ปธ.บอร์ด สปส. เตรียมเคาะลดสมทบกองทุนฯ 2.0-2.5% วันนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระ "นายจ้าง-ลูกจ้าง" ในช่วงวิกฤต ศก. คาดเริ่มประกาศใช้ มิ.ย.นี้ ยันรัฐบาลต้องแบกรับภาระสูงถึง 2 หมื่นล้าน แต่ก็คุ้มค่ากับการถูกเลิกจ้าง 5 แสนคน เตรียมของบเพิ่มอีก 280 ล้านบาท ฝึกอาชีพให้แรงงาน 4.7 หมื่นคน
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปส.วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ประชุมจะมีวาระพิจารณาลดเงินสมทบให้กับลูกจ้าง และนายจ้างในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสุดท้าย หลังนำเข้าพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งบอร์ด สปส.ทุกฝ่ายเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ยังต้องหารือข้อสรุปจำนวนตัวเลขที่จะลดหย่อนอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปลดลงเหลือฝ่ายละร้อยละ 2 จากเดิมที่จ่ายอยู่ร้อยละ 5 ส่วนรัฐบาลจะยังสมทบเหมือนเดิมร้อยละ 2.75
"มาตรการนี้เราต้องการจะช่วยคนไม่ให้ตกงานประมาณ 5 แสนคน แต่หากไม่ลดหรือไม่ทำอะไรเลยกองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับคนตกงานไม่ตำกว่า 1 ล้านคน ประมาณ 30,000 ล้านบาท จริงอยู่การลดเงินสมทบครั้งนี้ สปส.ต้องเสียเงินกองทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากันเมื่อเทียบกันเงินที่เสียไป ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่กระทบต่อกองทุนบำนาญชราภาพ เนื่องจากเป็นเงินกำไรของกองทุนประกันสังคมเท่านั้น"
"คงต้องสรุปได้ในวันนี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอให้นาย ไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณาพร้อมนำสู่ขั้นตอนการร่างกฎกระทรวง หลังจากนั้นจะเสนิให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศใช้ต่อไป"
ทั้งนี้ นายสมชาย คาดว่า คงจะต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน หรือคาดว่า น่าจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2552 นี้ ซึ่งการลดเงินสมทบครั้งนี้จะดำเนินการภายในระยะเวลา 6 เดือนคือตั้งแต่เดือน มิถุนายน-ธันวาคม 2552 หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
นายสมชาย ยังกล่าวงถึงมาตรการในการช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอของบประมาณจำนวน 280 ล้านบาทจากคณะกรรมการการบริหารโครงการต้นกล้าอาชีพ เพื่อดำเนินการฝึกทักษะฝีมือให้กับคนงาน 47,024 คนที่กำลังทำงานในโรงงาน 105 สถานประกอบการที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ส่งออก และบริการต่อเนื่องธุรกิจส่งออก
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือโรงงานไม่ให้ปิดกิจการและประคับประคองไม่ให้มีการเลิกจ้างคนงาน อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นโครงการเริ่มแรกและหากดำเนินการได้ผลจะมีการพิจารณาเสนองบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวในระยะ 2 และ 3 ต่อไป
"ยืนยันว่าเราไม่ได้มั่วข้อมูลเป็นเหตุทำให้โครงการชะลอการเลิกจ้างล่าช้าและไม่ได้ขัดแย้งกับใคร แต่ ข้อมูลโรงงานที่เราส่งไปส่วนมากไม่เข้าข่ายพิจารณาของคณะกรรมการ ที่เน้นโรงงานส่งออก บริการ เป็นต้น หรือบางรายส่งหลักฐานมาไม่ครบ เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ ใบเสียภาษี เป็นต้น ทำให้โครงการไม่ได้รับการพิจารณา แต่ครั้งนี้เราได้รวบรวมข้อมูลครบ มั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน" นายสมชาย กล่าวสรุปทิ้งท้าย