xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกกองทุนประหยัดภาษี กับกองทุน SSF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ท่านที่อยู่ในแวดวงการลงทุนคงได้ยินชื่อกองทุนรวมเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เรียกกันว่า Super Savings Fund หรือ SSF กันมาบ้างแล้ว ผมจึงขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น SSF เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีคล้ายกับกองทุน LTF ที่เพิ่งถูกยกเลิกไป ซึ่งหากดูเผินๆ แล้วจะเสมือนว่า SFF เข้ามาแทนที่ LTF แต่ในความเป็นจริงแล้วมีทั้งส่วนใช่และไม่ใช่ เป็นอย่างไรเรามาดูกันนะครับ

ผมขอย้อนกลับไปในปีก่อนๆ หน้านี้ นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 วงเงินด้วยกัน วงเงินที่ 1 ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินที่ 2 ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งได้สิทธิทางภาษี 15% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมานี้รัฐบาลไม่ต่ออายุวงเงินการลงทุน LTF ทำให้นักลงทุนเหลือวงเงินลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงวงเงินที่ 1 เพียงอย่างเดียว โดยในวงเงิน 500,000 บาทเดิมนี้รัฐบาลได้เพิ่มทางเลือกการลงทุนขึ้นมาให้อีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งก็คือ SFF นั่นเอง

การลงทุนในกองทุน SSF จะลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่เสียภาษี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


สำหรับสินทรัพย์ที่ SSF สามารถลงทุนได้นั้นจะมีความยืดหยุ่นกว่า LTF มาก โดย LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นทุนเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน หน่วยลงทุนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น ด้วยทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายนี้นับเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนตามแนวโน้มการลงทุนในแต่ละช่วงได้ดีกว่าการกระจุกตัวอยู่ในหุ้นทุนเพียงอย่างเดียว เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนตามความคาดหวังและยังสามารถทำการกระจายความเสี่ยงการลงทุนจากการมีสินทรัพย์หลากหลายประเภทได้อีกด้วย ซึ่งการจัดตั้งกองทุน SSF ของหลายๆ บริษัทจัดการสามารถทำได้ด้วยการจัดตั้งกองทุนขึ้นใหม่หรือการนำกองทุนเดิมที่เสนอขายอยู่มาเพิ่มชนิด (share class) เป็น SSF ได้

การถือครองของกองทุน SSF ต้องถือครองไม่ต่ำกว่า 10 ปีในแต่ละครั้ง (นับแบบวันชนวัน) ถึงจะสามารถขายคืนได้ ซึ่งเหมาะต่อผู้ลงทุนในวัยหนุ่มสาวเพิ่งเริ่มต้นทำงาน (อายุ 25-30 ปี) และวัยสะสมเงินทอง (อายุ 30-45 ปี) และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่สำหรับท่านที่มีอายุก่อนเกษียณเหลือไม่ถึง 10 ปี การลงทุนในกองทุน RMF จะมีความยืดหยุ่นกว่า เพราะเมื่อได้ลงทุนครั้งแรกใน RMF ครบ 5 ปี และอายุ 55 ปีขึ้นไป ท่านจะสามารถขายคืนได้ทั้งหมดไม่ว่าลงทุนปีไหน โดยไม่ต้องรอครบทีละรายการแบบกองทุน SSF


นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ควรพิจารณาว่ากองทุนประเภทใดตรงตามวัตถุประสงค์ และหากยังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ครบ กองทุน SSF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งการออมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องสร้างวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น