1. แกนนำ “นปช.”ส่อท้าทายศาล-นัดชุมนุมใหญ่อีก ด้าน “ทักษิณ”ออกแถลงการณ์เป็นว่าเล่น ปัดชักใยม็อบ!
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช. ที่หนีหมายจับในคดีก่อความวุ่นวายใน กทม.ไปอยู่ต่างประเทศ โดยชี้ว่า ขณะนี้สื่อต่างประเทศเริ่มเข้าใจในพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณและนายจักรภพ ทั้งเรื่องจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และการยุยงให้มีการใช้อาวุธ ดังนั้นเชื่อว่านานาชาติเริ่มต่อต้านการกระทำดังกล่าว เพราะแทบจะไม่ต่างจากการก่อการร้ายที่ส่งเสริมความรุนแรงทั้งหลาย ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมาตอบโต้นายอภิสิทธิ์ โดยยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการก่อการร้ายตามคำกล่าวหา เพราะการต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยสงบ สันติ และไม่ใช้อาวุธ พร้อมย้ำ สื่อนานาชาติเข้าใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 สมัย และถูกยึดอำนาจไป นายนพดล ยังได้แจกแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณแก่สื่อมวลชน(28 เม.ย.) โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธว่า ตนไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามที่รัฐบาลไทยพยายามโยนความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบิดเบือนความจริงด้วยการอ้างว่า ประชาชนนับหมื่นนับแสนได้พากันชุมนุมประท้วงอย่างสงบและสันติเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อเรียกร้องให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย ไม่เท่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังให้กำลังใจและปลุกให้คนเสื้อแดงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป “เราจะไม่ยอมยุติการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย แม้เราถูกหยุดยั้งโดยภาครัฐ งานของพวกเราก็จะไม่หยุด เพราะเราเชื่อมั่นว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น คือการต่อสู้ที่ถูกต้อง และผมมีความมั่นใจว่า พลังของพี่น้องประชาชนจะต้องชนะและมีชัยด้วยแนวทางสันติ” ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกแถลงการณ์ยืนยันว่าตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธีว่า “พ.ต.ท.ทักษิณคงกำลังสับสน มีปัญหากับความคิดและความจำในสิ่งที่ได้ทำมาจนถึงปัจจุบัน เพราะขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่วันที่ 6-13 เม.ย.มากกว่า 10 ครั้ง พบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายถึง 56 ประเด็น” ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการข่าวกรองแห่งชาติ(ศป.ข.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปแนวโน้มสถานการณ์ด้านความมั่นคงอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.(27 เม.ย.) ว่า 1-2 เดือนจากนี้ไป กลุ่มเสื้อแดงอาจปรับยุทธศาสตร์ใหม่ สร้างเงื่อนไขกดดันรัฐบาลทั้งบนดินและใต้ดินจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย โดยแกนนำในการเคลื่อนไหวยังคงเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนั้นคือ นายจักรภพ เพ็ญแข และคนเดือนตุลาฯ ที่เคยร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการใช้อาวุธ เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารบ้างแล้ว และน่าจะถึงขั้นตั้งกองกำลังติดอาวุธอย่างที่ พคท.เคยทำ ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า การวิเคราะห์ของศูนย์ปฏิบัติการข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกฯ สอดคล้องกับที่นายจักรภพ เพ็ญแข พูดผ่านสื่อต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงจะใช้ยุทธวิธีที่ต่างออกไปในการเผชิญหน้ากับรัฐบาล โดยในจำนวนนั้นรวมไปถึงการโจมตีด้วยอาวุธด้วย ส่วนการเคลื่อนไหวเลียนแบบ พคท.นั้น เริ่มปรากฏให้เห็นจากการเข้ามอบตัวของแกนนำเสื้อแดงบางคนแล้ว นั่นคือ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์(หรือแซ่ด่าน) ผู้ต้องหาคดีบุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา ซึ่งได้เข้ามอบตัวตามหมายจับของศาล ที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 27 เม.ย. โดยนายสุรชัยแต่งชุดอดีตทหาร พคท.อย่างเต็มยศเข้ามอบตัว ทั้งนี้ มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ติดต่อให้คนเดือนตุลาฯ อดีตนักเคลื่อนไหว พคท.