มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช เผยกองทุนต่างประเทศเติบโตช้าลง ไตรมาส 1/59 มีเงินไหลเข้าลงทุนเพียง 3,105 ล้านบาท ลดลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 24,508 ล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นญี่ปุ่นได้รับความนิยมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ไม่นับรวมกองทุนที่มีอายุ (Term Fund) นั้นยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่เท่ากับช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมาก็ตาม โดยสินทรัพย์สุทธิของกองทุน FIF ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดโลกที่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยกองทุน FIF มีสินทรัพย์สุทธิรวมทั้งสิ้น 323,099 ล้านบาท ลดลง 3.41%
ทั้งนี้ บลจ.ต่างๆ ยังคงพยายามหาสินทรัพย์ทางการลงทุนใหม่ๆ มาเสนอเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีมีกองทุน FIF ออกใหม่ทั้งสิ้น 13 กองทุน ระดมทุนไปได้กว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนแบบผสมทั่วโลก (Global Allocation) ระดมทุนไป 3,800 ล้านบาท กองทุนกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global Infra&REITs) 2,900 ล้านบาท และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กองทุน FIF เริ่มมีการเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เป็นผลจากความผันผวนของผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนกองทุน FIF ส่วนใหญ่ติดลบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ บลจ.ต่างๆ ได้ออกกองทุน FIF ในกลุ่มดังกล่าวกันมามากแล้วตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดเองเริ่มมีความอิ่มตัวจะเห็นว่าช่วงไตรมาสที่ 1/59 ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน FIF เพียง 3,105 ล้านบาท ลดลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 24,508 ล้านบาท
สำหรับกองทุน FIF ในไทยนับจากนี้โอกาสที่จะเติบโตอย่างช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคงยากขึ้น เพราะตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว ในแง่ของสินทรัพย์ที่กองทุน FIF เข้าไปลงทุนค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้วทั้งหุ้นหรือตราสารหนี้ ตลอดจนภูมิภาคและประเทศต่างๆ ที่กองทุนเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กองทุน FIF ในตลาดไทยยังขาดนั้น คือ ความหลากหลายในแต่ละตลาด ส่วนใหญ่แต่ละบลจ.ก็จะมีกองทุนแม่คล้ายๆ กัน และมักจะลงทุนในกองทุนที่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละภูมิภาคหรือประเทศเท่านั้น
นายกิตติคุณ กล่าวอีกว่า ในแต่ละตลาดในต่างประเทศยังมีกองทุนที่มีความหลากหลายเป็นสไตล์ย่อยๆ อยู่อีกมาก แต่ บลจ.ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการนำเสนอสไตล์การลงทุนให้เป็นจุดขาย ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการให้นักลงทุนได้รู้จักกองทุน FIF ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เรามองว่าทำความเข้าใจกับนักลงทุนเองง่ายกว่าการที่กองทุนมีกลยุทธ์ซับซ้อนที่อธิบายได้ยากกว่า และหากมีกองทุนกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector fund) ได้ เชื่อว่ากองทุน FIF ที่มีสไตล์ย่อยที่หลากหลายในแต่ละตลาดก็ยังน่าจะมีโอกาสในการนำเสนอเป็นทางเลือกการลงทุนได้เช่นกัน
สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 1/59 ที่ผ่านมานั้น กลุ่มกองหุ้น FIF ที่มีเงินไหลเข้า 5 อันดับแรกก็แตกต่างไปจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีนี้จะเป็นกองทุน FIF ที่มีความผันผวนต่ำลงมาและมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น นำมาโดย อันดับ 1. กองหุ้นทั่วโลก มีเงินไหลเข้า 3,191 ล้านบาท 2. กองทุนผสมทั่วโลก 3,165 ล้านบาท 3. กอง Global Infra&REITs 2,899 ล้านบาท 4. กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 2,635 ล้านบาท และ 5. กองทุนหุ้นสหรัฐ 1,398 ล้านบาท โดยมีกองทุนหุ้นญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
ส่วนกลุ่มกองทุน FIF ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดช่วงไตรมาสที่ 1/59 นั้น นำมาโดย อันดับ 1. กองทุนทองคำ ไหลออกสุทธิ 2,300 ล้านบาท 2. กองทุนหุ้นจีน เงินไหลออกสุทธิ 2,200 ล้านบาท 3. กองทุนตราสารหนี้โลก ไหลออกสุทธิ 1,800 ล้านบาท 4. กองทุนหุ้นเอเชีย ไหลออกสุทธิ 1,800 ล้านบาท และ 5. กองหุ้นสุขภาพโลก ไหลออกสุทธิ 900 ล้านบาท