xs
xsm
sm
md
lg

ไขปัญหา10ข้อข้องใจการลงทุนของกองทุนประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนประกันสังคมเป็นเงินสะสมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ยังมีท่านผู้ประกันตนจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการนำเงินกองทุนไปลงทุน ขอรวบรวมคำถามยอดนิยมเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนประกันสังคมมาขยายความนะครับ
 1. กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนสะสมเท่าใด
 ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 567,906 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 448,403 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่ายบำนาญชราภาพในปี พ.ศ. 2557 เป็นเงินกองทุนที่ดูแลกรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 82,508 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน 36,995 ล้านบาท
 2. สำนักงานประกันสังคมนำเงินไปลงทุนอะไรบ้าง
 เงินลงทุนจำนวน 567,906 ล้านบาทในปัจจุบัน แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน 477,694 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 90,212 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของเงินลงทุน
  3. สำนักงานประกันสังคมมีหลักเกณฑ์การลงทุนอย่างไร  การลงทุนทั้งหมดของกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นไปตาม ระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้กองทุนประกันสังคมลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของเงินกองทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินกองทุน โดยในการดำเนินการลงทุนนั้น สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการลงทุนตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมฯ และตามแผนการลงทุนประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม โดยจะพิจารณาจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงของการลงทุน และคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนในระยะยาวเป็นสำคัญ
 4. ใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจลงทุน  การลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีลำดับขั้นการตัดสินใจแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
 1. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้การบริหารจัดการลงทุนของกองทุนประกันสังคมเป็นอำนาจของคณะกรรมการประกันสังคมโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
 2. คณะกรรมการประกันสังคม เป็นไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน รวมทั้งมีผู้แทนฝ่ายที่ปรึกษาอีกจำนวน 5 คน คณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำหนดกรอบการลงทุน พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การลงทุน (แผน 5 ปี) และแผนการลงทุนประจำปี รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานด้านการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากมีข้อเสนอการลงทุนใดที่มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อกองทุนประกันสังคมแต่อยู่นอกเหนือแผนการลงทุน จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมเป็นรายกรณี
 3. คณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน กองทุนประกันสังคม ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการประกันสังคม ทำให้การกำหนดนโยบายการลงทุนมีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น โดยคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนชุดปัจจุบันประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการลงทุน และผู้แทนหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนสำนักงบประมาณ, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย
 4. สำนักบริหารการลงทุน เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคม ทำหน้าที่ดำเนินการลงทุนตามกรอบการลงทุนและแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคม โดยจะต้องรายงานการลงทุนต่อคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน และต่อคณะกรรมการประกันสังคม เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ได้ตรวจสอบการจัดการลงทุนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตน
 5. ผลการดำเนินงานปี 2551 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
สำหรับปี พ.ศ. 2551 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่ด้วยนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารที่มั่นคงสูง กองทุนประกันสังคมจึงมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ติดลบ โดยมีรายรับจากการลงทุนจำนวน 24,475 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับจากเงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 22,012 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์จำนวน 2,463 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งกองทุนมีรายรับจำนวน 21,109 ล้านบาท และจะสังเกตุได้ว่ากองทุนมีรายรับจากการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี
  ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับร้อยละ 0.36 ต่อปี โดยคิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขายและเพื่อค้า (มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 40) และร้อยละ 9.40 ต่อปี โดยคิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด (มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 42)
  6. สำนักงานประกันสังคมมีวิธีคำนวณผลตอบแทนอย่างไร เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่ 
