประชาชน ส่วนหัวใจสีเหลือง หมายถึง ศูนย์กลางจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ยึดมั่นในธรรมและราชบัลลังก์ สำหรับหัวใจ 4 ดวง หมายถึง การมีหัวใจที่แน่วแน่ยึดมั่นอุดมการณ์ด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีความสามารถ ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ได้เดินทางเข้ายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อ กกต.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.เวลา 09.09น. ซึ่งนายสมศักดิ์ บอกว่า การใช้ชื่อพรรคการเมืองใหม่นั้น ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องขึ้นกับ กกต.ที่จะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง และว่า นโยบายของพรรค เน้นการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเรื่องความยุติธรรม ศีลธรรม การกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น การให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และต้องมีการกระจายอำนาจ ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เผยว่า ที่ประชุม กกต.ได้รับทราบการขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว และ กกต.จะทำการตรวจสอบก่อนมีมติว่าจะให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองได้หรือไม่ภายใน 30 วัน ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงหลังประชุมเรื่องการตั้งพรรคการเมืองและชื่อพรรคเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ว่า ผลการประชาพิจารณ์ขอฉันทามติจากที่ประชุมสภาพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.ที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคนั้น ได้มีการสอบถามด้วยว่า เห็นควรว่าใครควรเป็นหัวหน้าพรรคมากที่สุด และหากไม่ใช่ 5 แกนนำพันธมิตรฯ แล้วจะเป็นใคร ซึ่งมีผลที่ได้จัดอันดับไว้ 10 อันดับแรก คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะแถลงผลสำรวจจากแบบสอบถาม 55,000 ชุดได้ และว่า จากการตรวจสอบทางกฎหมายของ 5 แกนนำพันธมิตรฯ ไม่พบว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ เผยว่า การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ เป็นมิติทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเกิดจากอุดมการณ์ของประชาชนที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากกลุ่มทุนที่ตั้งพรรคการเมืองเช่นในอดีต ที่หลังจากเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว ก็พยายามทุกวิถีทางในการถอนทุนคืน ทำให้กลายเป็นธุรกิจการเมืองเช่นทุกวันนี้ นายสนธิ ยังชี้ด้วยว่า การที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคขึ้นมาสู้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้พรรคอื่นเร่งปรับตัว และว่า พรรคของพันธมิตรฯ จะแสดงให้พรรคอื่นดูว่า การเข้ามาทำงานการเมืองแบบโปร่งใสเป็นอย่างไร และถึงเวลาแล้วที่การเมืองเก่าควรจะหมดไปจากบ้านเมืองเสียที อย่างไรก็ตาม นายสนธิ บอกว่า หากเมื่อใดพรรคการเมืองใหม่ปฏิบัติตัวไม่เป็นไปในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง พันธมิตรฯ ก็จะถอยตัวออกห่างทันที เพราะพันธมิตรฯ สำคัญกว่าพรรคการเมืองแน่นอน และจะคอยควบคุมการทำงานในส่วนของพรรคอย่างเคร่งครัด นายสนธิ ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ได้ยึดติดตำแหน่ง ถ้าจะมีบทบาทอะไรในพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่สำคัญ พร้อมย้ำ ส่วนตัวไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในการดำรงตำแหน่งใดใด “ในส่วนตัวผม เรื่องข้อกฎหมายนั้นไม่มีปัญหาใด ทั้งคดีหมิ่นประมาท ที่ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งถือว่ายังไม่มีความผิด ส่วนคดีล้มละลายนั้น ในส่วนของตนไม่ใช่การล้มละลายแบบทุจริต ซึ่งผ่านพ้นการบังคับทางกฎหมาย 3 ปีแล้ว ส่วนนี้จึงตกไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าจะมีหลายฝ่ายโจมตีผมในหลายเรื่องที่จะเข้ามารับตำแหน่งในพรรคนั้น ผมอยากบอกว่า ไม่กลัวว่าใครจะโจมตี ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันได้เจอมาหมดแล้ว ซึ่งมาถึงจุดนี้ คงไม่มีอะไรต้องกลัว” ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ และ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงแนวโน้มการย้ายพรรคมาอยู่พรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ (3 มิ.ย.)ว่า เป็นมารยาททางการเมือง จะพูดเมื่อถึงเวลาสมควร ขณะนี้ตนยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสและเสรีภาพกับตนมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคก็มีจุดยืนซื่อสัตย์สุจริต เป็นแบบอย่างของสังคมได้ และว่า ตนไม่เคยไปร่วมแถลงก่อตั้งพรรคของพันธมิตรฯ แต่เจตนารมณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เพื่อจะร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ดี ต่อสู้แข่งขันกับพรรคที่เลว เราจะเป็นมิตรกับพรรคที่ดี โดยจะร่วมมือกับพรรคที่สร้างสรรค์อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูบูรณะบ้านเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นพรรคเดียวกัน ส่วนท่าทีของแกนนำ นปช.ต่อการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ นั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมาพูดเหน็บแนมว่า การตั้งพรรคของพันธมิตรฯ สะท้อนว่า ถึงเวลาเสียทีว่า ผู้วิเศษที่เคยอยู่บนเวทีพันธมิตรฯ นั้น จะมีรูปลักษณ์การเคลื่อนไหวและดำเนินการทางการเมืองอย่างไร และว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ต่อไปจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อพรรคการเมืองใหม่และผลักดันหัวหน้าพรรคตัวเองเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะขณะนี้แกนนำพันธมิตรฯ ได้เข้าไปมีตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารและร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่แทบทั้งสิ้น รวมถึงสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ ASTV ผู้จัดการ และเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ ที่เคยบอกว่าตัวเองเป็นสื่อเลือกข้าง ก็ต้องแสดงสถานะให้ชัดเจนว่า เป็นสื่อเลือกพรรคด้วยหรือไม่

2. “สุเทพ-เนวิน”ส่อเกี้ยเซี้ยเช่ารถเมล์-ดันเข้า ครม. แล้วตีกลับ ยื้อเวลาศึกษา 1 เดือน ด้าน “ปู่ชัย”การันตี โครงการนี้ไม่มีโกง!
กระแสคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์จากหลายภาคส่วนในสังคม
ความคืบหน้ากรณีนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน พยายามดันโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ของ ขสมก.เข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 3 มิ.ย. หลังถูกที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ตีกลับให้ไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาทางลดวงเงินโครงการ แล้วค่อยเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ โดยนายโสภณได้ข้อยุติหลังหารือกับกระทรวงการคลังแล้วว่า จะลดวงเงินโครงการนี้จาก 6.9 หมื่นล้าน เหลือ 6.7 หมื่นล้าน แต่ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาบอกก่อนเดินทางไปประเทศเกาหลีว่า โครงการเช่ารถเมล์ไม่น่าจะเข้าที่ประชุม ครม.