xs
xsm
sm
md
lg

คลอดกองทุนSSFแทนLTF-ถือยาว10ปีลดหย่อนได้30%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.อนุมัติจัดตั้งกองทุน SSF ทดแทนกองทุน LTF ยืดหยุ่นเงื่อนไขการลงทุน หวังดึงดูดผู้ออมคนรุ่นใหม่ เปิดกว้างให้ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องถือยาวไม่ต่ำกว่า 10 ปี สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท เริ่มเปิดให้ลงทุนผ่านกองทุนนี้ได้ในเดือน ก.พ. 63 พร้อมปรับเกณฑ์ RMF ให้ลดหย่อนเพิ่มจากเดิม 15% เป็น 30% แต่ให้ยอดรวมเท่าเดิมไม่เกิน 5 แสนบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย และผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงาน ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว

สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น จะให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 30 %ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท มูลค่าการลงทุนจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เช่น กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว

ส่วนการลงทุนของกองทุน SSF นั้น จะเปิดกว้างให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท โดยไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นอกจากนี้ เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ลงทุนสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563 - 2567) โดยเมื่อครบ 5 ปีกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการฯ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับการซื้อกองทุน RMF โดยปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษี จากเดิมไม่เกิน 15 % ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30 % ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF จากเดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า3 % ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

ทั้งนี้ ผลประเมินกรณีซื้อหน่วยลงทุนของ SSF และ RMF เต็มตามเพดานที่กำหนดแล้ว กลุ่มคนที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้น 180,000 บาทต่อปี และผู้ออมที่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินในระยะยาวเพิ่มขึ้น 360,000 บาทต่อปี แต่หากผู้ออมที่รายได้ 100,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้น 500,000 บาทต่อปี ส่วนยอดรวมผู้ใช้สิทธิการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากลงทุนในกองทุน LTF ในปี 61 จะมีทั้งสิ้นราว 400,000 ราย โดยมียอดการขอคืนภาษีฯ ราวกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)จะยอดรวมผู้ใช้สิทธิการคืนภาษีฯ ราว 2 แสนราย คิดเป็นยอดรวมการขอคืนภาษีฯ กว่า 6,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น