เป็นผู้นำมวลชนเสื้อแดงแทนตน ซึ่งนายเอก มงคล เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาพูดถึงข่าวดังกล่าวว่า หลังจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะถูกลดบทบาทลง “ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเปรียบเหมือนกัปตันทีมที่เคยนำทีมพ่ายแพ้มา จะต้องถูกถอดปลอกแขนกัปตันทีมออกไปก่อน แม้จะยังไม่ถึงกับนั่งอยู่ในม้านั่งสำรอง แต่ก็จะไม่มีบทบาทในการนำอีกแล้ว” ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล พูดถึงความเป็นไปได้กรณีกลุ่มเสื้อแดงอาจเคลื่อนไหวเลียนแบบ พคท.ว่า “กลุ่มใดที่กระทำการอยู่ใต้ดินและใช้ความรุนแรง สังคมส่วนใหญ่จะรับไม่ได้ และสุดท้ายก็จะตายไปเอง เหมือนกรณีกลุ่มเขมรแดงในช่วงสุดท้ายที่ขาดแนวร่วมและสลายกลุ่มไปในที่สุด” ส่วนความเคลื่อนไหวของ 3 แกนนำ นปช.นายวีระ มุสิกพงศ์-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-นายจตุพร พรหมพันธุ์ หลังจากได้รับการประกันตัวในคดีก่อความวุ่นวายใน กทม.โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามยุยงหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองซ้ำอีกนั้น ปรากฏว่า ทั้งสามก็ยังไม่ยอมหยุด โดยได้เปิดแถลงข่าว(28 เม.ย.)ว่า “ตราบใดที่ยังไม่มีประชาธิปไตย เสื้อแดงก็ยังคงต่อสู้อยู่” และว่า ขณะนี้กำลังหาสถานที่ที่เหมาะต่อการชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธเช่นเคย คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะนัดชุมนุมได้ พร้อมยืนยัน การนัดชุมนุมไม่ใช่การชุมนุมเคลื่อนไหว แต่เป็นการรวมตัวเพื่อชำระข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา นายวีระ ยังประกาศด้วยว่า สัปดาห์หน้าเชื่อว่า สถานีดีโทรทัศน์ดีทีวีจะเปิดทำการได้ ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณออกแถลงการณ์ให้กลุ่มเสื้อแดงสู้ต่อ กลุ่มเสื้อแดงก็ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช.ถือว่าทำผิดเงื่อนไขของศาลที่ให้ประกันตัวหรือไม่ หากผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจควรยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อถอนประกัน ให้แกนนำ นปช.เหล่านี้กลับเข้าสู่ห้องขังอีกครั้งเพื่อให้เข็ดหลาบ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะกลับไปสู่ความวุ่นวาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงแกนนำ นปช.รุ่น 1 เท่านั้นที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่แกนนำ นปช.รุ่น 2 อย่างนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ต้องหารุมทุบรถนายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย และนายวัชระ แววดำ แกนนำคนเสื้อแดงลาดพร้าว ได้เปิดแถลงนัดชุมนุมวันที่ 6 พ.ค.นี้ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะเดินขบวนไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงคืนสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ ประธานบริษัท ดี สเตชั่น ได้เปิดแถลง(30 เม.ย.)ว่า ตนจะทำหนังสือถึงนายกฯ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ให้คืนสิทธิและเสรีภาพให้กับดี สเตชั่นโดยเร็ว พร้อมขู่ว่า บริษัทเตรียมฟ้องกลับทุกกรณี นายอดิศร ยังประกาศด้วยว่า “ผมจะเปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมขึ้นมาใหม่ ชื่อ นิว ดี สเตชั่น ภายใน 2 สัปดาห์ ...และจะตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเป็นร้อยแห่ง” ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ผู้ต้องหาคดีก่อความวุ่นวายใน กทม.รีบออกมาปฏิเสธว่า การนัดชุมนุมของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขในวันที่ 6 พ.ค.นี้นั้น พวกตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็น โดยในส่วนของพวกตนอยู่ระหว่างเตรียมงานเพื่อนัดหมายคนเสื้อแดงชุมนุมใหญ่เพื่อสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นตกลงกันว่าน่าจะเป็นวันที่ 10 พ.ค. ส่วนสถานที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกแถลงการณ์อีกเป็นฉบับที่ 2 (1 พ.ค.) โดยอ้างว่า มีความพยายามบิดเบือนจากผู้มีอำนาจว่า ตนเป็นผู้นำม็อบเพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง และกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทำไปเพื่อประโยชน์ของตน(พ.ต.ท.ทักษิณ)และครอบครัว “ผมขอยืนยันอย่างชัดเจนว่า แม้ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเดินบนเส้นทางในการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมให้กับคนไทย แต่ผมไม่ได้เป็นผู้ชักใยหรืออยู่เบื้องหลังการชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวายทางการเมืองแต่อย่างใด”
2. “สนธิ”เลื่อนแถลงเปิดใจ หลังมีไข้เล็กน้อย ด้าน “เสธ.มะ”คนสนิท “แม้ว”ไม่ปฏิเสธเอี่ยวคดียิงสนธิ!