ได้ทันในวันที่ 3 มิ.ย. เพราะสำนักงบประมาณและสภาพัฒน์กำลังดูอยู่ ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่นายโสภณ ส่งสัญญาณว่าเรื่องดังกล่าวต้องเข้า ครม.วันที่ 3 มิ.ย.เพราะครบกำหนด 2 สัปดาห์ที่ให้ตนไปหารือกับกระทรวงการคลังแล้วนั้น ปรากฏว่า มีรายงานว่า แกนนำพรรคภูมิใจไทยได้ยื่นคำขาดกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากโครงการเช่ารถเมล์ไม่ผ่าน ครม. พรรคภูมิใจไทยจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ร้อนถึงพรรคประชาธิปัตย์ ต้องมอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคฯ ไปหารือกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขวางโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายโสภณ ได้ออกมายืนยัน(2 มิ.ย.)ว่า แม้โครงการไม่ผ่าน พรรคก็ไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล “จะไปถอนทำไม ใครก็อยากเป็นรัฐบาลกันทั้งนั้น ยังอยากเป็นรัฐบาลอยู่ สีทนได้” นายโสภณ ยังบอกด้วยว่า ได้มีการปรับลดวงเงินโครงการนี้ลงอีก จาก 6.7 หมื่นล้าน เหลือ 6.4 หมื่นล้าน พร้อมยืนยัน ไม่ได้ปรับลดเพื่อหวังให้โครงการผ่าน ครม. แต่ปรับตามข้อเท็จจริง โดยตัดค่าความเสี่ยงโครงการ 3% ออกตามความเห็นของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ขณะที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาส่งสัญญาณกดดันให้ ครม.วันที่ 3 มิ.ย.ต้องพิจารณาโครงการเช่ารถเมล์ พร้อมผ่านโครงการดังกล่าว โดยบอก หาก ครม.เลื่อนวาระหรือไม่อนุมัติโครงการเช่ารถเมล์ จะต้องมีเหตุผลอธิบายว่าเป็นเพราะอะไร นายชวรัตน์ ยังปฏิเสธกรณีที่พรรคภูมิใจไทยถูกมองว่าพยายามผลักดันโครงการดังกล่าว เพราะต้องการหาเงินไว้เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยนายชวรัตน์หัวเราะก่อนตอบว่า “ทำให้ประชาชน ไม่ได้ทำให้พรรค เรื่องเลือกตั้งเรามีคนบริจาคให้พรรคเยอะแยะอยู่แล้ว” ด้านนายประมวล เอมเปีย ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดถึงโครงการเช่ารถเมล์(1 มิ.ย.)ว่า นายกฯ ต้องพิจารณาให้ดี เพราะประชาชนสงสัยว่าใครจะเข้ามากอบโกย ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้พรรคร่วมขี่คออยู่ โครงการไหนไม่โปร่งใส ก็ตีตกไป อย่าไปเกรงใจ...เพราะถ้าไปยอม สุดท้ายก็จะเป็นรอยด่างกับพรรค ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการนายกฯ (เนื่องจากนายกฯ เดินทางไปประเทศเกาหลี) ได้เซ็นอนุมัติให้บรรจุเรื่องเช่ารถเมล์เข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 มิ.ย. หลังนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย เดินทางเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อบ่ายวันที่ 2 มิ.ย. โดยก่อนเซ็นอนุมัติ นายสุเทพได้รายงานให้นายอภิสิทธิ์ทราบแล้ว ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยในช่วงค่ำวันเดียวกัน(2 มิ.ย.)ว่า การที่ ครม.ให้นำโครงการดังกล่าวกลับไปทบทวน ก็เพื่อต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ และว่า หากตอบคำถามได้ ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ ทั้งนี้ หลายภาคส่วนในสังคมได้ออกมาคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน เช่น กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. โดยเปิดแถลง(2 มิ.