xs
xsm
sm
md
lg

การหากำไรจากCommodityในรูปแบบของสถาบันการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถึงแม้ว่าตลาด Commodity ในช่วงท้ายปี 2551 จะเป็นช่วงตลาดขาลงที่ร้ายแรงที่สุดในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา สภาวะตลาดดังกล่าว ควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ก็ไม่ได้ทำให้เหล่านักลงทุนรายใหญ่ และนัก ลงทุนระดับสถาบัน หยุดที่จะมองหาโอกาสสำหรับการลงทุนในตลาด Commodity แม้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ไฮไลต์ที่สำคัญของตลาด Commodity ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านนั้น ก็คงไม่พ้นราคาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX ที่ ปรับตัวลดลงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับราคาสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์ ในปี 51 ถึงระดับราคาต่ำสุด เพียง 32.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ โดยมีการปรับตัวขึ้นลงโดยเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 10% ของมูลค่า ซึ่งนับว่าเป็นอัตราความผันผวนที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับ สมัยที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่ราว 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปีที่แล้ว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดน้ำมันดิบที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวโดยปราศจากปัจจัยพื้นฐานนี้ กลับเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่ที่มากด้วยทุนทรัพย์ สามารถหาผลตอบแทนมหาศาลจากตลาดได้โดยแทบจะไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุนเลย โดยข่าวจากสำนักข่าว Bloomberg เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ รายงานว่านักลงทุนรายสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในตลาดพลังงานอย่าง Morgan Stanley และ Citigroup นั้นกำลังมองหาเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่หลายลำเพื่อนำไปกักตุนน้ำมันเพื่อทำกำไรจากกลไกของตลาดล่วงหน้า

กลยุทธ์การลงทุน ที่นักลงทุนรายสถาบันเหล่านี้กำลังใช้อยู่กับตลาดน้ำมันดิบนั้นเรียกว่า การทำ Carry Trade นั่นเองครับ ซึ่งอาจจะคล้ายๆ กับการทำ Carry Trade ในตลาดปริวรรต เงินตราที่มีการพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ แต่การทำ Carry Trade ของ Commodity คือการหาผล กำไรจากส่วนต่างของสัญญาล่วงหน้าที่มีอายุสัญญาไม่เท่ากัน โดยหากรูปแบบของราคาล่วงหน้า ของสินค้าชนิดหนึ่งมีสภาพเป็นตลาดปกติ (Normal Market) ที่สัญญาใน 'เดือนไกล' (เดือนที่เหลืออายุสัญญามาก) จะมีราคาสูงกว่าสัญญา 'เดือนใกล้' (เดือนที่เหลืออายุสัญญาน้อย) แล้ว นักลงทุนสามารถเปิดสัญญาด้าน 'ซื้อ' ในสัญญาเดือนใกล้ ไปพร้อมๆ กับเปิดสัญญาด้าน 'ขาย' ในสัญญาเดือนไกล และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อสัญญา 'ซื้อ' ในเดือนใกล้นั้นหมดอายุลง นัก ลงทุนรายนั้นก็จะรับมอบสินค้าทั้งหมดจากผู้ขายในตลาดล่วงหน้าแล้วนำไปเก็บไว้ เพื่อรอเวลา ที่จะนำสินค้าดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในตลาดล่วงหน้า เมื่อสัญญาด้าน 'ขาย' ในเดือนไกลนั้นหมดอายุลง

ผู้อ่านจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะมีผลกำไรโดยปราศจากความเสี่ยงในทันทีหากส่วน ต่างของราคาล่วงหน้าระหว่างเดือนใกล้และเดือนไกลนั้นมีความแตกต่างมากพอที่จะชดเชยกับค่าดูแลจัดเก็บสินค้าที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วการทำกำไรจาก Carry Trade ในตลาดล่วงหน้าในตลาดสากลนั้นมักจะมีการส่งมอบสินค้าในปริมาณมากๆ เพื่อที่จะได้คุ้ม กับค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า ซึ่งหมายถึง เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ดังนั้น การลงทุนในลักษณะ Carry Trade ของ Commodity นั้นจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้อย่างจำกัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนระดับสถาบันที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาลแต่เพียงเท่านั้น

สาเหตุที่สถาบันการเงินระดับสากลอย่าง Morgan Stanley และ Citigroup ต้องมาแย่งกันทำสัญญาเช่าเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่กันนั้น เป็นเพราะความผันผวนของราคาน้ำมันดิบใน ช่วงเดือนมกราคม มีผลให้ส่วนต่างของราคาในสัญญาเดือนใกล้ และสัญญาเดือนไกลมีราคา ห่างกันอย่างผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าส่งมอบ เดือนกุมภาพันธ์ 52 มีราคาอยู่ที่ 35.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน กรกฎาคม (6 เดือนถัดมา) ที่ซื้อขายในวันเดียวกันนั้น อยู่ที่ 53.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็น ส่วนต่างที่มากถึง 18 ดอลลาร์ หรือคิดเป็น 50% ของมูลค่าสินค้าเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า นักลงทุนรายใหญ่ที่ใช้ กลยุทธ์ Carry Trade ในวันนั้น จะสามารถหากำไรได้สูงถึง 40-50% ซึ่ง น่าจะสามารถชดเชยค่าจัดเก็บสินค้าได้ทั้งหมด และนักลงทุนแทบจะไม่มีความเสี่ยงจากความ ผันผวนของราคาแม้แต่น้อย แต่ก็แน่นอนว่านักลงทุนรายนั้นจะต้องมีที่สำหรับจัดเก็บสินค้า และ สัญญาล่วงหน้าที่ใช้จะต้องถูกยุติด้วยการส่งมอบสินค้า ซึ่งหมายถึงการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล

แหล่งข่าวจากสำนักข่าว Bloomberg กล่าวว่าในขณะนี้มีเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 25 ลำที่มีการทำสัญญาไว้กับนักลงทุนระดับสถาบัน โดยแต่ละลำนั้นสามารถบรรจุน้ำมันได้ราว 20 ล้านบาร์เรล และมีค่าเช่าเฉลี่ยเพียงประมาณ 0.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพียงเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น