ความคืบหน้ากรณีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มรถนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จนได้รับบาดเจ็บพร้อมผู้ติดตามและคนขับรถ โดยนายสนธิ ได้เดินทางออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้วเมื่อวันที่ 25 เม.ย. และนัดแถลงเปิดใจถึงเหตุการณ์ถูกลอบสังหารในวันที่ 1 พ.ค.ที่บ้านพระอาทิตย์ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดนัด นายสนธิมีอาการไข้เล็กน้อย และแพทย์แนะนำให้พักผ่อน จึงได้ขอเลื่อนการแถลงออกไปเป็นวันที่ 3 พ.ค.(เวลา 12.30น.) โดยก่อนหน้าแถลง จะมีการประชุมแกนนำพันธมิตรฯ ด้วย ส่วนความคืบหน้าด้านคดีนั้น หลังจาก พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะชุดสอบสวนคดียิงนายสนธิ ได้พูดทีเล่นทีจริง(25 เม.ย.)ว่า จะจับคนร้ายได้ไม่เกิน 7 วันนั้น ปรากฏว่า ล่าสุด(2 พ.ค.)ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้แต่อย่างใด ด้าน พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผย(26 เม.ย.)ว่า การสืบสวนคืบหน้าไปมากพอสมควร แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเกรงจะกระทบต่อรูปคดี และว่า เจ้าหน้าที่ขอเวลา 1 สัปดาห์ในการสรุปวิถีกระสุนและทิศทางการยิงของคนร้าย ขณะที่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดียิงนายสนธิ ได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยที่ตรวจพบอาวุธปืนสงคราม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) เพื่อตรวจพิสูจน์ว่าเป็นปืนที่ต้องสงสัยยิงนายสนธิหรือไม่ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ธานี ได้นำพนักงานสอบสวนเข้าสอบปากคำนายสนธิเป็นครั้งแรกที่บ้านพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. โดยนายสนธิเผยหลังให้ปากคำว่า เชื่อมั่นและไว้ใจคณะพนักงานสอบสวนชุดที่มี พล.ต.อ.ธานีเป็นหัวหน้าทีม 100% นายสนธิ บอกด้วยว่า เหตุการณ์ลอบยิงตนจะเกี่ยวโยงกับใครไม่ทราบ แต่ปัจจุบัน ตนยึดมั่นในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ไม่เคยกังวลกับเหตุการณ์ใดใด และไม่เคยคิดจะปลีกวิเวกที่ประเทศเนปาลหรืออินเดียตามที่มีข่าวด้วย นายสนธิ ยังพูดถึงวันเกิดเหตุด้วยว่า ตนแขวนพระคุณงามความดี ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ใครก็ตามที่รักชาติ ทุกอย่างจะคุ้มครอง ขณะที่ พล.ต.อ.ธานี พูดถึงกรณีที่มีข่าวว่าตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 คนที่ จ.กาญจนบุรี โดยเป็นทหาร 2 คน และพลเรือน 1 คนว่า ไม่เป็นความจริง โดยยืนยัน ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาใดใดทั้งสิ้น และว่า ตอนนี้มีแต่พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น ส่วนเรื่องผู้บงการหรือผู้ต้องสงสัย ยังไม่พบคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง พูดถึงคดียิงนายสนธิว่า “ส่วนตัวจะไม่เข้าไปกดดันว่าตำรวจต้องทำให้เสร็จภายใน 3 วัน 7 วัน จะปล่อยให้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ยืนยันว่า จะต้องจับตัวคนทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้” ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร จะเป็นคนนอกหรือในกองทัพ ต่างอยู่ภายใต้กฎหมาย ...ผู้มีอำนาจในการดำเนินคดีคือตำรวจ หากทราบว่า ผู้ต้องหาคือใคร สามารถทำเรื่องเพื่อดำเนินคดีสอบสวนได้หมด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พล.ต.ต.เรวัช กลิ่นเกษร ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาญจนบุรี ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบภายในไร่อ้อยและมันสำปะหลังเนื้อที่ 80 ไร่ของนายนเรศ ไกรทอง ที่ ต.วังดัง อ.เมืองกาญจนบุรี หลังสืบทราบว่าเป็นแหล่งค้าสิ่งผิดกฎหมาย และต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งจำหน่ายกระสุนเอ็ม 16 ให้กลุ่มคนร้ายที่ยิงนายสนธิ โดยจากการตรวจค้นกระท่อม 2 หลัง พบนายสุรเชษฐ์ เหมือนจิตต์ อยู่ในอาการมึนเมายาบ้า นอกจากนี้ยังพบอาวุธและกระสุนหลายชนิด รวมทั้งยาบ้าและเงินสดจำนวนหนึ่ง จึงนำผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่ง สภ.ลาดหญ้าดำเนินคดีต่อไป ด้าน พล.ท.มะ โพธิ์งาม ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบยิงนายสนธิว่า ไม่ขอตอบโต้เรื่องใดใดกับนายสนธิทั้งนั้น เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเองว่า ใครเป็นคนยิง ดังนั้นคนที่ไม่ได้ทำก็ไม่เดือดร้อน และว่า เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในทุกๆ เรื่อง พล.ท.มะ ยังพูดถึงสาเหตุที่มีการพุ่งเป้ามาที่ตนว่าเกี่ยวข้องกับการลอบยิงนายสนธิด้วยว่า “ที่มีการพุ่งเป้ามายังผม เนื่องจากผมเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณมากที่สุด จนถึงปัจจุบันผมก็ยังเป็นนักการเมืองที่ยืนเคียงข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นนักบริหารที่อยู่ในใจผมอีกด้วย...”
3. สภา ตั้ง คกก.ศึกษาแก้ รธน. และ คกก.สอบสลายม็อบเสื้อแดง แล้ว ด้าน “เพื่อไทย”ส่ง “นปช.”ร่วมแจม!
หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ส่งสัญญาณเปิดทางให้มีการแก้ รธน.และนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่จะไม่รวมคดีอาญา รวมทั้งได้เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์จลาจลของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 13 เม.ย.หลังพรรคเพื่อไทยอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต โดยนายอภิสิทธิ์ขอให้คณะกรรมการประสานพรรคพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)-วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ร่วมหารือด้วยเพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งวิปทั้ง 3 ฝ่ายได้นัดหารือในวันที่ 27 เม.ย.นั้น ปรากฏว่า หลังประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ 2 ชุด 1.กมธ.วิสามัญรัฐสภาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. 2.กมธ.วิสามัญรัฐสภาเพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาทางการเมืองและแก้ไข รธน. อย่างไรก็ตาม เมื่อประชุมกันอีกรอบ ที่ประชุมได้ล้มการตั้ง กมธ.ทั้ง 2 ชุดดังกล่าว เนื่องจากนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า การตั้ง กมธ.ดังกล่าวเข้าข่ายขัด รธน. พร้อมเสนอว่าอาจตั้งในลักษณะคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยเหมือนสมัยที่นายมารุต บุนนาค เป็นประธานรัฐสภา ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการในลักษณะดังกล่าว โดยจะประกอบด้วยกรรมการ 40 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ ส.ส.23คน ,ส.