1. “นพดล”ยอมทิ้งเก้าอี้ รมต.ต่างประเทศแล้ว แต่ยังเสียงแข็ง ไม่ผิด แค่แสดงสปิริต!
ความเคลื่อนไหวกรณี ครม.และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อสนับสนุนการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ไทยเสียอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและเสี่ยงต่อการเสียดินแดนเพิ่มเติม กระทั่งศาลปกครองได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร้องขอ ด้วยการสั่งระงับแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับวินิจฉัยกรณีที่ 77 ส.ว.และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวขัด รธน.มาตรา 190 หรือไม่ ปรากฏว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ให้โอกาสนายนพดลชี้แจงแล้ว(4 ก.ค.) จึงมีมติเอกฉันท์ 9 เสียง(เมื่อ 8 ก.ค.)ว่า แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 และเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 และที่ 33/2543 จึงเป็นหนังสือสัญญาตาม รธน.มาตรา 190 ส่วนหนังสือสัญญาหรือแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 หรือไม่นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 : 1 ว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 2 สำหรับตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เห็นว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญา แต่ไม่ต้องผ่านความชอบจากรัฐสภาก็คือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ทั้งนี้ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ ดังกล่าวขัด รธน.แล้ว ทางด้านที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดา ก็ได้เห็นชอบ(คืนวันที่ 7 หรือเช้าวันที่ 8 ก.ค.ของไทย)ให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอ โดยใช้เวลาประชุมหารือเรื่องนี้เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เปิดแถลงวันเดียวกันโดยระบุว่า นายนพดลยืนยันว่า “ได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตนไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา”อย่างไรก็ตาม นายนพดลได้ประกาศตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า “หากปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตนพร้อมจะรับผิดชอบตามที่เห็นว่าเหมาะสม” ขณะที่นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทยที่ไปร่วมประชุมด้วย ได้ให้สัมภาษณ์ข้ามประเทศเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ก่อนหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกจะเห็นชอบให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า “เมื่อมีแนวโน้มว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการขึ้นทะเบียน จึงได้เปลี่ยนท่าทีให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย คือ การเสนอสถานที่ที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพิ่มเติมในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารและเทือกเขาพนมดงรัก โดยขณะนี้ได้ขอให้กรมศิลปากรพิจารณาว่าจะใช้หลักเกณฑ์การยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกในข้อใด” ขณะที่ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ชี้ว่า การที่ไทยจะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารและเทือกเขาพนมดงรัก คงเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์ประกอบหลักคือปราสาทพระวิหาร สิ่งรอบๆ ร่วมสมัยเป็นองค์ประกอบรอง ไทยจะขอขึ้นมรดกโลกเองไม่ได้ ต้องให้ทางกัมพูชาเห็นด้วย ศ.ดร.อดุลจึงเชื่อว่า การพูดเรื่องไทยจะขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมเป็นแค่การลดกระแสคัดค้านของคนไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่เพียงคณะกรรมการมรดกโลกจะเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ยังให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 7 ชาติ รวมทั้งไทย เพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารด้วย ซึ่งนักวิชาการด้านโบราณคดีของไทย เช่น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ออกมาชี้ว่า “การที่ไทยยอมรับการตั้งคณะกรรมการร่วม 7 ชาติดังกล่าว เท่ากับเราเสียท่าคณะกรรมการมรดกโลก เป็นการโง่ซ้ำครั้งที่ 3 เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ทับซ้อนที่จะให้ 7 ชาติเข้ามาพัฒนานั้น เป็นดินแดนของประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องให้คณะกรรมการ 7 ชาติเข้ามาบริหาร ซึ่งเท่ากับเราตกหลุมพรางได้” อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายธฤต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงฯ ได้ออกมายืนยัน(11 ก.ค.)ว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดให้กัมพูชาจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศไม่เกิน 7 ชาติดังกล่าว ก็เพื่อตรวจสอบนโยบายในการคุ้มครองและพัฒนาทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียน ซึ่งก็คือตัวปราสาทพระวิหาร จะไม่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาหรือพื้นที่ที่เป็นดินแดนของไทยแต่อย่างใด และว่า มติเรื่องนี้กำหนดให้กัมพูชาจะต้องเชิญให้ไทยเข้าร่วม มิใช่บังคับให้ไทยต้องเข้าร่วมแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ชาวกัมพูชาต่างฉลองแสดงความดีใจกับชัยชนะในครั้งนี้ โดยสมเด็จฮุนเซน นายกฯ ของกัมพูชา ถึงกับออกแถลงการณ์ระบุว่า “การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นความภาคภูมิใจครั้งใหม่ของชาวกัมพูชา และความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นผลมาจากกระบวนการที่ซับซ้อนและการเจรจาอย่างยาวนาน” นอกจากนี้ยังมีข่าวด้วยว่า กัมพูชาได้เตรียมทวงคืนโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารคืนจากไทยด้วย ขณะที่บรรยากาศในฝั่งไทย ความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถยับยั้งหรือชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป บวกกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ ครม.และนายนพดลเห็นชอบและลงนาม เป็นการกระทำที่ขัด รธน. ส่งผลให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้นายนพดลและ ครม.รับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ ครม.ก็ไม่รับผิดชอบ โดยมีรายงานว่า นายสมัครได้หลุดปากในการประชุม ครม.(8 ก.ค.)ว่า “จะให้ออกทั้งคณะได้ยังไงวะ มันไม่มีเหตุผล” ไม่เพียง ครม.จะไม่รับผิดชอบ แต่โฆษกรัฐบาล พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ยังออกมาป้อง ครม.ด้วยการโยนความผิดให้ รธน.ด้วยว่า “เรื่องนี้ ครม.ไม่ได้ทำพลาด แต่เป็นข้อพิสูจน์ว่า รธน.ฉบับปัจจุบันมีปัญหา”ไม่เท่านั้น พล.ต.ท.วิเชียรโชติ ยังป้องนายนพดลด้วยว่า “ไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องแสดงสปิริตใดใด เพราะมาตรา 190 ไม่ได้กำหนดว่าหากทำผิดจะต้องได้รับโทษอะไรบ้าง” อย่างไรก็ตาม นายนพดลยอมแสดงสปิริตด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศหลังเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ก.ค.พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด ตนทำดีที่สุดแล้วและได้ปกป้องไม่ให้ไทยเสียดินแดน พร้อมย้ำด้วยว่าตนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร นายนพดล ยังอ้างด้วยว่า มีการนำประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารมาปลุกเร้ากระแสชาตินิยมจนเกินสมควรทั้งในและนอกสภาโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเพื่อหวังผลทางการเมือง นายนพดล บอกด้วยว่า การลาออกของตนจะมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป พร้อมเผยถึงอนาคตทางการเมืองหลังจากนี้ว่า คงจะไปเขียนหนังสือ ไปทำดิคชันนารีกฎหมาย ไปสอนหนังสือ ไปพัฒนาผลิตนักกฎหมายที่มีคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่นายนพดลจะแถลงลาออก ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สิทธิตาม รธน.มาตรา 270 ด้วยการเข้าชื่อและยื่นถอดถอนนายนพดลต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคฝ่ายค้าน บอกว่า แม้นายนพดลจะประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่ส่งผลให้การยื่นถอดถอนดังกล่าวต้องตกไป เพราะถือว่าการยื่นถอดถอนมีผลแล้ว โดยหาก ป.ป.ช.พบความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายนพดล ก็จะต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการต่อไป สำหรับข้อหาที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนนายนพดลก็คือ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ รธน.มาตรา 190 และว่า ขณะนี้พรรคอยู่ระหว่างพิจารณาว่ามีรัฐมนตรีรายใดเกี่ยวข้องกับมติ ครม.ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ บ้าง คาดว่าผู้ที่พรรคจะยื่นถอดถอนเป็นลำดับถัดไปก็คือ นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ไม่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ยื่นถอดถอนนายนพดล แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนในสังคมที่ใช้สิทธิยื่นถอดถอน ครม.ให้รับผิดชอบกรณีแถลงการณ์ร่วมฯ ขัด รธน.เช่นกัน โดยทางแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นแจ้งความจำนงต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาว่าจะขอถอดถอนนายกฯ และ ครม.ทั้งคณะเมื่อวันที่ 11 ก.ค. โดยคาดว่าจะรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อเพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ นอกจากนี้วันที่ 14 ก.ค.(เวลา 10.00น.) แกนนำพันธมิตรฯ ยังจะยื่นไปเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีอาญา ครม.ทั้ง 35 คนและบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน(รวม 42 คน) ฐานทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 119 ,120 ,157 ที่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยตกไปอยู่ใต้อธิปไตยของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมีโทษสูงสุดประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง 7 คนดังกล่าว ประกอบด้วย อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ,อัครราชทูตประจำกรุงปารีสที่ประจำกรมสนธิสัญญาฯ ,อธิบดีกรมเอเซียตะวันออก ,ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ,เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ,เจ้ากรมแผนที่ทหาร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนทางด้าน 77 ส.ว.ที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะใช้สิทธิตามมาตรา 275 ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบว่า ครม.กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และอาจรวมถึงมาตรา 119 และ 120 นั้น ปรากฏว่า มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยจะไม่เข้าชื่อทั้ง 77 คนเพื่อยื่นเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาถูกกล่าวหาว่าทำหน้าที่ทับซ้อนในการลงมติถอดถอน ดังนั้นจึงเห็นควรให้ ส.ว.แค่ 1-2 คนใช้สิทธิดังกล่าว โดยจะมีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 14 ก.ค.นี้
“เหล่” ลาออก! แต่ยังไม่สำนึกอ้างไม่ได้กระทำผิด
ปชป.ยื่นถอดถอน “นพเหล่” ชี้จงใจลงนามร่วมหนุนเขมร ขัดต่อ รธน.
