xs
xsm
sm
md
lg

สปส.ฟันกำไร3เดือนแรก6.1พันล้าน ฟุ้งทั้งปีโกยเงินไม่ต่ำกว่า2หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปส. เป็นปลื้ม โชว์ผลงาน 3 เดือนแรกฟันกำไร 6.1 พันล้านบาท สวนกระแสเศรษฐกิจ เผยเตรียมหาลู่ทางลงทุน ใหม่ "อสังหาริมทรัพย์ - สินค้าโภคภัณฑ์ และโครงสร้างพื้นฐาน" เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในอนาคต ฟุ้งทั้งปี ฟันกำไรไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึงสถานะการลงทุนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า แม้เงินกองทุนประกันสังคมจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแต่นโยบายการลงทุนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูงในระดับ 84 - 85% มาโดยตลอด ซึ่งส่งผลให้กองทุนประกันสังคมไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่างจากกองทุนบำนาญในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบในทางลบค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงินลงทุนที่มากขึ้นสำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องขยับขยายเพื่อหาลู่ทางการลงทุน โดยมีรายงานว่าคณะกรรมการประกันสังคมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการลงทุนทางเลือกเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำหนดทิศทางและหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มใหม่ที่กองทุนยังไม่เคยลงทุนมาก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ทั้งนี้การลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มใหม่มีความซับซ้อนหลังจากได้ผลการศึกษาที่ชัดเจนแล้วจำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 - 3ปี ในการปรับกรอบการลงทุนและการจัดเตรียมทีมบุคลากร รวมทั้งระบบงานลงทุนเมื่อมีความพร้อมจึงจะดำเนินการได้

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 588,955 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 464,715 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9.29 ล้านคนทั่วประเทศที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่ายบำนาญชราภาพในปี พ.ศ. 2557 เป็นเงินกองทุนที่ดูแลกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 85,373 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน 38,867 ล้านบาท

นอกจากนี้ เงินลงทุนทั้งหมดแบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน 496,774 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่น ๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 92,181 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของเงินลงทุน

ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนการลงทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีเงินลงทุนมากถึง 588,955 ล้านบาทในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินสมทบสะสม โดยหลังหักค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีแล้ว จากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจำนวน 444,120 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมจำนวน 144,835 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่สำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบการบริหารกองทุน ได้สร้างผลกำไรสะสมจากการลงทุนมากกว่า 1.44 แสนล้านบาท ทำให้กองทุนมั่นคงมากขึ้น สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

สำหรับงวด 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2552 กองทุนประกันสังคมมีรายรับจากการลงทุนจำนวน 6,182 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับจากเงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 5,779 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 403 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งกองทุนมีรายรับจำนวน 5,854 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากองทุนประกันสังคมจะมีรายรับจากการลงทุนในช่วง 3 เดือนแรกมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นเงิน 328 ล้านบาท แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะวิกฤต ประกอบกับตลาดการเงินและการลงทุนยังคงมีความผันผวน ทำให้การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนเพื่อหาดอกผลมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนี้ต่ำกว่า 1.00% ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ที่ 3.00% ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผลกำไรลดลงจากปีก่อนและอาจจะจ่ายเงินปันผลน้อยลง เหตุผลทั้งสองประการข้างต้นอาจจะส่งผลให้กองทุนประกันสังคมมีรายรับจากการลงทุนน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี คาดว่าตลอดปี พ.ศ. 2552 นี้ กองทุนประกันสังคมน่าจะมีรายรับจากการลงทุนเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และกรอบการลงทุนทั้งหมดของกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้กองทุนประกันสังคมลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินกองทุน โดยในการดำเนินการลงทุนนั้น สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการลงทุนตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมฯ และตามแผนการลงทุนประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม โดยจะพิจารณาจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงของการลงทุน และคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนในระยะยาวเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น