ว.7 คน ,ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายชัยได้กล่าวในที่ประชุมสนับสนุนให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นประธานคณะกรรมการ โดยให้เหตุผลว่า นายเสนาะมีความเป็นกลางและประนีประนอม ขณะที่นายเสนาะ ซึ่งร่วมประชุมด้วย ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพียงแต่บอกว่า เป็นเรื่องของที่ประชุมจะพิจารณา อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(28 เม.ย.) ทางพรรคเพื่อไทยได้เล่นแง่ โดยขู่ว่าจะไม่ส่งชื่อตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ปัญหาทางการเมือง จนกว่าสภาจะตั้ง กมธ.ตรวจสอบการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ก่อน ซึ่งก็ได้ผล เพราะหลังจากวิป 3 ฝ่ายได้ประชุมกันอีกครั้ง(30 เม.ย.) ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด 1.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. และ 2.คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน. โดยแต่ละชุดจะมีคณะกรรมการ 40 คน แบ่งเป็น ส.ส.23 คน ส.ว.7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง มีชื่อนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำ นปช.รุ่น 2 ด้วย โดยล่าสุด มีรายงานจากรัฐสภา(1 พ.ค.)ว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดแล้ว โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ รธน.มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน และมีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุที่โผพลิกในส่วนของนายเสนาะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นายชัยสนับสนุนให้เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่สุดท้ายกลับเป็นแค่ที่ปรึกษานั้น เนื่องจากมีข่าวว่า นายเสนาะงอนที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยที่นายเสนาะจะเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว นายเสนาะจึงไม่อยากรับตำแหน่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยพยายามเกลี้ยกล่อมให้นายเสนาะรับตำแหน่ง แต่นายเสนาะปฏิเสธ ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ รธน.ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างรวดเร็วในวันนี้(2 พ.ค.)ว่า ควรมีการแก้ รธน.มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง โดยชี้ว่า การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้กระทำผิด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ส่วนการยุบพรรคก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองถือเป็นแม่บทสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากถูกสลายได้โดยง่าย โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยคงเป็นไปได้ยาก ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้พูดถึงเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองอีกครั้งระหว่างการประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ(1 พ.ค.)ว่า “คงขีดเส้นเพียงการนิรโทษกรรมทางการเมือง ส่วนนิรโทษกรรมทางอาญาคงไม่พูดถึง เพราะคิดว่าสังคมยอมไม่ได้ และจะเป็นตัวทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว เพราะต่อไปคนมีอำนาจจะทำทุกอย่างได้โดยไม่มีความผิด ...ส่วนใครที่หน้าฉากบอกว่าสันติ หลังฉากใช้ความรุนแรง รัฐบาลก็ยอมไม่ได้ ถ้ายอมจำนนกับสิ่งเหล่านี้ ก็เท่ากับยอมจำนนกับลัทธิการก่อการร้าย”
4. ทั่วโลก ผวา “ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่”หลังลามจาก “เม็กซิโก” ขณะที่ “ไทย”เตรียมถก รมต.สาธารณสุขอาเซียน 7-8 พ.ค.นี้!