“นพเหล่” ถึงไทย หลบหน้าพันธมิตรฯ เผ่นจากสนามบิน
2. “พปช.”ส่อถูกยุบ หลัง“ยงยุทธ”โดนใบแดง ด้าน “ไชยา”ปิ๋ว-ตกเก้าอี้ รมต.!
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ให้ใบแดง)นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง พร้อมทั้งให้เลือกตั้ง ส.ส.เชียงราย เขต 3 ใหม่ 1 คน แทน น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย เขต 3 พรรคพลังประชาชน น้องสาวนายยงยุทธ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เสนอ ฐานทุจริตเลือกตั้งด้วยการแจกเงินให้แก่กลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหัวคะแนนของนายยงยุทธ เพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพรรคพลังประชาชน ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายยงยุทธได้ให้เงินกำนันดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่พรรคพลังประชาชนและผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า เมื่อกลุ่มกำนันพบนายยงยุทธแล้ว กลุ่มกำนันมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียงหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่นายยงยุทธหรือผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่การที่นายยงยุทธเรียกกลุ่มกำนันไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ นั้น นายยงยุทธย่อมเล็งเห็นว่า กลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำของหมู่บ้านสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชนได้ จึงเชื่อได้ว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งนายยงยุทธและพรรคพลังประชาชนตามที่นายยงยุทธอ้าง จึงเห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี ส่วนกรณี น.ส.ละอองนั้น แม้จะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับนายยงยุทธ แต่การกระทำของนายยงยุทธย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ น.ส.ละออง อันมีผลให้การเลือกตั้งในส่วนของ น.ส.ละอองไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงเห็นควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 3 จ.เชียงรายที่ น.ส.ละอองลงสมัครและชนะการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา ด้าน กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในเขต 3 จ.เชียงรายแล้วในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ส่วนกรณีที่นายยงยุทธพ้นสภาพ ส.ส.จากการโดนใบแดงนั้น นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.บอกว่า นายยงยุทธเป็น ส.ส.สัดส่วน เมื่อพ้นสภาพ ก็ให้เลื่อนผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนในลำดับถัดไปของพรรคพลังประชาชนขึ้นมาแทน ซึ่งผู้ที่ได้เลื่อนขึ้นมาแทนนายยงยุทธก็คือ นายถาวร ตรีรัตน์ณรงค์ นอกจากนี้ กกต.ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบว่าการโดนใบแดงของนายยงยุทธจะนำไปสู่การยุบพรรคเช่นเดียวกับกรณีพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านการสอบสวนและวินิจฉัย เผย(11 ก.ค.)ว่า คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 15 วัน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ศาลฯ ตัดสินให้ใบแดงนายยงยุทธนั้น บรรดากองเชียร์ที่ไปสนับสนุนนายยงยุทธที่หน้าศาลประมาณ 100 คน ได้แสดงความไม่พอใจที่นายยงยุทธโดนใบแดง โดยได้ใช้โทรโข่งตะโกนด่าทออย่างหยาบคายเข้าไปในศาล ขณะที่กองเชียร์บางคนได้ขว้างถุงใส่ปัสสาวะเข้าไปภายในบริเวณศาลด้วย ด้านนายยงยุทธ ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำสั่งศาล แต่ส่งทนายไปแทน โดยตอนแรกมีข่าวว่า นายยงยุทธจะเปิดแถลงทันทีที่ทราบคำสั่งศาล แต่ภายหลังได้มีการยกเลิก โดยมีข่าวจากผู้ใกล้ชิดนายยงยุทธว่า จะมีการแถลงเปิดใจในเร็วๆ นี้ ขณะที่ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนได้มีมติให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายในการต่อสู้คดียุบพรรค ทั้งนี้ ไม่เพียงพรรคพลังประชาชนจะส่อถูกยุบพรรคจากกรณีที่นายยงยุทธโดนใบแดง แต่รัฐมนตรีของพรรคบางคนยังมีปัญหาเรื่องขาดคุณสมบัติจนต้องหลุดจากตำแหน่งแล้ว โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีที่ ส.ว.36 คนเข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ว่าได้กระทำการต้องห้ามตาม รธน.หรือไม่กรณีที่ไม่แจ้งต่อประธาน ป.ป.ช.ภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ประสงค์จะรับผลประโยชน์จากหุ้นที่ภรรยาถืออยู่เกินร้อยละ 5 ซึ่งในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า นายไชยาขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เพราะกระทำการต้องห้ามตาม รธน. พร้อมกันนี้ ศาลยังเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยาสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 30 วันหลังได้รับแต่งตั้ง(7 มี.ค.2551) หรือสิ้นสุดลงทันทีที่กระทำการต้องห้ามตาม รธน.มิใช่สิ้นสุดลงในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ด้านนายไชยา แม้จะไม่ได้เดินทางไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า พร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาล และว่า ศาลฯ ได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเท่านั้น ไม่ได้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ดังนั้นตนจึงยังเป็น ส.ส.อยู่ และยังทำงานในบทบาทการเมืองให้ประชาชนต่อไปได้ ทั้งนี้ ไม่เพียงนายไชยาจะหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข แต่ยังโดนคดีละเมิดศาลด้วยจากกรณีที่นายไชยาได้วิพากษ์วิจารณ์ศาลปกครองที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวบอร์ดองค์การเภสัชกรรมที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดฯ กับพวกรวม 5 คนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่านายไชยาปลดบอร์ดโดยไม่ชอบ ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ว่า นายไชยาไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยสุจริตหรือใช้เหตุผลทางวิชาการ จึงเข้าข่ายละเมิดศาล ศาลจึงเห็นสมควรลงโทษนายไชยา โดยปรับสูงสุดเป็นเงิน 5 หมื่นบาท แต่เนื่องจากนายไชยาสำนึกผิดและขอโทษ ศาลจึงลดโทษปรับให้เหลือ 25,000 บาท ด้านนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เรียกประชุมพรรคนัดพิเศษเมื่อวันที่ 10 ก.ค. หลังประชุม ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคแถลงว่า หัวหน้าพรรคได้ยืนยันว่า “ยังมั่นคง จะสู้ไม่ท้อถอย ไม่ผวา ไม่ปอดแหก ไม่ลาออกและไม่ยุบสภา” ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางพรรคพลังประชาชนได้เตรียมพรรคสำรองหากพรรคถูกยุบแล้ว โดยได้จดตั้งพรรค “เพื่อไทย”กับ กกต.ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2550 โดยมีอักษรย่อ พ. คล้ายกับพรรคพลังประชาชน และมีที่ทำการอยู่ที่เดิมของพรรคไทยรักไทย เลขที่ 111/1 อาคารนวสร ถ.พระราม 3 แขวงและเขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ
กกต.มีมติตั้งคณะทำงานสอบยุบพรรค “พลังแม้ว” แล้ว
“ลูกกรอก” ขนหัวลุก กกต.ถกคำสั่ง “ยุทธ” ชงยื่นศาล รธน.ยุบพรรคหรือไม่
3. “สมัคร”ฉุน “ปฐมพงษ์”แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ -สั่งหาช่องลงโทษด่วน ขณะที่ “เจ้าตัว”ไม่หวั่น!
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากอยู่ที่การย้ายสถานที่ชุมนุมจากหน้าทำเนียบรัฐบาลกลับมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว ยังมีกรณีที่ พล.อ.ปฐมพงศ์ เกษรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ด้วย โดยในส่วนของการย้ายสถานที่ชุมนุมนั้น เป็นผลจากการที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งเพิ่มเติมในการคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์(ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยม 10 คน)เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ให้แกนนำพันธมิตรฯ เปิดถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลกทุกช่องทาง ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.00น.-18.00น.เพื่อให้โจทก์ และพาหนะต่างๆ สัญจรได้โดยสะดวกตามที่โจทก์ร้องขอ รวมทั้งห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30น.-16.30น.จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้แกนนำพันธมิตรฯ ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ คำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวของศาลแพ่ง โดยเฉพาะการให้เปิดถนนทุกช่องทาง ส่งผลให้พันธมิตรฯ ต้องรื้อเวทีปราศรัย เนื่องจากตั้งอยู่บนสะพานชมัยมรุเชษฐ แกนนำพันธมิตรฯ จึงได้ตัดสินใจเคลื่อนพลผู้ชุมนุมจากหน้าทำเนียบฯ กลับไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ตั้งแต่คืนวันที่ 7 ก.ค. อย่างไรก็ตาม แม้แกนนำพันธมิตรฯ จะเคารพและปฏิบัติตามคำสั่งของศาล แต่ก็ได้ขอใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่ง เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนในการชุมนุมตาม รธน.มาตรา 63 โดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของพันธมิตรฯ กล่าวหลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง(9 ก.ค.)ว่า เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งเท่ากับว่าให้มีการสลายการชุมนุม จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ ขัดต่อ รธน. การยื่นอุทธรณ์ก็เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยบังคับใช้ระหว่างกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ซึ่งหากไม่อุทธรณ์ให้เกิดความชัดเจนแล้ว ในอนาคตจะไม่มีการชุมนุมได้อีก เพราะไม่ว่าจะไปชุมนุมที่ใด ก็จะมีผู้ร้องขอให้ศาลคุ้มครองอีก ทั้งที่การชุมนุมเป็นไปตามหน้าที่และสิทธิเสรีภาพแห่ง รธน. นอกจากนี้แกนนำพันธมิตรฯ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงศาล 8 ศาล เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองการชุมนุมที่เป็นสิทธิเสรีภาพตาม รธน.ด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณและรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นเจ้ากระทรวง ทำการล่าชื่อเพื่อยื่นฟ้องพันธมิตรฯ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการจราจรและเครื่องขยายเสียงแล้ว ส่วนความเคลื่อนไหวกรณีที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ นั้น สืบเนื่องจากเมื่อเย็นวันที่ 8 ก.ค. พล.อ.ปฐมพงษ์ได้สวมเครื่องแบบทหารขึ้นปราศรัย โดยชวนให้ทหารออกมาช่วยกันรักษาอธิปไตยของประเทศจากกรณีปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ วันดังกล่าวไม่เพียงมี พล.อ.ปฐมพงษ์ แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ แต่ยังมี พ.ต.ท.ประกิต กิตเจริญ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.แม่ฮ่องสอน แต่งเครื่องแบบตำรวจขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ เช่นกัน โดยเรียกร้องให้นายตำรวจและนายทหารออกมาปกป้องอธิปไตยของประเทศ ซึ่งปรากฏว่าการแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของ พล.อ.ปฐมพงษ์ได้สร้างความไม่พอใจให้พรรคพลังประชาชนเป็นอันมาก โดย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ออกมาตำหนิ พล.อ.