xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ทหาร” จะปกป้อง “ชาติ-สถาบัน” หรือจะ “หุบปาก” เพื่อ รบ.?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษา บก.สส.ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ครั้งแรก 8 ก.ค.เวลา 18.30 น.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
 
การปรากฏตัวของ “พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์” ประธานที่ปรึกษา บก.สส. บนเวทีพันธมิตรฯ ไม่เพียงช่วยเพิ่มขวัญ-กำลังใจแก่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดอยู่ในขณะนี้ แต่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า อย่างน้อยก็ยังมีนายพลที่หาญกล้าลุกออกมายืนเคียงข้างประชาชนในยามที่ประเทศกำลัง “โหยหาผู้กล้า”เพื่อมาปกป้องอธิปไตยของไทยเหนือปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ หลังถูกรัฐบาลและนายนพดลเร่งรัดลงนามให้สิทธิกัมพูชาโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ...ไม่น่าเชื่อว่า ขณะที่ “พล.อ.ปฐมพงษ์” กำลังเป็น “วีรบุรุษ”ของภาคประชาชนอยู่ในขณะนี้ ทาง รบ.กลับคิดจะ “ปิดปาก” ด้วยการลงโทษวีรบุรุษผู้นี้ ราวกับไม่ต้องการให้มีทหารนายใดกล้าลุกขึ้นมาปกป้องชาติและสถาบันกันอีก

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 8 ก.ค. เวทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีประชาชนมาร่วมชุมนุมมากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข่าวร้ายที่คนไทยได้รับในเช้าวันนั้นว่าคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดามีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอ แม้ไทยได้พยายามเสนอให้ชะลอการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่รัฐบาลไทยและนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้คำนึงถึงผลเสียต่ออธิปไตยของชาติที่จะตามมา ได้ถูกศาลปกครองสั่งระงับชั่วคราวแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่สามารถหยุดยั้งคณะกรรมการมรดกโลกได้ ขณะที่มติศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวขัด รธน.มาตรา 190 เพราะรัฐบาลไม่ได้เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ก็ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาลและนายนพดล จนเริ่มได้รับฉายาจากภาคประชาชนแล้วว่า “รัฐบาลขายชาติ”!!

ความอึดอัดคับข้องใจกับการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้องของรัฐบาลไม่เพียงสุมอยู่ในจิตใจประชาชน แม้แต่ทหารกล้าระดับจอมพลอย่าง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ก็สุดทน จนต้องขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อเย็นวันที่ 8 ก.ค.โดย พล.อ.ปฐมพงษ์ พูดชัดถึงเหตุผลที่ต้องขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ว่า มี 2 เรื่อง 1.ทนไม่ได้ที่ไทยจะต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา จึงต้องออกมาแสดงตัวเพื่อปกป้องอธิปไตยของไทยที่ไม่ต้องการให้เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว พร้อมเชิญชวนทหารให้ออกมาช่วยกันปกป้องอธิปไตยของไทยด้วย และ 2.ทนไม่ได้ที่มีการดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้านี้(กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) ดังนั้น การออกมาของตนก็เพื่อยืนยันว่า ภารกิจของทหาร ต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และปกป้องอธิปไตยของประเทศ

ทั้งนี้ ไม่เพียง พล.อ.ปฐมพงษ์จะรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เขายังให้เกียรติเครื่องแบบทหารที่มีความสง่างามด้วยการใส่เครื่องแบบขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ด้วย

ทันทีที่เวทีพันธมิตรฯ ได้รับเกียรติจากนายทหารระดับผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.ปฐมพงษ์ขึ้นปราศรัย ก็ทำเอาแกนนำพรรคพลังประชาชน(เช่น พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน)และอดีตแกนนำ นปก.(เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาล)นั่งไม่ติด รีบลุกขึ้นมาจี้ให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เอาผิดทางวินัย พล.อ.ปฐมพงษ์อย่างถึงที่สุด ฐานสวมเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และร่วมขับไล่รัฐบาลกรณีที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากจี้ ผบ.สส.แล้ว หัวหน้าพรรคอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังใช้อำนาจในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม สั่งให้กรมพระธรรมนูญ กรมเสมียนตรา และกองบัญชาการกองทัพไทย สอบด้วยว่า การแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของ พล.อ.ปฐมพงษ์ขัดต่อ รธน.หรือข้อบังคับต่างๆ ของกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพไทยหรือไม่