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ประเทศเม็กซิโก และบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย และผู้ป่วยอีกนับพันราย ได้สร้างความตื่นตระหนกและเฝ้าระวังโรคดังกล่าวไปทั่วโลก โดยในส่วนของไทย แม้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะยังไม่แพร่ระบาดเข้ามา แต่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องก็ออกมาตรการเฝ้าระวังและรับมืออย่างเต็มที่ โดยที่ประชุม ครม.(28 เม.ย.) ได้ตั้งคณะกรรมการดูแลมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดเม็กซิโก และให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นรองประธาน โดยจะประสานกับองค์การอนามัยโลก(WHO) และต่างประเทศ เพราะเห็นว่าวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อควรมีมาตรการตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้การควบคุมเฝ้าระวังทำได้ง่ายขึ้น ส่วนการเฝ้าระวังของไทยจะใช้รูปแบบเดียวกับที่เกิดไข้หวัดนก สำหรับมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ได้แก่ ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ(Thermo Scan) ร่างกายผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทย ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ,ภูเก็ต ,เชียงใหม่ ฯลฯ เพื่อดูว่าผู้โดยสารมีไข้สูงหรือไม่ ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงกรณีที่ประชาชนอาจกังวลการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากการบริโภคเนื้อหมู โดยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะผู้ป่วยที่พบในเม็กซิโกติดเชื้อจากคนสู่คน แต่ถ้าไปดูเชื้อ จะพบว่าคือ เชื้อ H1 N1 ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ปกติ แต่พบว่ามียีนตัวหนึ่งของหมูปนอยู่ในเชื้อดังกล่าวด้วย จึงเชื่อได้ว่า หมูเป็นเพียงแหล่งสะสมของเชื้อหลายประเภทเท่านั้น และนำไปสู่การกลายพันธุ์ ดังนั้นยืนยันว่า สามารถรับประทานหมูได้ตามปกติ เพียงแต่ปรุงให้สุกและสะอาด นพ.ปราชญ์ ยืนยันด้วยว่า เชื้อ H1 N1 นี้ป้องกันและรักษาง่ายกว่าเชื้อไข้หวัดนก H5 N1 และมีความรุนแรงน้อยกว่า อัตราการเสียชีวิตก็น้อยกว่า เพียงแต่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยเชื้ออยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และแพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกัน หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา ไม่ติดต่อจากการกินเนื้อหมู สำหรับอาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ และมีน้ำมูก เป็นที่น่าสังเกตว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเพิ่มระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกเป็นระยะๆ โดยช่วงต้นสัปดาห์ความรุนแรงของการระบาดยังอยู่ในระดับ 3 ต่อมาช่วงกลางสัปดาห์ได้ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดเป็นระดับ 4 ซึ่งหมายถึงมีการติดต่อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.-ปัจจุบัน และมีการขยายพื้นที่แพร่ระบาดในเมืองหลวงของเม็กซิโก และชายแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อถึงช่วงปลายสัปดาห์(30 เม.ย.) องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศเพิ่มระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดมาเป็นระดับ 5 นั่นหมายถึงการระบาดของโรคไม่ได้อยู่แค่ระดับเมืองหรือจังหวัดเท่านั้น แต่เป็นระดับประเทศแล้ว ขณะที่ประเทศไทยได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคให้เข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สายการบินทั้ง 89 แห่งปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค คือ 1.เจ้าหน้าที่สายการบินต้องประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับทราบมาตรการการป้องกันโรค 2.แจกแบบฟอร์มเพื่อสอบถามสภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่มาจากประเทศเสี่ยง ซึ่งเบื้องต้นมี 3 ประเทศ คือ เม็กซิโก แคนาดา และสหรัฐอเมริกาใน 3 รัฐ คือ นิวยอร์ก ,แคนซัส และแคลิฟอร์เนีย 3.รวบรวมข้อมูลส่งให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค ณ จุดวัดอุณหภูมิ ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข แถลง(30 เม.ย.)ว่า นอกจากกระทรวงได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข(วอร์รูม)จากระดับกรม เป็นระดับกระทรวง โดยมี นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงเป็น ผอ.ศูนย์ฯ แล้ว ยังได้สั่งให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ 1 ล้านเม็ด(1 แสนชุด) เพื่อให้มียารักษาสำรองเพียงพอสำหรับประชาชน 1 แสนคน หากเกิดการระบาดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังและค้นหาผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน โดยเฉพาะจาก 9 พื้นที่ที่มีผู้ป่วย ได้แก่ สหรัฐฯ ,เม็กซิโก ,แคนาดา ,อังกฤษ ,นิวซีแลนด์ ,สเปน ,ออสเตรีย ,เยอรมนี และอิสราเอล โดยให้ติดตามอาการเป็นเวลา 7 วัน หากมีอาการป่วย ให้แนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล หากอาการเข้าข่ายป่วยเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้ ขอให้จ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันทีภายใน 48 ชม.โดยรับประทานติดต่อกัน 5 วัน และแยกให้นอนในห้องปลอดเชื้อจนกว่าจะหาย ทั้งนี้ นอกจากมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ แล้ว ประเทศไทยยังได้เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน เพื่อเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วย โดยการประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร.