xs
xsm
sm
md
lg

กองหุ้นขนาดใหญ่ผลงานแจ่ม คาดได้อานิสงส์จาก Fund Flow

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช เผย กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ หรือ Equity Large-Cap ในไตรมาสที่ 1 ผลงานดีทำผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.96% รับอานิสงส์เงินลงทุนไหลเข้า ขณะที่นักลงทุนกองทุนรวมเทขายทำกำไร ดึงเม็ดเงินออกจากกองทุนหุ้นประมาณ -4,710 ล้านบาท

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุนหุ้นไทยไม่นับรวมกองทุน LTF และกองทุน RMF นั้นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตมาอยู่ที่ 169,158 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนของกองทุนไม่ได้เป็นการโตจากเงินลงทุนใหม่

โดยนักลงทุนบางส่วนได้มีการขายออกเพื่อทำกำไรในระยะสั้นๆ เนื่องจากเห็นผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงนี้ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นไทยกลุ่มนี้ประมาณ -4,710 ล้านบาท นับว่าเป็นยอดเงินไหลออกที่มากที่สุดนับแต่ไตรมาส 1/55 เป็นต้นมา ซึ่งเงินลงทุนที่ไหลออกนั้นส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) และกองทุนรวมดัชนี (Index Fund)

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของกองทุนรวมไทยไตรมาสแรกของปีนี้ กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่สามารถพลิกกลับมาทำผลตอบแทนได้ดีอย่างโดดเด่นเฉลี่ยอยู่ที่ 6.96% โดยได้รับอานิสงส์จากตลาดหุ้นไทยที่โตกว่า 9.3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ติดลบ

สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่ผลักดันให้กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่และกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (สมอลแคป) ให้เติบโตดี คือ อันดับ 1. หุ้นกลุ่มธนาคาร 2. กลุ่มพลังงาน 3. กลุ่มสื่อสาร และ 4. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง

ส่วนหลักทรัพย์ที่หนุนให้กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่เติบโตดี ได้แก่ หุ้น PTT, SCC, KBANK, AOT ส่วนหลักทรัพย์ที่หนุนผลตอบแทนกองทุนหุ้นกลุ่มสมอลแคปให้เติบโตโดดเด่น ประกอบด้วย หุ้น SCC, EGCO, BTS, BAFS, ADVANC, BDMS, PTT, BBL, ASK, M, CBG และ TU ซึ่งหุ้นดังกล่าวสามารถทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวผู้จัดการกองทุนยังคงให้น้ำหนักในการลงทุนดังเดิม

นายกิตติคุณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของตลาดการลงทุนนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับโลกของการลงทุน ซึ่งนักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ โอกาสที่สินทรัพย์ประเภทเดิมจะเป็นผู้ชนะคือ ทำผลตอบแทนได้ดีเป็นที่หนึ่งติดต่อกันหลายๆ ปีนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น