แม้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส.จะออกมายืนยันว่า การลงโทษนายทหารอัตราจอมพลทำได้อย่างเดียว คือ การว่ากล่าวตักเตือน เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ทางโฆษกกระทรวงกลาโหมอย่าง พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ดูจะเอาการเอางานจนดูเหมือนเอาใจรัฐบาล ก็รีบออกมาชี้ความผิด พล.อ.ปฐมพงษ์ว่า เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นทหารขัดขืน มิกระทำการตามข้อบังคับใดใด ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ พล.ท.พีระพงษ์ ย้ำว่า ทหารไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวร้ายรัฐบาลที่ถือเป็นองค์กรของตนเอง ทหารต้องวางตัวเป็นกลางและรักองค์กร!?!

ด้าน พล.อ.ปฐมพงษ์ ยืนยันว่า การขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของตนเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตาม รธน.มาตรา 70(บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และมาตรา 77(รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ......) ดังนั้น ไม่ว่าระเบียบ คำสั่ง หรือกฎกระทรวงจะขัดแย้งกับ รธน.ไม่ได้ เพราะ รธน.เป็นกฎหมายสูงสุด และทุกคนก็มีสิทธิที่จะแสดงออกภายใต้ รธน. พล.อ.ปฐมพงษ์ ยังประกาศจุดยืนของตนที่จะยืนหยัดปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และอธิปไตยของชาติแม้จะต้องถูกลงโทษก็ตามว่า “ผมยินดีจะเป็นนายปฐมพงษ์ที่มีเกียรติ หรือนักโทษที่มีอุดมการณ์มีเกียรติอยู่ในคุก ดีกว่าเป็นนายพลนายทหารที่เดินตามก้นนักการเมือง”

เมื่อ “ทหารเสือราชินี”อย่าง พล.อ.ปฐมพงษ์จุดประกายความหวังให้ภาคประชาชนอุ่นใจว่า อย่างน้อยทหารบางคนก็อยู่เคียงข้างประชาชน พร้อมที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และอธิปไตยของชาติให้มั่นคงสืบไป แต่นายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างนายสมัคร สุนทรเวช กลับส่งสัญญาณราวกับว่า นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำไม่ได้ ทหารต้องหุบปาก-ปิดปากให้สนิท ห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สถาบันและอธิปไตยของชาติจะเป็นอย่างไรก็ต้องนิ่งเฉยไว้ หาไม่แล้วจะต้องเจอคุก 5 ปี ดังเช่นที่พยายามเอาผิด พล.อ.ปฐมพงษ์อยู่ในขณะนี้ ลองมาดูกันว่า หลายฝ่ายในสังคมจะมองเรื่องนี้อย่างไร?

นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา บอกว่า จากที่ได้เปิดประมวลกฎหมายอาญาทหารที่ใช้มาเกือบ 100 ปีแล้ว พบว่า การกระทำของ พล.อ.ปฐมพงษ์ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 33 ของกฎหมายดังกล่าวดังที่โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุ

“ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซึ่งประกาศใช้ในปี 2454 ซึ่งมาถึงปัจจุบันนี้ก็ 97 ปีแล้ว ประกาศใช้ในรัชกาลที่ 6 คือ มาตรา 33 เขียนว่า “ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนมิกระทำตามข้อบังคับใดใด โดยมันแสดงออกซึ่งความขัดขืนนั้นด้วยกิริยาหรือวาจาองอาจต่อหน้าหมู่ทหารถืออาวุธด้วยไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุ" ซึ่งในกรณีนี้ก็จะอ้างว่าเข้าวงเล็บ 3 เนื่องจากว่ามันได้กระทำความผิดขึ้นในเวลาหรือที่อื่น นอกจากต่อหน้าราชศัตรูหรือในยามศึกสงครามก็คือในยามปกติ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ทีนี้ถ้าดูตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 33 ที่อ้างถึงเนี่ย อาจจะไม่เข้าองค์ประกอบของความผิด เพราะองค์ประกอบของความผิดตาม มาตรา 33 จะต้องเป็นการขึ้นไปพูดต่อหน้าทหารที่ถืออาวุธ จึงจะเข้าความผิดอันนี้ ทีนี้เรามาดู รธน.ปี 2550 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 31 บอกว่า “บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงาน หรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตาม รธน.เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม" ในแง่นี้เองในความเห็นผม ผมคิดว่าโดยหลักกฎหมายแล้ว ก็ต้องถือว่าคนทุกคนรวมทั้งข้าราชการ ทั้งพลเรือน ตำรวจและทหาร รวมทั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ด้วยเนี่ย ก็มีสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ก็คือในกรณีนี้ก็ถือว่ามีสิทธิในการเข้าไปร่วมชุมนุมโดยสงบ โดยปราศจากอาวุธ กับสิทธิในการพูดหรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งเท่าที่ได้ติดตามดูการชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือการสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ที่เป็นข้าราชการ เราก็พบว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีทั้งข้าราชการอื่นๆ ด้วยที่ก็ได้ให้สัมภาษณ์ หรือบางคนก็ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็แปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ได้ออกมาท้วงติงหรือวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งถ้าในแง่นี้ ข้าราชการส่วนอื่นทำได้ พล.อ.ปฐมพงษ์ก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน”

ส่วนถ้ามีการอ้างว่า พล.อ.ปฐมพงษ์ทำผิดกฎระเบียบใดใดของกองทัพนั้น นายสมชาย บอกว่า การนำกฎระเบียบใดใดมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะต้องตีความอย่างจำกัดหรือตีความโดยเคร่งครัดเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการจำกัด “สิทธิ” ที่ถือเป็นหลักการของกฎหมาย รธน. และว่า กรณีของ พล.อ.ปฐมพงษ์ ต้องดูเหตุผลที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ขึ้นพูดบนเวทีพันธมิตรฯ ด้วยว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งตนมองว่ามีความสมเหตุสมผลพอสมควร

“คงจะต้องดูถ้อยคำต่างๆ และเหตุผลต่างๆ ที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ขึ้นไปพูดบนเวทีด้วย เท่าที่ตามข่าว พล.อ.ปฐมพงษ์อ้างเรื่องอธิปไตยกับการที่รัฐบาลปล่อยให้มีการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทยหรือสังคมไทย หลักการของกฎหมายอย่างหนึ่งก็คือหลักการเหตุและผลจะต้องมีความเหมาะสมกัน คือถ้าเหตุร้ายแรง การกระทำก็อาจจะหนักหน่วง แต่ถ้าเหตุไม่ร้ายแรง การกระทำก็ต้องเบาลงไป การกระทำอันนี้ก็คือ พล.อ.ปฐมพงษ์ขึ้นไปพูดบนเวทีของพันธมิตรฯ ซึ่งเหตุที่ พล.อ.ปฐมพงษ์อ้างมา เห็นว่าเป็นเหตุที่ค่อนข้างร้ายแรง ก็จำเป็นจะต้องขึ้นไปพูด อันนี้ก็อาจจะดูว่ามีความสมเหตุสมผลพอสมควร”

ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองว่า การแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ของ พล.อ.ปฐมพงษ์ไม่ควรจะเป็นความผิด และน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลว่าเรื่องใดควรทำ-ไม่ควรทำ หากรัฐบาลสั่งลงโทษ อาจทำให้สถานการณ์เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นได้

