หลายคนคงเคยได้ยินสำนวน ‘สิบคนเข้าไม่เท่าคนหนึ่งออก’ ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงการรับคนใหม่มาหลายๆ คนก็ไม่สามารถทดแทนคนเก่าเพียงหนึ่งคนที่ออกไปได้ ยิ่งถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมากประสบการณ์ด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งหาตัวจับได้ยาก แต่ ‘การลาออกในโลกของการทำงาน’ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอด เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลและมีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อเราตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงานแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ เลยนั่นก็คือ การจัดการกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันสะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออมเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งยังมีมนุษย์เงินเดือนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญของเงินก้อนนี้ หรืออาจจะเล็งเห็นแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับเงินก้อนนี้อย่างไรในวันที่เราลาออก ดังนั้น ในวันนี้ KAsset จึงขอนำวิธีการจัดการเงิน PVD มานำเสนอให้ทุกคนได้ทราบกัน
วิธีที่ 1 รับเงิน PVD พร้อมรับภาระทางภาษี โดยปกติแล้วเมื่อเราลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน เราจะได้รับเงินคืนมา 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ (1) เงินสะสมจากเงินเดือนที่เรายินยอมให้นายจ้างหักเข้ากองทุนทุกๆ เดือนในอัตราระหว่าง 2-15% ของเงินเดือน (2) เงินสมทบจากนายจ้างที่จ่ายเข้ากองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับเราในฐานะลูกจ้าง โดยจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง และ (3) เงินผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ ซึ่งก็คือดอกผลที่เกิดจากการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง ซึ่งเมื่อเราลาออกและประสงค์ขอรับเงิน PVD เราจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้นๆ โดยจะคิดภาษีเฉพาะเงินสมทบ และเงินผลประโยชน์ฯ ไปคำนวณเพื่อเสียภาษี ส่วนเงินสะสมจะไม่ได้นำมาคิดด้วย สำหรับวิธีการคำนวณจะมีด้วยกัน 2 วิธี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน คือ ทำงานน้อยกว่า 5 ปี และทำงานมากกว่า 5 ปี ซึ่งผู้ที่ทำงานมามากกว่า 5 ปีจะเสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ทำงานมาไม่ถึง 5 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะมีอายุงานเท่าไหร่ก็ตาม หากเรายังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน ก็ควรเลี่ยงวิธีนี้ เพราะนอกจากเราจะไม่มีเงินหลักประกันไว้ใช้จ่ายยามเกษียณแล้ว เรายังจะต้องเสียภาษีเงินได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
วิธีที่ 2 คงเงิน PVD ไว้ที่กองทุนเดิม เราสามารถเลือกคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละกองทุน โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรักษาสถานะสมาชิกกองทุนเป็นรายปีอยู่ที่ 500 บาทต่อปี ซึ่งการคงเงินไว้จะทำให้เราออมเงินต่อในกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังสามารถโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนใหม่ได้ในวันที่เราได้งานใหม่ ซึ่งถือเป็นการลดภาระทางภาษีได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดในแง่ที่เราไม่สามารถเลือกเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของกองทุนได้ ทำให้นโยบายการลงทุนที่เราได้เลือกไว้ในวันนี้อาจไม่สอดคล้องกับเราในอนาคตก็เป็นได้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นรับความเสี่ยงได้น้อยลง และจากสถานการณ์การลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
วิธีที่ 3 โอนย้ายเงิน PVD มายัง RMF ด้วยความที่ทั้ง 2 กองทุนมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เราจึงสามารถนำเงินมารวมไว้ที่เดียวกันได้เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ซึ่งมีความน่าสนใจกว่าวิธีอื่นๆ ตรงที่ (1) ไม่ต้องเสียภาษีจากการนำเงินออกจาก PVD (2) ไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอนย้ายเงิน PVD มา RMF และ (3) ไม่เสียค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนระหว่าง RMF for PVD ภายใต้การจัดการของ บลจ.เดียวกัน โดยเราสามารถปรับสัดส่วนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พอร์ตการลงทุนเพื่อวัยเกษียณของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ กองทุน RMF ที่รับโอนเงินจาก PVD จะมีวงเล็บกำกับท้ายชื่อกองทุนว่า ‘รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF for PVD’
เลือก RMF for PVD ทั้งที...ต้องเลือก บลจ.ที่มีกองทุนให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของนโยบายการลงทุน และประเภทของสินทรัพย์ โดยเราสามารถกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตของตัวเองได้ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทจะทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนในสภาวะตลาดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ สำหรับ RMF for PVD ของ KAsset มีให้เลือกหลากหลายกว่า 15 กองทุน ครอบคลุมนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ KAsset เปิดโอกาสให้มนุษย์เงินเดือนที่ลาออกหรือเปลี่ยนงาน สามารถสร้างอนาคตที่มั่นคงในวัยเกษียณได้ผ่านโปรโมชันดีๆ เพียงโอนย้ายเงิน PVD มาลงทุนต่อใน RMF for PVD กสิกรไทยที่ร่วมรายการ พร้อมลงทะเบียนใช้งาน App K-My Funds ในระหว่างวันที่ 20 ม.ค.-30 ธ.ค. 63 รับหน่วยลงทุนกองทุน K-FIXEDPLUS สูงสุด 2,000 บาทต่อท่าน