  สำนักงานประกันสังคมมีการรายงานผลตอบแทนการลงทุนแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
 1. รายรับจากการลงทุน เป็นการคำนวณรายรับที่เป็นกระแสเงินสดรับจริงจากการลงทุน โดยไม่นับกำไรทางบัญชี ส่วนใหญ่กองทุนมีรายรับจากการลงทุนจากดอกเบี้ยเงินฝากและพันธบัตร เงินปันผลจากหุ้น และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ในปี 2551 ที่ผ่านมา กองทุนมีรายรับจากการลงทุนรวม 24,475 ล้านบาท
 2. ผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชี 40 เป็นการคำนวณผลตอบแทนอย่างเป็นทางการของสำนักงานประกันสังคมที่ต้องรายงานในฐานะหน่วยราชการ โดยวิธีนี้จะคิดราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขาย (Available for Sale) และเพื่อค้า (Trading) ส่วนหลักทรัพย์ที่ถือจนครบกำหนด (Hold to Maturity) จะบันทึกบัญชีในราคาทุน ทั้งนี้ การลงทุนของกองทุนประกันสังคมกว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวและสำนักงานมีนโยบายถือลงทุนจนครบอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพซึ่งเป็นกองทุนระยะยาว การบันทึกตามมาตรฐานบัญชี 40 จึงช่วยให้สำนักงานสามารถบันทึกเงินลงทุนในพันธบัตรในส่วนที่ถือจนครบอายุในราคาทุน โดยไม่ต้องกังวลถึงความผันผวนของราคาพันธบัตรที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่วนหุ้นสามัญนั้น มาตรฐานบัญชี 40 กำหนดให้บันทึกบัญชีตามราคาตลาด  ซึ่งหากคำนวณผลตอบแทนด้วยวิธีนี้ กองทุนประกันสังคมได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน 0.36% สำหรับปี 2551 ที่ผ่านมา
 3. ผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชี 42 เป็นการคำนวณผลตอบแทนโดยคิดราคาหลักทรัพย์ทั้งหมดตามราคาตลาด สำนักงานคำนวณผลตอบแทนด้วยวิธีนี้เป็นการภายในเพื่อใช้เปรียบเทียบตัวเลขกับกองทุนเอกชนอื่นๆ ซึ่งหากคำนวณด้วยวิธีนี้ กองทุนประกันสังคมได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน 9.40% สำหรับปี 2551 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การคำนวณด้วยวิธีนี้ ถึงแม้จะเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ไม่ได้สะท้อนภาระที่แท้จริงของกองทุนประกันสังคม เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนกรณีชราภาพ ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนในพันธบัตรระยะยาว การคำนวณด้วยวิธีนี้จะได้ตัวเลขที่สูงเมื่อราคาพันธบัตรปรับสูงขึ้น แต่ก็เป็นเพียงกำไรทางบัญชี สำนักงานจึงใช้วิธีการคำนวณตามราคาตลาดเฉพาะเป็นการภายในเท่านั้น
 7. กองทุนประกันสังคมมีการลงทุนในหุ้นและหลักทรัพย์เสี่ยงมากน้อยเพียงใด
 จากกรอบการลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินกองทุน สำนักงานประกันสังคมมีการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงเพียงร้อยละ 16 นับว่ามั่นคงมากกว่าที่กรอบการลงทุนกำหนดไว้ โดยหลักทรัพย์เสี่ยงประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้
 -  ตราสารหนี้อื่นๆ (ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ ก. คลังไม่ค้ำประกัน) ร้อยละ 5.21
 -  หน่วยลงทุน (กองทุนต่างประเทศ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) ร้อยละ 4.95
 -  หุ้นสามัญ ร้อยละ 5.73
  8. กองทุนประกันสังคมมีการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่
 สำนักงานประกันสังคมได้แบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีความมั่นคงสูงจำนวน 24,301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.2 ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ เงินสด พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ และตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 14 เป็นการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ BBB ขึ้นไป โดยยังไม่มีการลงทุนหุ้นต่างประเทศในขณะนี้
 9. จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก การลงทุนในต่างประเทศมีกำไรหรือขาดทุนอย่างไร
 ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤต นักลงทุนทั่วโลกพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงแล้วนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง ทำให้ราคาพันธบัตรต่างประเทศที่สำนักงานประกันสังคมลงทุนปรับตัวสูงขึ้น สำนักงานประกันสังคมจึงเป็นผู้ลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตทางการเงิน โดยกองทุนประกันสังคมมีกำไรที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในต่างประเทศจำนวน 222 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินปันผลสะสมอีกจำนวน 145 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคมจึงมีกำไรสะสมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวน 367 ล้านบาท
 10. ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ทำไมไม่นำเงินกองทุนไปให้รัฐบาลกู้ยืม  จากเงินลงทุนจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนใน “พันธบัตรรัฐบาล” และ “พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ” เป็นยอดเงินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งพันธบัตรเหล่านี้เป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจออกจำหน่ายเพื่อกู้เงินจากประชาชนนั่นเอง ดังนั้น กองทุนประกันสังคมจึงได้ให้เงินกู้ยืมกับรัฐบาลไทยแล้ว ผ่านการลงทุนในพันธบัตรต่างๆ มากกว่า 4 แสนล้านบาท
  สำหรับแผนการลงทุนประจำปี 2552 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมนั้น ยังคงมุ่งเน้นให้สำนักงานประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 84 – 85 ของเงินลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ก็คือการให้รัฐบาลกู้ยืมอีกเช่นเดียวกัน
 ข้อมูลจาก : วิน พรหมแพทย์
    รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น