“มองว่า อย่างน้อยที่สุดข้าราชการที่สะสมประสบการณ์ของตัวเองมาถึงขนาดนั้น กล้าที่จะพูดว่าอันไหนถูกอันไหนผิดในเรื่องที่สมควร มันเป็นการ check and balance(ตรวจสอบ-ถ่วงดุล)รัฐบาล ผมถือว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เสียหาย ถ้าเขาแสดงจุดยืนว่า เขาต้องการที่จะรักษาอธิปไตย แผ่นดินของเขา เขาไม่ยอมรับในการจาบจ้วงเบื้องสูงของประเทศไทย ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของทหาร เขาจะใส่ยูนิฟอร์มหรือเขาจะมาในเวลาราชการ ไม่มาในเวลาราชการก็ตามแต่ มันก็เป็นสิ่งที่เขาต้องการมาพูดให้ฟังว่า หน้าที่ของเขาคืออะไร และเขาต้องการปกป้องอะไร ซึ่งผมคิดว่าในแง่นี้มันก็คงไม่ใช่เรื่องผิดมั้ง (ถาม-แสดงว่านายกฯ คิดว่า การสั่งสอบจะส่งผลดีมากกว่าผลเสียที่จะส่งผลให้คนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นหรือเปล่า?) คือเขาก็ต้องการจะ hold อำนาจของเขาน่ะ และเขาก็ต้องการจะจัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนเขาทำนองนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาไปทำอะไรประชาชนไม่ได้ คนที่ขายกาแฟชาเย็นที่มานั่งประท้วงอยู่ (นายกฯ)ก็ไม่รู้จะไปหาผู้บังคับบัญชาที่ไหนไปสอบเขา ในกรณี พล.อ.ปฐมพงษ์ซึ่งเป็นข้าราชการ เขา(นายกฯ)ก็หากฎช่องแบบนี้เข้าไปเล่นงาน แทนที่นายกฯ จะถามว่า เออ! เราปล่อยให้คนไปจาบจ้วง(เบื้องสูง)หรือเปล่า? เราปล่อยให้คนไปทำข้อตกลงอะไรบางประการที่ทำให้เสียดินแดนหรืออธิปไตยหรือเปล่า? ใช่มั้ย? น่าจะตอบกลับแบบนี้ดีกว่ามั้ย มากกว่าที่จะไปทำการสอบเขาแบบนั้น ผมคิดว่ามันไม่ทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น คิดว่ามันอาจจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นก็ได้ เพราะคนที่เขาคิดว่า พล.อ.ปฐมพงษ์ไม่ผิดเนี่ย ก็ยิ่งทำให้เขาร้อนขึ้นมา และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นก็ได้”

ส่วนกรณีที่บางฝ่ายมองว่าการที่รัฐบาลและนายนพดลสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว และน่าจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันจริงระหว่างกัมพูชาและ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเสร็จภารกิจนายนพดลซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงยอมลาออกจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกเช่นเคย คือ นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ อดีตทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น ผศ.ดร.สุรัตน์ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่อเจตนาว่าน่าจะมีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากไม่มีเจตนาแอบแฝงหรือไม่มีอะไรที่ประเทศจะสูญเสีย แล้วทำไมนายนพดลจึงต้องแอบไปตกลงเจรจาหรือไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ก่อนทำไม พอคนรู้ทัน มาจับได้ภายหลัง ก็ไปโทษเขา ไปสั่งสอบเขา

ด้าน นายไพศาล พืชมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองกรณีที่ พล.อ.ปฐมพงษ์แต่งเครื่องแบบทหารขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ว่า นอกจากจะไม่ใช่เรื่องผิดแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นหน้าที่ของทหารในการปกป้องอธิปไตย และพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตาม รธน.

