xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพอร์ตกองทุนประกันสังคมแสวงหาแหล่งลงทุนยังเป็นเป้าหมายสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามที่ท่านผู้ประกันตนได้ทราบแล้วว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 567,906 ล้านบาท แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ 84 และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ร้อยละ 16 โดยในปี พ.ศ. 2551 กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 9.40 ต่อปี และมีรายรับจากการลงทุนเป็นกระแสเงินสดจำนวน 24,475 ล้านบาท
 จากยอดเงินลงทุนจำนวน 567,906 ล้านบาทข้างต้น สำนักงานประกันสังคมได้แบ่งลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีความมั่นคงสูงจำนวน 24,301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.2 ของเงินลงทุนทั้งหมด เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตในปีที่ผ่านมา นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรมากขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เงินลงทุนของกองทุนในต่างประเทศจึงมีกำไรสะสมรวม 367 ล้านบาท
   เน้นลงทุนหลักทรัพย์มั่นคงสูง 86%
 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวน 24,301 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ เงินสด พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ และตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 14 เป็นการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ BBB ขึ้นไป โดยยังไม่มีการลงทุนหุ้นต่างประเทศในขณะนี้

เมื่อแบ่งเงินลงทุนตามภูมิศาสตร์ (Country Allocation) จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่สำนักงานประกันสังคมจะนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศเกิดใหม่ โดยประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนมากได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีความมั่นคงสูง) เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น  เมื่อแบ่งเงินลงทุนตามคุณภาพของหลักทรัพย์ (Ratings) จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่สำนักงานประกันสังคมจะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้รับการจัดอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไป โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้อันดับเครดิต AAA ซึ่งเป็นอันดับที่แสดงความมั่นคงสูงสุดมากถึงร้อยละ 65.35 อันดับเครดิต AA ร้อยละ 6.44 อันดับเครดิต A ร้อยละ 9.55 เป็นต้น ในภาพรวม หลักทรัพย์ในต่างประเทศที่สำนักงานประกันสังคมลงทุนมีอันดับเครดิตเฉลี่ยในระดับ AA จัดว่ามีความมั่นคงสูงมากกว่าอันดับเครดิตของรัฐบาลไทย
 
 กำไรสะสม 367 ล้านบาท                                                              
  ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤต นักลงทุนทั่วโลกพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงแล้วนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง ทำให้ราคาพันธบัตรต่างประเทศที่สำนักงานประกันสังคมลงทุนปรับตัวสูงขึ้น วงเงินลงทุนจำนวน 24,301 ล้านบาทข้างต้นจึงมูลค่าตามราคาตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 24,523 ล้านบาท ทำให้กองทุนประกันสังคมมีกำไรที่ยังไม่รับรู้จากการลงทุนในต่างประเทศจำนวน 222 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินปันผลสะสมอีกจำนวน 145 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคมจึงมีกำไรสะสมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวน 367 ล้านบาท
 เป้าหมายหลักคือกระจายความเสี่ยงและแสวงหาแหล่งลงทุน

 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การลงทุนของกองทุนประกันสังคมซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม ได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มต่างๆ ให้มากขึ้น โดยหนึ่งในกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน คือ หลักทรัพย์ต่างประเทศ
 สาเหตุสำคัญที่สำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องทยอยแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจากกองทุนประกันสังคมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีเงินลงทุนแล้วมากกว่า 5 แสนล้านบาท จัดเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และคาดว่าอีก 5 ปีนับจากนี้ กองทุนประกันสังคมจะมีเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท การที่กองทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นต้องกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ที่หลากหลาย และจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดการเงินในประเทศไทยมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับการเติบโตของกองทุนประกันสังคมได้
 เป้าหมายหลักของการลงทุนในต่างประเทศ มีดังนี้
 1. เพื่อการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ซึ่งเป็นหลักสากลในการบริหารกองทุนบำนาญ โดยกระจายเงินลงทุนที่มีอยู่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมและมีความมั่นคงสูง และจากการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ในประเทศไทยและในต่างประเทศมักจะไปในทิศทางตรงข้ามกัน คือมีค่าสหสัมพันธ์ต่ำ (Low Correlation) ดังนั้นจึงทำให้กองทุนมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนโดยรวมจากการลงทุนได้ในขณะที่มีความเสี่ยงลดลง
 
2. เพื่อแสวงหาแหล่งลงทุนที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกองทุน แหล่งลงทุนหลักของกองทุนประกันสังคมคือพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนนำเงินไปซื้อพันธบัตรเหล่านี้เพื่อลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท แต่พันธบัตรที่มีจำหน่ายมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนเงินฝากธนาคารนั้น สำนักงานทยอยลดสัดส่วนลงจนเหลือประมาณ 15,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ (ประมาณ 2% ต่อปี) และจากการที่ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะทยอยลดเพดานการค้ำประกันเงินฝาก ซึ่งจะทำให้เงินฝากธนาคารส่วนที่ไม่ได้รับการค้ำประกันถูกปรับให้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง ในส่วนของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนและหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนนั้น สำนักงานมีนโยบายเข้มงวดในการคัดกรองลงทุนเฉพาะกับกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเท่านั้น หากต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอาจจะทำให้สำนักงานต้องลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพต่ำลงและทำให้กองทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้น 
   บริหารกองทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนมืออาชีพ
  การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดของกองทุนประกันสังคมดำเนินการผ่านกองทุนจำนวนรวม 8 กองทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความชำนาญการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเป็นการจับคู่กันระหว่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยและบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นจากคณะกรรมการคัดเลือก โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในอดีต แผนการลงทุน แผนการป้องกันความเสี่ยง และความเป็นมืออาชีพของทีมงานจัดการกองทุน
 ตัวอย่างรายชื่อบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศที่บริหารกองทุนให้สำนักงานประกันสังคม ได้แก่ BlackRock, Loomis Sayles, Northern Trust, Citigroup, Deutsche Asset Management และ Franklin Templeton
  แผนการลงทุนในอนาคต
 สำหรับแผนการลงทุนในอนาคต คณะกรรมการประกันสังคมได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์5 ปี ซึ่งได้วางกรอบให้สำนักงานประกันสังคมทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการลงทุนทางเลือกอื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤต สำนักงานประกันสังคมจึงได้ชะลอการเพิ่มวงเงินลงทุนในต่างประเทศและอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นและมีจังหวะการลงทุนเหมาะสมจึงจะเสนอคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาเพิ่มวงเงินลงทุนต่อไป
 
 หากนายจ้างหรือผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม  เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา  07.00 – 19.00 น.   
 ข้อมูล :       วิน พรหมแพทย์
               รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น