ปฐมพงษ์ว่า เป็นถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ไม่ควรแสดงออกในเรื่องนี้ ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาลได้เปิดแถลงข่าว(9 ก.ค.) เรียกร้องให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เอาผิดทางวินัยทหารกับ พล.อ.ปฐมพงษ์อย่างถึงที่สุด ฐานสวมเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ร่วมขับไล่รัฐบาลกรณีที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ด้าน พล.อ.บุญสร้าง กล่าวถึงกรณี พล.อ.ปฐมพงษ์แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ว่า แม้การไปร่วมกับทางพันธมิตรฯ จะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ตนก็อนุญาตเป็นพิเศษ แต่ก็เป็นการรู้กันว่าต้องเป็นการไปร่วมโดยต้องไม่แต่งเครื่องแบบ และนอกเวลาราชการ ขณะที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เพราะเครื่องแบบมีความสง่างาม และต้องการแสดงจุดยืนถึงความรักชาติและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งต้องออกมาป้องกันอธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหาร พร้อมย้ำว่า กฎระเบียบวินัยหรือกฎกระทรวง ไม่มีคำสั่งห้ามไม่ให้กำลังพล นายทหารออกมาปกป้องสถาบันปกป้องดินแดน พล.อ.ปฐมพงษ์ ยืนยันด้วยว่า การขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ไม่ได้ต้องการฉวยโอกาสดังเพื่อไปเล่นการเมือง และขอประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองแน่นอน เพราะไม่ชอบนักการเมือง มีแต่โกหก ปลิ้นปล้อน เป็นที่น่าสังเกตว่า การขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของ พล.อ.ปฐมพงษ์ ไม่เพียงสร้างความไม่พอใจให้แกนนำพรรคพลังประชาชน แต่หัวหน้าพรรคอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ก็ทนไม่ได้เช่นกัน โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาล ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ว่า นายสมัคร ในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ได้สั่งการให้กรมพระธรรมนูญ กรมเสมียนตรา และกองบัญชาการกองทัพไทย ตรวจสอบว่าการกระทำของ พล.อ.ปฐมพงษ์ที่แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ขัดต่อ รธน. หรือขัดต่อแบบธรรมเนียม ข้อบังคับต่างๆ ของกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพไทยหรือไม่ และมีแนวทางปฏิบัติต่อกรณีนี้อย่างไร ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เผยว่า โทษทางวินัยสำหรับนายทหารที่มียศอัตราจอมพลนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือ การว่ากล่าวตักเตือน เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาตีแสกหน้า พล.อ.บุญสร้าง พร้อมชี้ช่องเอาผิด พล.อ.ปฐมพงษ์ โดยบอกว่า ที่ พล.อ.บุญสร้างบอกว่า ลงโทษอัตราจอมพลได้แค่ตักเตือนเท่านั้น คงเพราะมองเพียงว่าเป็นการแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ แต่ ผบ.สส.อาจไม่ได้ดูคำพูดของ พล.อ.ปฐมพงษ์ที่มีการกล่าวให้ร้ายรัฐบาลที่ถือเป็นองค์กรของตนเอง ซึ่งทหารทั่วโลกไม่ทำกัน และทหารควรจะต้องวางตัวเป็นกลางและต้องรักองค์กร พล.ท.พีระพงษ์ ยังชี้ด้วยว่า พล.อ.ปฐมพงษ์เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นทหารขัดขืน มิกระทำการตามข้อบังคับใดใด ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ด้าน พล.อ.ปฐมพงษ์ ได้แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ อีกครั้งเมื่อเย็นวันที่ 11 ก.ค. โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี และจะทำต่อไปจนกว่าจะตายไปจากโลกนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่หวั่นไหว
พันธมิตรฯ เตือน"หมัก"ให้ความเป็นธรรม"ปฐมพงษ์"-เดินหน้าล่าถอดทั้งคณะ
“ปฐมพงษ์” ไม่สนสอบวินัยยันยอมไม่ได้"หมิ่นในหลวง-ขายชาติ"
“หมัก” แค้น สั่งสอบด่วน “ปฐมพงษ์” ขึ้นเวทีพันมิตรฯ
“ปฐมพงษ์” ย้ำขึ้นเวทีพันธมิตรฯ สุดทนพวกหมิ่นในหลวง-ทำเสียดินแดน
4. “บ.ญี่ปุ่น”สารภาพ ติดสินบน กทม.ยุค “ผู้ว่าฯ สมัคร”125 ล. ด้าน “เจ้าตัว”ยังปิดปากเงียบ!