ย.)ว่า โครงการดังกล่าวส่อทุจริตแน่นอน พร้อมเชื่อ ส.ว.ทั้ง 150 คนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ จึงอยากให้รัฐบาลตรวจสอบให้ดี และว่า รธน.มาตรา 57 บัญญัติว่า เรื่องใดที่มีผลกระทบในวงกว้าง รัฐบาลต้องทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเบื้องต้น โครงการเช่ารถเมล์จะทำให้พนักงานขายตั๋วต้องตกงานทันที 8,000 คน ขณะที่คนขึ้นรถเมล์อีกหลายหมื่นคนคงได้รับผลกระทบด้วย นายไพบูลย์ ยังชี้จุดที่ส่อทุจริตของโครงการนี้ด้วยว่า จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ค่าเช่ารถเมล์ 4 พันคันควรจะถูกกว่าที่กระทรวงคมนาคมกำหนดประมาณ 2.6 หมื่นล้าน ขณะที่ค่าซ่อมที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้ที่ 2,250 บาทต่อคันต่อวัน ก็เป็นค่าซ่อมสำหรับรถที่อายุใช้งาน 10 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ค่าซ่อมตั้งแต่ปีแรกของรถใหม่ โดยค่าซ่อมปีแรกของรถใหม่เพียงแค่ไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น หากเฉลี่ย 10 ปี ก็ไม่เกิน 1,200 บาทต่อคันต่อวัน ผลต่างของค่าซ่อมรถ จึงอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่กระทรวงคมนาคมคาดว่า ขสมก.จะได้รับคือวันละ 11,244 บาทต่อคันนั้น นายไพบูลย์ ชี้ว่า ปัจจุบันรายรับของ ขสมก.อยู่ที่วันละ 6,146 บาทต่อคันต่อวันเท่านั้น หากยังดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้ ขสมก.ขาดทุนถึง 3,660 บาทต่อคันต่อวัน หาก 4,000 คัน ก็จะขาดทุน 52,704 ล้านบาท ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และ 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.เตือนรัฐบาลว่า หากอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์ ส.ว.ทั้ง 150 คนจะไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทให้ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ก็ชี้ว่า การกำหนดทีโออาร์ในโครงการเช่ารถเมล์ส่อล็อคสเปคให้บริษัทพวกพ้องหรือไม่ เพราะคงมีไม่กี่บริษัทที่แข่งขันได้ และว่า ต้องตรวจสอบว่า บริษัทที่ประมูลได้ มีใครเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น มีนอมินีหรือไม่ นายเรืองไกร ยังเปรียบเทียบด้วยว่า ต้นทุนรถเมล์ที่จะเช่าน่าจะพอๆ กับรถเมล์เหลืองปรับอากาศที่นำเข้าจากจีนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นมูลค่าโครงการไม่น่าจะเกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า แค่ 2-3 ปี บริษัทที่ให้เช่ารถ 4 พันคันก็คุ้มทุนแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 7 ปีมีแต่กำไร ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย(นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค) ได้ออกมาขู่รัฐบาล(2 มิ.ย.)ว่า “หากนายอภิสิทธิ์หน้ามืดให้โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันผ่าน ครม. คณะทำงานของพรรคจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบสวน และหากเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเมื่อไหร่ ก็จะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทันที” เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์ ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ยังไม่กล้าอนุมัติโครงการดังกล่าว โดยตีกลับให้ไปทบทวนใหม่ใน 1 เดือนว่าควรจะใช้วิธีเช่าหรือซื้อรถ 4 พันคัน แบบไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นเจ้าภาพพิจารณา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เผยว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการซื้อมากกว่าเช่า เพราะถูกกว่าแน่นอน แต่ก็ยังห่วงเรื่องการซ่อมบำรุง เพราะหากค่าซ่อมยังมีลักษณะอย่างที่เป็นอยู่ กว่าจะถึง 10 ปีตามอายุการเช่า ก็อาจจะแพงกว่า จึงต้องให้ สศช.