สำหรับผู้ลงทุนที่ติดตามการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศคงมีคำถามเกิดขึ้นว่า จะให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ตลาดหุ้นประเทศไหนดี เพราะดูเหมือนว่าทุกๆ ตลาดหุ้นก็จะมีปัจจัยลบที่เข้ามากดดันภาพการลงทุนที่แตกต่างกันไปหมด โดยในคอลัมน์ฉบับนี้ผมขอให้มุมมองของเศรษฐกิจในตลาดหุ้นประเทศหลักๆ ดังนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจภายนอกประเทศจะยังคงกดดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยคาดหวังว่า เฟดจะมีการพิจารณาการปรับขึ้นอย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นอื่นๆ อีกทั้งคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นครั้งแรกของปีนี้จะอยู่ในช่วงเดือน ก.ค. ในภาพการลงทุนยังคงให้น้ำหนัก Neutral ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือว่ามีพื้นฐานที่แข็งแรงขึ้น แต่หากเทียบกับค่า PE ที่ระดับประมาณ 16 เท่า ถือว่ายังสูงหากเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าระดับ PE ที่ประมาณ 15 เท่า และ 12 เท่า ตามลำดับ
ตลาดหุ้นยุโรป ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเดือน พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นมากเกินคาด รวมถึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มบริษัทและผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ -0.7 สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. จาก -2.8 ในเดือน เม.ย. 59 สะท้อนเศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ในช่วงการฟื้นตัวต่อเนื่อง
ในแง่มุมของการลงทุนนั้น จากสภาพคล่องยังมีอัดฉีดเข้าระบบยังเป็นผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการลงทุน ดังนั้น ผมยังคงคำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปในระยะยาว เพียงแต่ในระยะสั้นตลาดหุ้นยุโรปอาจมีความผันผวนจากความกังวลเรื่องการออกจากกลุ่มสมาชิกยูโรโซนของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้กดดันตลาดทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนจนกว่าจะมีผลการทำประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ในขณะที่ปัจจัยลบเรื่องกรีซได้คลี่คลายลงหลังเจ้าหนี้ได้มีการอนุมัติให้ปรับขึ้นภาษีและการจัดตั้งกองทุนแปรรูปกิจการเป็นของเอกชน รวมทั้งอนุญาตให้มีการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อแลกกับสินเชื่อจากต่างประเทศและการเจรจาลดหย่อนหนี้
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นและส่งผลดีต่อค่าเงินเยนให้อ่อนค่าลงบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ในเชิงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางภาครัฐยังคงส่งสัญญาณที่พร้อมจะผลักดันเศรษฐกิจทุกวิถีทางที่จำเป็น แต่สิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือนโยบายทางการคลังและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขัน นักลงทุนคาดว่าการประชุม G7 จะมีความชัดเจนด้านทิศทางค่าเงินเยนมากขึ้น นอกจากนี้ ผมมองว่าทางการญี่ปุ่นจะพยายามหามาตรการทางคลังอื่นๆ มาช่วย อย่างเช่นการเลื่อนแผนการขึ้นภาษี VAT เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมความน่าลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทั้งนี้ หากดัชนีปรับตัวลงยังคงมองเป็นโอกาสทยอยลงทุนได้ที่ระดับดัชนี NIKKEI ประมาณ 17,000 จุด
ตลาดหุ้นจีน ปีนี้เศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครับ ซึ่งผมยังคงมุมมองว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แม้ว่าดัชนีจัดซื้อของจีนในเดือน พ.ค.จะปรับตัวลดลงที่ระดับ 53.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ 53.5 ขณะที่ภาคการผลิตยังทรงตัว ซึ่งส่งสัญญาณได้ว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะการเติบโตแล้ว เพียงแต่จะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับภาพการลงทุนตลาดหุ้นจีน ทางด้านผู้จัดการกองทุนจีนเริ่มส่งสัญญาณการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นให้สูงขึ้นสำหรับช่วง 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเชื่อมั่นว่า ตลาดหุ้นจีนได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วเช่นกัน ขณะที่โครงการ QFII ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในตลาดทุนจีนได้นั้น ปัจจุบันยอดเงินคงค้างสกุลดอลลาร์ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.1098 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดือนก่อน บ่งชี้ได้ว่าเริ่มมีเม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นจีน ซึ่งหากพิจารณาจากระดับราคาหุ้นปัจจุบันถือว่าปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก แต่ในเชิงการลงทุนยังคงต้องรอติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนที่ชัดเจนมากขึ้น และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่แต่ละภาครัฐพยายามนำออกมาประกาศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง กอปรกับการใช้มาตรการทางการเงินแบบระมัดระวังของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ทำให้ผมมองว่าแม้ตลาดจะมีความผันผวนแต่โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศก็ยังมีอยู่ โดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน อีกทั้งการกระจายการลงทุนจะเป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างโอกาสจากการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ครับ
“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
คุณมณฑล จุนชยะ
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ
monthol.j@one-asset.com