“ที่ พล.อ.ปฐมพงษ์พูด คนที่ฟังเขาก็เห็นอยู่ เขาพูดอยู่ 2 เรื่อง 1.เชิดชูบทบาทของทหารในการปกป้องอธิปไตยของชาติ 2.เชิดชูบทบาทของทหารในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอันนี้เป็นหน้าที่ของทหารตามที่ รธน.บัญญัติไว้เฉพาะเลย และเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนด้วย ซึ่ง รธน.เป็นเรื่องใหญ่นะ ระเบียบเล็กกว่า รธน.เยอะ ทีนี้ปัญหาว่าที่เขาทำเนี่ยผิดหรือเปล่าก่อน การที่มาพูดเพื่อให้คนพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ก็ดี รักษาอธิปไตยของชาติก็ดี มันไม่ผิดหรอก คนส่วนใหญ่ก็มองว่าไม่ผิดหรอก อันนี้เป็นหน้าที่ที่ต้องรณรงค์กันด้วยซ้ำไป (ถาม-เรื่องการแต่งเครื่องแบบก็เอาผิดไม่ได้ด้วย?) ในเรื่องแต่งเครื่องแบบก็เอาผิดไม่ได้ แต่งเครื่องแบบหรือไม่แต่งเครื่องแบบก็เหมือนกัน หน้าที่ของทหาร จะแต่งเครื่องแบบ-ไม่แต่งเครื่องแบบ มันก็เป็นทหาร (ถาม-จะบอกว่าทำให้เกิดความแตกแยกในกองทัพ?) วันนี้ความแตกแยกในกองทัพมีหรือเปล่า พวกทหารก็รู้ดี ปัญหาว่าแตกแยกออกไปนั้นน่ะมันแตกแยกออกไปเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์รักษาอธิปไตยของชาติหรือไม่ เพราะวันนี้พระมหากษัตริย์เราถูกจาบจ้วงล่วงเกินมากมาย ทหารจำนวนหนึ่งก็เงียบกริบเลย ไม่ทำหน้าที่ จนประชาชนต้องมาทำหน้าที่แทนอย่างนี้ (ถาม-คำพูดของโฆษกกระทรวงกลาโหมทำให้รู้สึกว่า รัฐบาลกับทหารเป็นองค์กรเดียวกัน เป็นแบบนั้นเหรอ?) ทหารเนี่ย ที่จริงกองทัพเนี่ย ใครเป็นจอมทัพ พระมหากษัตริย์เป็นจอมทัพนะ ผบ.สส.เนี่ยขึ้นต่อจอมทัพนะ การแต่งตั้งก็แต่งตั้งโดยจอมทัพ ฝ่ายการเมืองรัฐบาลมีหน้าที่เพียงแต่นำขึ้นกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองฯ เท่านั้น อย่าไปหลงว่าอำนาจนี้เป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่ใช่”

นายไพศาล ยังฝากเตือนถึงผู้เกี่ยวข้องของไทยกรณีปราสาทพระวิหารด้วยว่า อย่าใช้คำว่า “พื้นที่ทับซ้อน” บริเวณเขาพระวิหารเป็นอันขาด เพราะพื้นที่ทับซ้อนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นผลตามกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น เช่น ในทะเล มีกฎหมายระหว่างประเทศว่า “จากแนวฝั่งออกไป 200 ไมล์ทะเลเป็นของประเทศนั้น” ดังนั้น ประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน เมื่อนับออกไป 200 ไมล์ทะเลก็อาจทับกันได้ซ้อนกันได้ จึงเรียกว่า พื้นที่ทับซ้อน แต่พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารนั้น ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นพื้นที่ของไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตสันปันน้ำฝั่งไทย ซึ่งหลักกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า “ถ้าพื้นที่ใดอยู่ในแนวเขตสันปันน้ำของประเทศใด พื้นที่นั้นเป็นของประเทศนั้น” พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าฝนตก น้ำไหลผ่านสันปันน้ำลงมาประเทศใด ก็เป็นพื้นที่ของประเทศนั้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า พื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เวลาฝนตก น้ำจะไหลลงมาฝั่งไทย เพราะฉะนั้นทั้งบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารและอุทยานรอบปราสาท จึงเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ ไม่มีทางที่จะเกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาได้ หากไทยไปยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนเมื่อไหร่ ก็เท่ากับเราได้ยกพื้นที่ดังกล่าวให้เขมรมีส่วนจัดการหรือเป็นเจ้าของพื้นที่ครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่า เราได้เสียอธิปไตยเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคนไทยคงไม่ต้องการแบบนั้นแน่!!
พล.อ.ปฐมพงษ์ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ วันที่ 11 ก.ค.51เวลา 18.15 น.
พล.อ.ปฐมพงษ์ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ เช้ามืดวันที่ 12 ก.ค. เวลา 04.00 น.
พล.อ.ปฐมพงษ์ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ วันที่ 13 ก.ค.เวลา 19.00น.
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาลและอดีตแกนนำ นปก.จี้ ผบ.สส.ลงโทษ พล.อ.ปฐมพงษ์อย่างถึงที่สุด
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส.ชี้ การลงโทษทหารอัตราจอมพล ทำได้แค่ว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น.
สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งให้กรมพระธรรมนูญ กรมเสมียนตรา และกองบัญชาการกองทัพไทย สอบการกระทำของ พล.อ.ปฐมพงษ์ว่าขัด รธน.หรือผิดข้อบังคับอะไรบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น