กองทุนรวมไตรมาส 1 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 4.24 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 4.35% รับปัจจัยบวกจากหุ้นไทยที่โตเพิ่มขึ้น กองทุนต่างประเทศ FIF ยังมีเงินเข้าลงทุนต่อเนื่อง มองแนวโน้มไตรมาส 2 หุ้นขนาดใหญ่ยังได้รับความน่าสนใจ รวมทั้งกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนรวมไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยได้รับอานิสงส์จากตลาดหุ้นไทยที่โตกว่า 9.3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ติดลบ ทำให้ในไตรมาส 1 ปีนี้กองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.35% จากปลายปี 2558 ที่ผ่านมาและยังคงมีแนวโน้มในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ส่วนหลักๆ นั่นก็คือ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยที่โตกว่า 9.3% และการที่นักลงทุนยังคงลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่าเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนสุทธิรวมกว่า 110,520 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มสินทรัพย์หลักที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนนั้นก็คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ภายในประเทศทั้งแบบระยะกลางถึงยาว(Mid/Long Term Bond) และรวมไปถึงกลุ่มกองทุนรวมแบบผสมทั้งที่ลงทุนในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มากของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ โดยกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวนั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างล้นหลาม โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 125,723 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มตราสารหนี้แบบ Term Fund ที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign investment Bond Fix Term) และกองทุนตราสารหนี้แบบระยะสั้น(Short Term Bond) ซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 76,179 และ 13,018 ล้านบาทตามลำดับ
ส่วนกลุ่มกองทุนที่ผู้ลงทุนตัดสินใจขายออกมากที่สุดนั้นได้แก่ กองทุนกลุ่ม Global High Yield Bond ที่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วมามีผลตอบแทนที่คาดหวังลดต่ำลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ประมาณ 2% เท่านั้นทำให้กองทุนกลุ่มนี้ขาดความน่าสนใจไป ส่งผลให้ผู้ลงทุนตัดสินใจไม่ลงทุนต่อเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุ โดยกลุ่มนี้มีเงินไหลออกสุทธิกว่า 66,556 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนตลาดเงินซึ่งปกติแล้วจะเป็นแหล่งพักเงินของผู้ลงทุนที่สำคัญ แต่ต้นปีมานี้มีผู้ลงทุนขายออกสุทธิที่ 51,261 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการย้ายเงินไปลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวเนื่องจากมีผลตอบแทนที่ดีกว่า และอีกกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิค่อนข้างมากนั้นคือกลุ่มกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ที่มีเงินไหลออกสุทธิประมาณ 8,426 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1. ผู้ลงทุนขายทำกำไรระยะสั้นเนื่องจากดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูง และ 2. ผลมาจากการขายหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระยะยาว LTF ที่ครบกำหนดนั่นเอง
“ในไตรมาส 1 กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว Mid/Long Term Bond ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นที่เฉลี่ย 1.45% เช่นเดียวกับกลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.28% ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวยังได้รับความน่าสนใจเนื่องจากกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ให้ผลตอบแทนต่ำ นักลงทุนจึงเลือกที่จะรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวเพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น”
สำหรับการลงทุนในต่างประเทศหรือกองทุน FIF นั้น ไม่รวมกองทุน Term Fund ยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมาก็ตามแต่ บลจ.ต่างๆ ก็ยังคงพยายามหาสินทรัพย์ทางการลงทุนใหม่ๆ มาเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีมานี้มีกองทุน FIF เปิดใหม่ทั้งสิ้น 13 กองทุนทำยอด IPO ได้กว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนแบบผสมทั่วโลก (Global Allocation) กองทุนกลุ่ม Global Infra&REITs และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศใน ASEAN
ขณะที่กองทุนต่างประเทศที่ทำผลตอบแทนได้ดีในปีที่แล้วนั้นในไตรมาส 1 นี้ให้ผลตอบแทนติดลบ นำมาโดยกลุ่ม Healthcare ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดที่ -14.39% ตามมาด้วยกลุ่ม Japan Equity ที่เฉลี่ย -10.29% กลุ่มหุ้นจีน China Equity ที่เฉลี่ย -7.88% และกลุ่ม Europe Equity ที่ทำได้เฉลี่ย -6.36%