xs
xsm
sm
md
lg

"BSTAR"โชว์ผลตอบแทนเข้าตา อานิสงส์ดึงเงินลุยบอนด์ในปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.บัวหลวง แจงผลตอบแทนกอง "บัวหลวงออลสตาร์" ติดลบต่ำกว่ากองอื่น เหตุดึงเงินลงทุนกลับมาพักไว้ในตราสารหนี้ในประเทศ ที่มีการคุ้มครองเงินต้นและปลอดภัยสูง หนีความเสี่ยงจากวิกฤตการเงิน-เศรษฐกิจโลก ชูผลการดำเนินงานรอบ 3 เดือน ติดลบเพียง 0.93% ขณะที่ผลงานรอบ 1 ปี ให้ผลตอบแทน -10.88% เหนือ MSCI World Index ที่ติดลบกว่า 42.44%

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้โยกเงินลงทุนส่วนใหญ่ในกองทุนต่างประเทศ กลับมาลงทุนในประเทศแทน เนื่องจากภาวะการลงทุนทั่วโลกมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ การโยกเงินลงทุนดังกล่าว จะดึงกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการคุ้มครองเงินต้นและมีความปลอดภัยสูง

สำหรับ กองทุนเปิดบัวหลวงออลสตาร์ (BSTAR) ก็เป็นหนึ่งในกองทุนต่างประเทศที่เราได้ปรับเปลี่ยนการลงทุนกลับมาในประเทศเช่นกัน เนื่องจากเราเห็นว่าการลงทุนในต่างประเทศ มีความเสี่ยงสูงมาก อีกทั้งยังค่อนข้างผันผวน ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จากการปรับกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าว ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนติดลบไม่มาก และสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนอื่นๆ

"สาเหตุที่กองทุนรวมต่างประเทศของเราให้ผลตอบแทนย้อนหลังมากกว่ากองทุนรวมต่างประเทศกองอื่นๆ เนื่องมาจากเราได้มีการย้ายเม็ดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศที่มีความปลอดภัยสูง จึงทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนBSTARไม่ติดลบมากเท่าที่ควรจะเป็น"นายวศินกล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนเปิด BSTAR ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2551 พบว่า กองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -0.93% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน (MSCI World Index) อยู่ที่ -27.00% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ -4.50% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานMSCI World Index อยู่ที่ -33.80% ส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง1ปีอยู่ที่ -10.88% ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานMSCI World Index อยู่ที่ - 42.44% ในขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -10.90%

ทั้งนี้ กองทุนเปิดบัวหลวงออลสตาร์ (BSTAR) เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Invastment Fund)ที่มีลักษณะเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน(Feeder Fund) ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของโครงการ โดยกองทุนได้รับอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2550 พร้อมทั้งจดทะเบียนกองทุนรวมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ซึ่งมีมูลค่าเงินทุนของโครงการอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2551 อยู่ที่ 149,412,622.10 บาท

โดยกองทุนมีนโยบายเน้นการลงทุนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Feeder Fund) ในหน่วยของกองทุนรวม Citigroup S&P Global STARS 80% Protected Portfolio Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Retail Fund ที่มีนโยบายจะคุ้มครองเงินลงทุนในอัตราร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่สูงที่สุดนับจากวันจัดตั้งกองทุนในสกุล USD โดยจะลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Derivative Contract) เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้รับ อ้างอิงกับผลการดำเนินงานสินทรัพย์อ้างอิงที่บริหารและจัดการโดย Citigroup Global Markit Limited และไม่มีนโยบายเงินปันผล

ก่อนหน้านี้ นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะออกกองทุนเพื่อมารองรับเงินลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่กำลังทยอยครบอายุอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่น่าจูงใจ โดยการลงทุนในประเทศเอง ก็ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงชัดเจน ในขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยในประเทศยังมีอยู่บ้าง แต่นักลงทุนก็ยังกังวลอยู่

โดยในระหว่างนี้เราเองมีกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ที่สามารถรองรับเงินลงทุนในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งกองทุนดังกล่าวเองก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ครบกำหนดไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น นักลงทุนบางส่วนก็โยกเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี บางส่วนก็โยกไปลงทุนต่อในกองทุนกลุ่มธนรัฐที่เปิดขายใหม่ ทั้งกองทุนอายุ 6 เดือนและ 1 ปีที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนชัดเจน ในขณะที่ที่บางส่วน ก็โยกเงินออกไปโดยไม่ได้มีการลงทุนต่อแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ จะทยอยครบอายุอย่างต่อเนื่อง โดยหากในช่วงนี้ยังไม่มีกองทุนที่สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุน หรือจูงใจให้นักลงทุนลงทุนต่อ เราก็จะไม่ฝืนตลาด ถึงแม้จะส่งผลให้เงินไหลออกบ้างเราก็คงห้ามไม่ได้ ทั้งนี้ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ปัจจุบัน (30 ธ.ค. 51 ) ยังเหลืออยู่ทั้งหมด 26 กองทุน คิดเป็นมูลค่ารวม 34,870.68 ล้านบาท โดยในปี 2552 มีกองทุนที่จะครบอายุจำนวน 20 กองทุน มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 31,851.28 ล้านบาท ส่วนกองทุนที่จะครบกำหนดภายในปี 2553 มีจำนวน 6 กองทุน มูลค่ารวม 3,019.40 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีกองทุนบางส่วนครบอายุการลงทุนไปบ้างแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น