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.หนังสือพิมพ์ เจแปน ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 ก.ค.รายงานว่า อดีตผู้บริหารของบริษัท นิชิมัตสึ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทก่อสร้างระดับหัวแถวของญี่ปุ่น ได้ให้การกับพนักงานอัยการของญี่ปุ่นว่า เคยจ่ายเงินกว่า 400 ล้านเยน หรือกว่า 125 ล้านบาทให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีโอกาสได้รับสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมของ กทม.เมื่อเดือน ก.ย.2546 ซึ่งเป็นยุคที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บริษัท นิชิมัตสึฯ ได้ให้การกับอัยการญี่ปุ่นโดยระบุชื่อผู้รับสินบนอย่างชัดเจน คือ ผู้ที่มีชื่ออักษรย่อ ส.2 คน และ ธ.1 คน พร้อมกันนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยว่า สินบนดังกล่าวอาจไม่ใช่แค่ 125 ล้าน แต่อาจมากถึง 250 ล้านบาท หลังเรื่องสินบนดังกล่าวเป็นข่าวขึ้นมา นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.จึงได้สั่งให้รองปลัด กทม.ตรวจสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะรู้ผลภายใน 7 วัน ด้านนายสมัคร ปิดปากไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แก่นักข่าวแต่อย่างใด ขณะที่คนสนิทของนายสมัคร อย่าง นายธีรพล นพรัมพา เลขาธิการนายกฯ และนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกฯ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ก็พยายามหาทางเลี่ยงผู้สื่อข่าวเพื่อไม่ตอบเรื่องสินบนดังกล่าวแต่อย่างใด ด้านคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บอกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เคยตรวจสอบไว้มาดูรายละเอียดอีกครั้ง พร้อมเผย จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบพิรุธหลายประการ เช่น การให้คะแนนกับผู้เสนอราคา มีลักษณะเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายหนึ่ง นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาการประมูลบางคนยังมีนามสกุลเดียวกับผู้บริหารบริษัทที่เสนอราคาด้วย ด้านคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุม(10 ก.ค.)และมีมติรับเรื่องสินบนดังกล่าวไว้ตรวจสอบเช่นกัน โดยนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จะเชิญเจ้าหน้าที่จาก กทม.มาให้ข้อมูลในวันที่ 14 ก.ค.นี้ และหากมีการพาดพิงหรือพบว่ามีบันทึกข้อความถึงนายสมัคร ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงนั้น ก็ต้องเชิญนายสมัครมาชี้แจง นอกจากนี้จะขอความร่วมมือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) , สตง. และดีเอสไอด้วย ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็เตรียมประชุมหารือเรื่องสินบนดังกล่าวเช่นกันในสัปดาห์หน้า
ป.ป.ช.ส่ง กมธ.คุ้ยข้อมูลสินบนยุ่น คาด 1 เดือนรู้ผล
ข้อมูลล่าสุด!! ชี้ บ.ยุ่น จ่ายสินบน 250 ล้าน บ.สื่อแดนปลาดิบระบุชื่อย่อ 2 ส-1 ธ รับเงินฉาว
5. “วัฒนา”กลัวติดคุก-เบี้ยวฟังคดีคลองด่าน ด้าน “ศาล”ออกหมายจับทันที!
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ,157 ,33 และ 84 รวมทั้งผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 2 โดยคดีนี้สืบเนื่องจากนายวัฒนาได้ใช้อำนาจข่มขู่หรือชักจูงให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาฟังคำพิพากษา ปรากฏว่านายวัฒนาไม่เดินทางมาศาล ขณะที่ทนายความของนายวัฒนา บอกว่า เมื่อ 3 วันก่อน นายวัฒนายังยืนยันว่าจะมาฟังคำพิพากษาตามกำหนดนัด แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ จึงไม่ทราบว่านายวัฒนาอยู่ที่ไหน ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยจงใจไม่มาฟังคำพิพากษา ถือว่าผิดสัญญาประกัน จึงให้ปรับนายประกันและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา โดยนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค.(เวลา 14.00น.) ขณะที่นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม บุตรชายนายวัฒนา ให้สัมภาษณ์หลังศาลออกหมายจับนายวัฒนาว่า “ยังไม่ได้ติดต่อคุณพ่อเลย มีอะไรหรือเปล่า” ด้านนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ผู้ใกล้ชิดนายวัฒนา บอกว่า การที่นายวัฒนาไม่ไปฟังคำพิพากษาอาจเป็นเพราะกลัวศาล เพราะหากมีคำพิพากษาว่าผิดจริงก็จะต้องติดคุก จึงต้องหลบหนีไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่กลัวการติดคุก นายมั่น ยังยืนยันด้วยว่า กรณีนายวัฒนาจะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะนายวัฒนาไม่มีตำแหน่งในพรรค เป็นเพียงที่ปรึกษาในฐานะอาวุโสเท่านั้น อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวัฒนาเคยเบิกความต่อศาลเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2551 โดยยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง พร้อมประกาศว่า ถ้าหากตนทำผิดจริง ให้ลงโทษประหารชีวิตได้เลย.
ท่านเปายกอุทาหรณ์ “วัฒนา” หนี! อาจต้องเพิ่มเงินประกันจำเลยนักการเมือง
ตามคาด"วัฒนา"หลบกบดานในบ่อนฝั่งปอยเปต!
พิพากษา“วัฒนา”ทุจริตคดีคลองด่าน 18 ส.ค.นี้