กองทุนเอฟไอเอฟคอมมอดิตี้ผลงานย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีเจ๋ง แม้ภาวะการลงทุนผันผวน "ฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้" ครองอันดับ 1 ให้ยิลด์สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 32.95% ขณะที่ 3 กองทุนทองคำ "ทหารไทย โกลด์ ฟันด์ - บีที โกลด์ลิงค์ 2 - บีที โกลด์ลิงค์ 3" ให้ผลตอบแทน 7.53% , 3.92% , 3.62% ตามลำดับ ด้าน 'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' มองราคาทองคำมีโอกาสขึ้นในอนาคต เหตุอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์
รายงานข่าวจากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์มาตราฐาน UBS Global Convertible ที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี -9.47% โดยกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ กองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ของบลจ.ฟินันซ่าที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน UBS (LUX) Structured Sicav – Rogers International Commodity Index เพื่อสร้างผลการดำเนินงานของกองทุนให้มีมูลค่าใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ Rogers International Commodity Index โดยตรง สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีกว่า 23.48% มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 32.95% นอกจากนี้แล้วกองทุนดังกล่าวยังเป็นกองทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีสูงสุดเมื่อเทียบกับกองทุนเอฟไอเอฟทั้งหมดอีกด้วย
อันดับ 2 คือ กองทุนเปิด ทหารไทย โกลด์ ฟันด์ ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำให้มากที่สุด ของบลจ.ทหารไทยสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีกว่า 7.53% มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 17.00%
ส่วนอันดับ 3 และอันดับ 4 ได้แก่ กองทุนเปิดบีที โกลด์ลิงค์ 2 และ กองทุนเปิดบีที โกลด์ลิงค์ 3 ซึ่งลงทุนในตั๋วสัญญาแลกเงินหรือตั๋วสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำ ของบลจ.บีที สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีกว่า 3.92% และ 3.62% มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 13.39% และ 13.09% ตามลำดับ
ขณะที่อันดับ 5 คือ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย โกลเด้น สตาร์ ลิ้งค์ ที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับค่าเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ระหว่างดัชนี Citigroup S&P Global STARS TR Index และดัชนีราคาทองคำ London Gold Market Fixing Ltd PM Fix ของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี -1.18% มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 8.29% และอันดับ 6 คือ กองทุนรวม กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเวสท์ โกลบอล อะกริบิซซิเนส ฟันด์ ของบลจ.เอ็มเอฟซี ที่ลงทุนใน กองทุน DWS Invest Global Agribusiness Fund – FC Share Class (Master Fund) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารแห่งทุนทั่วโลก ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี -1.26% มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 3.82%
รายงานจากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า แม้ในระยะสั้นอัตราผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในทองคำอาจมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาทองคำปรับลดลงมา แต่คาดการณ์ได้ว่าในระยะยาวการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้น่าจะให้ผลตอบแทนในระดับสูงขึ้นไปตามราคาทองคำที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาวเมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน เนื่องมาจากอุปสงค์ในทองคำยังคงมีมากกว่าอุปทานของทองคำที่มีอยู่ในตลาดโลก
โดยข้อมูลสถิติของสภาทองคำโลก ณ เดือนกรกฎาคม ระบุว่า อุปสงค์การลงทุนทั่วโลกในทองคำสูงถึงระดับ 3,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2551 โดยขยับขึ้น 29% จากไตรมาสที่ 2 ปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการลงทุนในทองคำของประเทศสหรัฐฯ จีน อียิปต์ และเวียดนาม แต่อุปทานของการผลิตทองคำกลับมีจำกัดเนื่องจากการสำรวจทองคำใน 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนที่ต่ำกว่าอุปสงค์และแม้ว่าการสำรวจจะมีเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างแต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 7 ปีในการสร้างเหมืองให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตามการลงทุนในทองคำนั้นแม้จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่มีความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาทองคำและอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษานโยบายการลงทุนว่า บลจ. จะทำการบริหารสินทรัพย์และป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง