xs
xsm
sm
md
lg

SET แนะเตรียมพร้อมลงทุนและประหยัดภาษีด้วยกองทุน Super Savings Fund (SSF)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อ การเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) เพื่อทดแทนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) ที่จะสิ้นสุดไป

ฉัตรชัย ทิศาดลดิลก ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในข้อมูล SET Note ฉบับที่ 13/2562 โดยให้มุมมองว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) สรุปตามภาพที่ 1 เพื่อทดแทนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) ที่จะสิ้นสุดไป

การวิเคราะห์เบื้องต้นค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน PVD, RMF, และ LTF (ปี 2562) เทียบกับการลงทุนใน PVD, SSF, และ RMF (ปี 2563) ในปี 2562 นักลงทุนยังสามารถใช้สิทธิทางภาษีสำหรับการลงทุนใน LTF ตามเงื่อนไขการถือครองตามเดิมโดยยังคงต้องถือครองให้ครบ 7 ปีภาษี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 หากนักลงทุนต้องการลงทุนในกองทุนรวมและสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถลงทุนใน SSF หรือสามารถลงทุนใน RMF ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มขึ้นจากอัตรา 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน ภายใต้ข้อจำกัดวงเงินตามภาพที่ 1 ข้างต้น ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่อายุไม่เยอะ SSF มีเงื่อนไขให้ถือหน่วยลงทุน 10 ปี ซึ่งยืดหยุ่นกว่า RMF ที่ต้องถือจนถึงอายุ 55 ปี

เพื่อให้เข้าใจผลของการปรับเปลี่ยนมาตรการสนับสนุนการออมดังกล่าว จะยกตัวอย่างการคำนวณสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 ในปี 2562 นายแดง มีเงินได้พึงประเมิน 70,000 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับ 840,000 บาทต่อปี และส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ในอัตรา 10% ของรายได้ (84,000 บาท) นอกจากนี้นายแดงได้ลงทุนใน LTF และ RMF ในอัตรา 15% ของรายได้ หรือ อย่างละ 126,000 บาท ดังนั้น นายแดง มีสิทธิได้ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนรวม PVD LTF และ RMF อยู่ที่ 336,000 บาท (84,000 + 126,000 + 126,000)หมายเหตุ: เป็นการคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเบื้องต้น ยังไม่รวมสิทธิลดหย่อนอื่นๆ ที่แต่ละท่านอาจมีอยู่แล้วแตกต่างกันไป 
ไม่ได้รวมสิทธิลดหย่อนทางภาษีจากการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ทั้งนี้เมื่อรวมกับ PVD SSF และ RMF หักลดหย่อนรวมได้ไม่เกิน 500,000 บาท   LTF หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท และ SSF หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท

หากในปี 2563 นายแดง มีเงินได้พึงประเมินเท่าเดิมและส่งเงินสะสมเข้า PVD ในอัตรา 10% ของรายได้ (84,000 บาท) นอกจากนี้นายแดงได้ลงทุนใน SSF 200,000 บาท และ RMF 216,000 บาท เพื่อให้เต็มวงเงินรวม 500,000 บาท ดังนั้น นายแดงมีสิทธิได้ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนรวม PVD SSF และ RMF อยู่ที่ 500,000 บาท (84,000 + 200,000 + 216,000) หมายเหตุ: เป็นการคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเบื้องต้น ยังไม่รวมสิทธิลดหย่อนอื่นๆที่แต่ละท่านอาจมีอยู่แล้วแตกต่างกันไป

ไม่ได้รวมสิทธิลดหย่อนทางภาษีจากการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ทั้งนี้เมื่อรวมกับ PVD SSF และ RMF หักลดหย่อนรวมได้ไม่เกิน 500,000 บาท     

 
LTF หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท และ SSF หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นจะเห็นว่า นายแดงมีสิทธิได้รับลดหย่อนภาษีจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เพราะการลงทุนใน SSF และ RMF ได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มขึ้น (จาก 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน)

อย่างไรก็ตาม หากมีฐานเงินได้พึงประเมินสูงมาก เกินกว่า 1,200,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิลดหย่อนภาษีจาก LTF (ไม่เกิน 500,000 บาท) เพราะ SSF จะใช้วงเงินลดหย่อนภาษีร่วมกับ PVD และ RMF (รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท)

ตัวอย่างที่ 2 ในปี 2562 นายเขียว มีเงินได้พึงประเมิน 200,000 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับ 2,400,000 บาทต่อปี และส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ในอัตรา 10% ของรายได้ (240,000 บาท) นอกจากนี้นายเขียวได้ลงทุนใน LTF ในอัตรา 15% ของรายได้ (360,000 บาท) และลงทุนใน RMF อีก 260,000 บาท เพื่อให้เต็มวงเงินลดหย่อนภาษีร่วมกับ PVD และ RMF ที่ 500,000 บาท ดังนั้นนายเขียวมีสิทธิได้ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนรวม PVD LTF และ RMF อยู่ที่ 860,000 บาท (240,000 + 360,000 + 260,000)

หากในปี 2563 นายเขียว มีเงินได้พึงประเมินเท่าเดิมและส่งเงินสะสมเข้า PVD ในอัตรา 10% ของรายได้ (240,000 บาท) นายเขียวจะสามารถลงทุนใน SSF และ RMF ได้อีกเพียง 260,000 บาท เพื่อให้เต็มวงเงิน PVD+RMF+SSF ที่ 500,000 บาท

ฐานรายได้และการจ่ายภาษี

ในการศึกษาฐานข้อมูลผู้เสียภาษีจานวน 3.28 ล้านคน จากผู้ยื่นแบบฯ จำนวน 9.75 ล้านคน โดยอธิภัทร (2560) ที่แบ่งผู้เสียภาษีออกเป็นห้ากลุ่ม (quintile) ตามช่วงรายได้ พบว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 91,620 บาทต่อเดือน คิดเป็นกว่า 80% ของผู้เสียภาษีทั้งหมด (ภาพที่ 2) จึงอนุโลมได้ว่า ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือนจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีจากการลงทุน (PVD SSF และ RMF) เพิ่มขึ้นในปี 2563 และในจำนวนนี้ อาจมีส่วนหนึ่งที่จะใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนดังกล่าวเพิ่ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการออม หรือการใช้สิทธิลดหย่อนอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาข้างต้นมีข้อสังเกตสำคัญหนึ่งเกี่ยวกับการหักลดหย่อน LTF คือ รายจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นจะกระจุกตัวค่อนข้างมากในกลุ่มคนมีรายได้สูง โดย 54% ของรายจ่ายภาษี LTF เป็นของ Top 5% ของผู้เสียภาษี และ 92.4 ของรายจ่ายภาษี LTF เป็นของ Top 20% ของผู้เสียภาษี และอาจอ้างอิงได้ว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีจากการลงทุน (PVD SSF และ RMF) ลดลงในปี 2563

ทั้งนี้การออมระยะยาวรวมถึงการลงทุนเพื่อเตรียมเงินไว้ใช้วัยเกษียณนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าแรงจูงใจทางภาษีจะเปลี่ยนไป และควรคำนึงถึงการจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยง อาทิ หากผู้ลงทุนยังมีระยะเวลาทำงานอีกนานก่อนจะเกษียณ ก็ควรจะมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงการลงทุนในหุ้น สูงกว่าผู้ที่ใกล้จะเกษียณ ทั้งนี้เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นและให้มีเงินเพียงพอยามเกษียณ

อย่างไรก็ตามระบบบำนาญและการออมเพื่อการเกษียณมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเช่นประเทศไทย และเมื่อพิจารณาภาพรวมระบบบำนาญทั้งในด้านความครอบคลุม (Coverage) ความยั่งยืน (Sustainability) และความเพียงพอ (Adequacy) แล้ว จะเห็นได้ว่าทั้ง PVD, SSF, และ RMF ล้วนเป็นการออมเพื่อการเกษียณในกลุ่มเดียวกัน กล่าวคือเป็นการออมภาคสมัครใจที่มักจะมีความครอบคลุมน้อย ดังนั้นควรจะมีการพัฒนาระบบการออมภาคบังคับให้ครอบคลุมประชาชนโดยทั่วไปมีความยั่งยืน และเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ


กำลังโหลดความคิดเห็น