องค์กรลูกจ้าง ร้องนายกฯ ทวนมติปรับลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ชี้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายจ้างมากกว่า แนะรัฐนำมาตราการดังกล่าวมาใช้เฉพาะรายที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น และต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายทดแทนในส่วนที่ลดลงให้กับลูกจ้างและนายจ้าง ที่หายไปจากกองทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทด้วย
วันนี้ (2 มิ.ย.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ 12 สภาองค์กรลูกจ้าง รวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เข้ายื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อขอให้ทบทวนการปรับลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม มีมติให้ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ขอให้มีการทบทวนมาตรการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาได้ชี้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่สถานประกอบการทุกแห่งในกิจการจ้างงานทุกประเภท ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ มีเพียงบางกิจการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นบางสถานประกอบการได้ฉวยโอกาสเลือกใช้สถานการณ์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างงาน
ส่วนมาตรการปรับลดเงินสมทบจากลูกจ้างและนายจ้างเหลือร้อยละ 3 เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายจ้างมากกว่า เพราะลูกจ้างจะได้รับเงินจากการลดส่งเงินสมทบครั้งนี้ เพียงคนละ 210 บาทถึง 1,800 บาท เท่านั้น ขณะที่นายจ้างจะได้รับผลประโยชน์กว่า 3,600,000 บาท
ฉะนั้น รัฐบาลควรมีการศึกษา สำรวจก่อนว่า มีสถานประกอบการใดที่ได้รับผลกระทบบ้างแล้วถึงจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ และถ้ารัฐบาลได้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับบางสถานประกอบการแล้วนั้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายทดแทนในส่วนที่ลดลงให้กับลูกจ้างและนายจ้าง ที่หายไปจากกองทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่กระทบกับฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในอนาคต
นอกจากนี้ เครือข่าย คสรท.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการขยายระบบงานประกันสังคมให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการประกันการว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ตามข้อเรียกร้อง เท่ากับรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลเอง
ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยืนยันว่า มาตรการนี้ไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน เพราะขณะนี้กระทรวงแรงงานเตรียมร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบใหม่ และชดเชยเงินบำเหน็จที่อาจขาดหายไป ในระยะเวลาที่ใช้มาตรการนี้ โดยนำเงินส่วนที่รัฐบาลจะต้องจ่ายสมทบมาชดเชยให้แก่กองทุนชราภาพทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินเต็มจำนวน เมื่ออายุครบ 55 ปี