ไปศึกษาว่าซื้อหรือเช่าจะดีกว่ากัน ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ยืนยันว่า จุดยืนของกระทรวงฯ คือเช่าดีที่สุด ขณะที่นายปิยะพันธ์ จำปาสุต ประธานบอร์ด ขสมก.ที่ก่อนหน้านี้ออกมาหนุนโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน โดยอ้างว่า ถ้าไม่มีโครงการนี้ หนี้สะสมของ ขสมก.จะเพิ่มจาก 6.7 หมื่นล้าน เป็น 1 แสนล้านในไม่กี่ปีข้างหน้า ก็ได้ออกมาชี้ว่า การเช่าดีกว่าซื้อ เพราะเอกชนจะเข้ามาบริหารจัดการด้านการซ่อมให้ด้วย ซึ่ง ขสมก.ไม่มีความชำนาญด้านนี้ ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลง(3 มิ.ย.)คัดค้านโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน โดยบอกว่า จะไม่ยอมให้ประเทศชาติถูกปล้นโดยผ่านโครงการที่เรียกว่า เช่ารถมาซ่อม ซึ่งเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชน 6 หมื่นกว่าล้านบาท และว่า จะทำทุกวิถีทาง โดยจะร่วมมือกับ ส.ว.และภาคประชาชน เพื่อไม่ให้มีการปล้นชาติอย่างเอิกเกริกผ่านการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากแกนนำพรรคภูมิใจไทยว่า เบื้องหลังการบรรจุเรื่องเช่ารถเมล์เข้าที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. รวมทั้งการให้มีการตีกลับเพื่อไปศึกษาว่าควรใช้วิธีซื้อหรือเช่านั้น เกิดจากการที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้ยื่นคำขาดให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องเช่ารถเมล์เข้า ครม. ไม่เช่นนั้นจะเดือดร้อน เพราะการไม่นำเข้า ครม.จะทำให้พรรคภูมิใจไทยเสียหน้า ดังนั้นจึงตกลงกันว่า เมื่อเข้า ครม.แล้วจะให้ตีกลับ ให้มีการศึกษาใหม่ใน 1 เดือน เพื่อจะได้ไม่มีใครเสียหน้า ก่อนที่จะนำเข้า ครม.อีกครั้งในต้นเดือน ก.ค. เพื่อให้กระทรวงคมนาคมได้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงรายละเอียดของโครงการ และเป็นการลดแรงกดดันจากสังคมด้วย ด้านนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้ออกมาพูดถึงโครงการเช่ารถเมล์ที่ ครม.ตีกลับให้ไปศึกษาว่าจะใช้วิธีเช่าหรือซื้อดีว่า เชื่อว่าการเช่าดีกว่าซื้อ พร้อมยืนยัน โครงการนี้เป็นการช่วยรากหญ้าและแก้ปัญหาทุจริตใน ขสมก. และว่า คนที่คัดค้านโครงการนี้เป็นคนที่ไม่เคยขึ้นรถเมล์ ส่วนที่มีพนักงาน ขสมก.ออกมาคัดค้าน อาจเป็นคนที่เสียผลประโยชน์ นายเนวิน ยังยอมรับด้วยว่า เรื่องเช่ารถเมล์ไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรืองบประมาณเท่านั้น แต่หมายถึงคะแนนเสียงใน กทม.ที่พรรคภูมิใจไทยจะได้มากขึ้นด้วย ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ และบิดาของนายเนวิน ก็ได้ออกมาช่วยการันตีว่าโครงการเช่ารถเมล์ไม่มีการโกงกิน “เรื่องเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ก็เหมือนกับการหาข้าวสารใส่หม้อ ซึ่งยังไม่ได้มีอะไร เพียงแค่พรรคภูมิใจไทยถือหม้อมามีแต่น้ำ กำลังหาข้าวสารคือค่าโดยสารจากประชาชน แต่ปรากฏว่ายังไม่มีอะไร แล้วก็มาหาว่าโกงคอร์รัปชั่นกันแล้ว บ้านเมืองจะไปกันใหญ่ ควรจะสมานฉันท์รอมชอมกัน”

3. ศาล รธน. ชี้ “พ.ร.ก.กู้เงิน” ไม่ขัด รธน. ด้าน “วิป รบ.”จี้ ครม.คุมเข้มเสียง ส.ส.-หวั่นคว่ำกลางสภา ต้องลาออกทั้งยวง!
ชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อลงมติกรณีที่ประธานสภาฯ ส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เป็นไปตาม รธน.มาตรา 184 วรรค 1 และวรรค 2 หรือไม่ หลังใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แจกเอกสารข่าวสรุปคำวินิจฉัยเผยแพร่แทนการแถลงข่าว โดยคำวินิจฉัย ระบุว่า คณะตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นการตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตาม รธน.มาตรา 184 วรรค 1 เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมิให้ตกต่ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตาม รธน.มาตรา 184 วรรค 2 อีกทั้งไม่เห็นว่า ครม.ตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการ รธน. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนเห็นตรงกันว่า พ.ร.ก.ที่ตราขึ้นไม่ขัด รธน.แต่อย่างใด ทั้งนี้ คณะตุลาการฯ ยืนยันด้วยว่า การวินิจฉัย พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงกระแสการเมือง แต่มองสภาพปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ที่ไทยได้รับผลกระทบด้วย จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ เผยว่า หลังจากนี้ กระทรวงการคลังจะต้องนำ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านเข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อให้การรับรองในวันที่ 15-16 มิ.ย. หลังจากนั้น กระทรวงการคลังจึงจะสามารถกู้เงินได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ยืนยัน รัฐบาลได้เตรียมข้อมูลพร้อมสำหรับชี้แจงให้สมาชิกทราบในการประชุมสภาวันที่ 15 มิ.ย.แล้วว่า จะนำเงิน 4 แสนล้านไปใช้ในโครงการใดบ้าง คาดว่าจะใช้เวลาอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินเพียงวันเดียว ส่วนวันที่ 16 มิ.ย.จะเป็นการพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้าน ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.คงอภิปรายไม่มาก เพราะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณารายละเอียดอยู่แล้ว นายชินวรณ์ เผยด้วยว่า การประชุมสภาครั้งนี้ ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีช่วยควบคุมเสียงของสมาชิกที่แต่ละคนดูแลด้วย เพราะหากการลงมติไม่ผ่าน ครม.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เนื่องจากเป็น พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังประธานคณะกรรมาธิการของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า ให้งดการเดินทางไปดูงานต่างประเทศในช่วงที่มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่วนท่าทีของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านขัด รธน.หรือไม่ ปรากฏว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ขัด รธน. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้พรรคเสียหน้า เพราะพรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบแทนประชาชน และว่า การกระทำของพรรคไม่ถือว่าเป็นการเตะถ่วง และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางการเมือง เพราะ รธน.มาตรา 185 เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลชี้แจงเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านในสภาไม่ชัดเจน พรรคคงไม่เห็นด้วยที่จะให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่านสภา เพราะหลายโครงการไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แท้จริง แต่เป็นการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้าชี้แจงได้ชัด ฝ่ายค้านก็พร้อมที่จะให้ผ่าน และคงไม่ผนึกกำลังกับ ส.ว.เพื่อล้ม พ.ร.ก.ฉบับนี้ ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาผุดประเด็นใหม่หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านไม่ขัด รธน.มาตรา 184 ว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวอาจขัด รธน.มาตรา 169 “จากที่ได้ศึกษาเห็นว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.จงใจขัดต่อ รธน.เพราะเท่ากับไปล้มกฎหมายตามมาตรา 169 ดังนั้นผมจะหารือกับคณะทำงานเพื่อพิจารณายื่นถอดถอน ครม.ตามมาตรา 270 ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่ง ป.ป.ช.ต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า ก่อนจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 15-16 มิ.ย.” ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน พร้อมยืนยัน จะไม่อนุมัติให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจออกกฎหมายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา

4. “วิสิฐ” ชิงลาออกจากเลขาฯ กบข. คาด หนีความผิด ด้าน “ป.ป.ท.-กบข.”ยังเดินหน้าสอบต่อ!
วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) ได้สรุปผลเบื้องต้นว่า การบริหารของ กบข.น่าจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักบริหารที่ดี จึงขาดทุน โดยผู้ที่อยู่ในข่ายปฏิบัติงานผิดพลาด คือ เลขาธิการ กบข.และพนักงาน กบข.อีก 6 คน รวมทั้งคณะกรรมการหรือบอร์ด กบข. 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. ซึ่งคณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.ระบุว่า มีความผิดทั้งในแง่จรรยาบรรณ วินัย และอาญา เพราะได้ทำการซื้อหุ้นส่วนตัวและเป็นหุ้นตัวเดียวกับที่ กบข.ลงทุน โดยไม่ขออนุญาตและไม่รายงานให้ กบข.ทราบ แถมยังซื้อขายหุ้นในลักษณะดักหน้าดักหลังการซื้อขายของ กบข.หลายต่อหลายครั้ง ส่อว่าใช้ข้อมูลวงในเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหุ้นส่วนตัว ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้นัดประชุมคณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.ในวันที่ 3 มิ.ย.โดยอาจส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดผู้บริหาร กบข.ต่อไปนั้น ปรากฏว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ยืนยันว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำผิดหรือหาประโยชน์จาก กบข.แต่อย่างใด ทั้งนี้ การลาออกของนายวิสิฐ ถูกมองว่าเป็นการชิงลาออกเพื่อหนีความผิดทางวินัย ซึ่งมีโทษถึงขั้นเลิกจ้าง อีกทั้งถ้านายวิสิฐไม่ลาออก ก็จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กบข.ได้ถึงเดือน ส.ค.นี้เท่านั้นก็จะครบวาระ ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รักษาการปลัดกระทรวงการคลัง และรักษาการประธานบอร์ด กบข.บอกว่า ได้รับหนังสือลาออกของนายวิสิฐเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. และว่า การลาออกถือเป็นอำนาจการพิจารณาของบอร์ด จึงต้องเรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 1 ในบอร์ด กบข. บอกว่า ได้รับแจ้งว่าจะมีการประชุมบอร์ด กบข.ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ และว่า ขณะนี้การลาออกของนายวิสิฐถือว่ายังไม่มีผล เพราะตามหลักเกณฑ์ต้องมีระยะเวลาที่กำหนดว่าอย่างน้อยกี่วัน ดังนั้น บอร์ดจะหารือว่าจะอนุมัติการลาออกโดยมีข้อยกเว้นหรือไม่ หรือจะยังไม่อนุมัติ เพราะนายวิสิฐยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบการกระทำผิด ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง บอกว่า แม้นายวิสิฐจะลาออกจากตำแหน่ง ก็ยังต้องถูกพิจารณาผลทางวินัยด้วย หากมีความผิดขัดต่อกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาความผิด ส่วนผลการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับคณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.นั้น ปรากฏว่า ยังไม่มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการกับผู้บริหาร กบข.แต่อย่างใด เนื่องจากนายวิสิฐได้ขอโอกาสชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบ ขณะที่นายพีระพันธุ์ก็ได้สั่งให้ ป.ป.ท.สอบเชิงลึกอีกหลายประเด็น เช่น การซื้อหุ้นบริษัท ยานภัณฑ์ 200 ล้านบาทแบบไม่ปกติ อาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล รวมทั้งกรณีที่บอร์ด กบข.ไม่เป็นผู้ตัดสินใจลงทุนเองตามที่กฎหมายกำหนด กลับตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการแทน จึงต้องเชิญบอร์ด กบข.มาชี้แจงด้วยว่า มีเจตนาทุจริตหรือไม่ หากไม่มีเจตนาทุจริตก็ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ขณะที่ผลสอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น ซึ่งมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้สรุปผลในลักษณะปกป้องเลขาธิการและบอร์ด กบข.ว่า การลงทุนและการบริหารจัดการกองทุนเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกตามแนวทางการดูแลเงินออมเพื่อการเกษียณอายุราชการของสมาชิกแล้ว ส่วนการขาดทุน เกิดจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเฉพาะกิจ ตรวจสอบพบว่า นายวิสิฐและพนักงาน กบข.6 คน ได้ซื้อขายหุ้นส่วนตัวโดยไม่ได้ขออนุญาต กบข.ก่อนตามระเบียบ ทางบอร์ด กบข.จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบวินัยโดยมีนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 1 ในบอร์ด กบข.สายผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน คาดว่าจะสรุปผลสอบได้ภายใน 1 เดือน หรือภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้

5. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในไทย พุ่งอีก 4 ราย พบ 1 รายติดเชื้อใน ปท.!
ก.สาธารณสุข ต้องปรับแผนเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ 2009 หลังผู้ติดเชื้อหลายรายสามารถผ่านด่านตรวจเทอร์โมสแกนได้
ความคืบหน้าหลังพบคนไทยป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 4 ราย แต่หายเป็นปกติแล้ว โดย 2 รายแรกติดเชื้อจากการเดินทางไปประเทศที่มีการแพร่ระบาด(กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เปิดเผยว่าประเทศใด) ส่วนรายที่ 3-4 ติดเชื้อจากการเดินทางไปประเทศสหรัฐฯ แต่เดินทางคนละเที่ยวบินกัน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงพบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นรายที่ 5 โดยเป็นหญิงอายุ 18 ปี เดินทางกลับจากสหรัฐฯ เมื่อคืนวันที่ 27 พ.ค. หลังส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจ พบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมเฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยดังกล่าวอีก 6 คนที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ทุกรายไม่มีอาการป่วยไข้ ทั้งนี้ 2 วันต่อมา(4 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขได้พบคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 3 ราย โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ แถลงหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์ระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 3 ราย รวมทั้งหมด 8 ราย โดยรายที่ 6 เป็นหญิง อายุ 49 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยรายที่ 4 ซึ่งสามี-ภรรยาคู่นี้เดินทางไปท่องเที่ยวที่สหรัฐฯ ด้วยกัน ส่วนผู้ป่วยรายที่ 7 เป็นลูกชายอายุ 19 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นน่าจะติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย จึงนับเป็นผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศรายแรกของไทย โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ส่วนผู้ป่วยรายที่ 8 เป็นหญิง อายุ 20 ปี เริ่มมีอาการเจ็บคอก่อนเดินทางกลับจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ถึงประเทศไทยวันที่ 1 มิ.ย. เริ่มมีอาการคัดจมูก ไอ จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. พล.ต.สนั่น เผยด้วยว่า เมื่อพบผู้ติดเชื้อในประเทศรายแรกของไทยแล้ว คณะกรรมการฯ จึงต้องปรับแผนการเฝ้าระวังการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข บอกว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ปรับมาตรการดำเนินงานให้เหมาะสม เพราะคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 จะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด และว่า ทิศทางการแพร่ระบาดในทุกประเทศจะมี 3 ระยะ ระยะแรก(สถานการณ์ เอ) มีผู้ป่วยติดเชื้อมาจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ การรักษาทำโดยแยกรักษาให้ยาผู้ที่สัมผัสเท่าที่จำเป็น ระยะที่ 2(สถานการณ์ บี) คือ เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศ มีผู้ป่วยหลายสิบคนหรือไม่เกินร้อยคน การควบคุมจะใช้มาตรการล้อมกรอบ คือ ให้ยาทั้งผู้ป่วยและผู้สัมผัส โดยไม่ต้องตรวจยืนยัน อาจมีการให้หยุดเรียนหรือหยุดงาน เพื่อแยกผู้ป่วยไว้ที่บ้าน เป็นต้น ส่วนระยะที่ 3(สถานการณ์ ซี) มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างในประเทศ มีผู้ป่วยหลายพันหรือหลายหมื่นคน มาตรการที่จะใช้ลดผลกระทบ เช่น เน้นดูเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และให้เฉพาะผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดงาน แทนการหยุดทั้งหมด เป็นต้น นายวิทยา บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องปรับใช้แผนบี เพราะมาตรการคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินใช้ไม่ได้ผล และมีรูรั่ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อหลายรายสามารถผ่านด่านตรวจเทอร์โมสแกนได้(เนื่องจากบางรายมีไข้แค่ต่ำๆ บางรายกินยาลดไข้ ฯลฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น