xs
xsm
sm
md
lg

Commodities Corner:Global Wealth Destruction

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้วนะครับหลังจากที่พายุเศรษฐกิจได้พัดถล่มสถาบันการเงินระดับยักษ์เช่น Citigroup, Merrill Lynch, Goldman Sachs ฯลฯ ให้ล้มระเนระนาด และพาเอาตลาดทุนทั่วทั้งโลกเข้าสู่ช่วงขาลงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินยุคใหม่

สิ่งที่นักลงทุนกำลังเผชิญในตลาดปัจจุบันนั้น เป็นมากกว่า 'วัฏจักรตลาดขาลง' (Bear Cycle) เนื่องจาก 'วัฏจักรตลาดขาลง' ของมูลค่าสินทรัพย์นั้น เป็นสภาวะปกติของตลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 10 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันน่าจะเรียกว่าเป็น 'Global Wealth Destruction' หรือ 'การทำลายความมั่งคั่ง' ครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ในช่วงเกือบๆ 6 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก สูญเสียมูลค่าโดยเฉลี่ยไปทั้งหมดราว 35% โดยมีหลักทรัพย์หลายตัวที่สูญเสียกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่เคยมีอยู่ นอกจากนี้ มูลค่าของสินทรัพย์ในกลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ ในหลายๆประเทศ ต่างก็ต้องพบกับอัตราสูญเสียประมาณ 40-50% ของมูลค่าทั้งหมด ในขณะที่ภาวะถดถอยในระดับความต้องการของผู้บริโภค ส่งตลาด Commodity ทั่วโลกเข้าสู่ช่วงขาลงที่รุนแรงไม่แพ้กัน

จากแง่มุมของการลงทุนนั้น ผลขาดทุนที่สูงถึง 40-50% ไม่ใช่ผลขาดทุนที่นักลงทุนสามารถเอากลับคืนมาได้ง่ายๆ โดย สำหรับหลายๆบริษัทนั้น คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่มูลค่าของหลักทรัพย์ดังกล่าว จะสามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่เคยเป็น

ในปัจจุบัน นักลงทุนไม่มีทางออกสำหรับการลงทุนเท่าใดนัก เพราะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการหั่นลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบเป็นศูนย์ของธนาคารกลางในหลายประเทศนั้น ทำลายโอกาสในการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งกลับจะสูญเสียมูลค่าไปตามระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ถดถอยลงไปทุกวัน นอกจากนี้เศรษฐกิจโดยรวมในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย กำลังมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาวะเงินฝืด ซึ่งหมายความว่า มูลค่าทรัพย์สินที่จับต้องได้อื่นๆ ก็จะสูญค่าไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นโยบายการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลในหลายๆประเทศนั้น แม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดตัวลงไปมากกว่านี้ แต่ผลกระทบระยะยาวของนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลรบกวนวัฏจักรการขึ้นลงตามปกติ (Boom & Bust Cycle) ของตลาด กล่าวคือ นโยบายการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อปกป้องระบบเศรษฐกิจเหล่านี้อาจเป็นแค่เพียงการซื้อเวลา เพื่อให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ปรับตัว แต่ไม่ใช่มาตรการที่จะสามารถยับยั้ง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งสำหรับนักลงทุนอย่างเราแล้วหมายความว่า เวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนใน 'ยุคหลังวิกฤต' ที่หลายๆคนรอคอยนั้น ได้ถูกผลักให้ไกลออกไปในอนาคตนั่นเอง

'Wealth Destruction' เป็นการสูญเสียมูลค่าที่เกิดขึ้นกับทุกคน และไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มนักลงทุนเท่านั้น เพราะบุคคลทั่วไปที่ไม่มีพอร์ตการลงทุน ก็ สามารถได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการสูญเสียมูลค่าในตลาดการเงิน ผ่านกองทุนเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนประกันสังคม อีกทั้งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การปรับตัวลดลงของ มูลค่าที่อยู่ ที่ดิน และ สภาวะเศรษฐกิจเงินฝืดที่จะตามมา

ดังนั้น 'Wealth Destruction' จึงไม่ใช่การถ่ายโอนความมั่งคั่งจาก บุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง แต่เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่มีความมั่งคั่งหรือ 'Wealth' อยู่กับตัว

ข้อคิดสำหรับนักลงทุนหลายๆท่านเวลานี้ ก็คือการทำใจปล่อยวางกับผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในอดีต เพราะการมุ่งมั่นที่จะทำกำไรชดเชยกับผลเสียที่เกิดขึ้นในตลาดปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยปราศจากเงินทุนก้อนใหม่ อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่จากนักลงทุนในตลาดยังคงเชื่อว่าสถานการณ์ในตลาดยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปในแนวลบต่อไป ดังนั้น นักลงทุนควรที่จะใช้วิจารณญาณ และ ความระมัดระวังอย่างสูง ในการตัดสินใจลงทุนในขณะนี้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น