หลังจากกลั้นใจผ่านปลายปี 2558 ที่ปั่นป่วนแบบตั้งตัวกันไม่ทันไปแล้ว หลายคนก็มีความหวังอีกครั้งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี พร้อมแสดงความชัดเจนในทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งช่วยคลี่คลายความกังวลเกี่ยวกับจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ย และถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มแข็งแรง
ขณะที่การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นเป็นแรงหนุนตลาดการเงินที่สำคัญ แต่ความหวังก็ดูเลือนรางลงเมื่อเปิดตลาดปี 2559 และมีความผันผวนอย่างหนักทั้งจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน และราคาน้ำมันที่ดิ่งลงต่ำกว่า 27 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี กดดันการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจนทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นกว่า 14.32% ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ดัชนีหุ้นโลก หรือ MSCI World Index ปรับลดลง 9.55%
ความไม่แน่นอนภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนทำให้ทั่วโลกกลับมาตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในตลาดโลก และท้ายที่สุดแล้วปีนี้สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่นักลงทุนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จะมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่นักลงทุนควรต้องจับตามองในปีนี้
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลง คงยากที่จะปฏิเสธว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ต้นปีส่วนใหญ่สร้างความผิดหวังให้ตลาด แม้ว่าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งจากอัตราว่างงานในเดือน ม.ค. 2558 ลดลงสู่ระดับ 4.9% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 8 ปี และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ภาคการผลิตและการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาแข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ Fed มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 มกราคมที่ผ่านมา ความกังวลเหล่านี้ทำให้ตลาดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2559 นี้เหลือเพียงแค่ 1 ครั้ง ซึ่งต่างจากที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ที่ร้ายแรงกว่านั้น ถ้าเศรษฐกิจยังชะลอลงไปอีกอาจทำให้ Fed กลับลำไม่ดำเนินนโยบายตามที่แถลงไว้ ซึ่งจะสร้างความผันผวนในตลาดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรณีหลังน่าจะมีความเป็นไปได้น้อย
2. จีนมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้น เศรษฐกิจจีนในปี 2558 เติบโตเพียง 6.9% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 25 ปี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 6.3% ในปีนี้ และ 6.0% ในปีหน้า จากการหดตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งแรงกดดันจากกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายธุรกิจ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต ยอดขายและกำไรหดตัวลง ซึ่งจีนคงต้องมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเน้นส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศแทนการลงทุน และการกระตุ้นภาคการผลิตเพื่อการส่งออกแบบเดิม นอกจากนี้ จีนยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ตลาดคาดการณ์ว่าเงินหยวนยังแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็นจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางจีนต้องเข้าแทรกแซงโดยการประกาศลดค่าอ้างอิงเงินหยวน ซึ่งทางการจีนต้องใช้เงินสำรองสูงถึง 99,500 ล้านดอลลาร์ในเดือน ม.ค.เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและสกัดเงินทุนไหลออก
3. มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางหลักอย่างยุโรปและญี่ปุ่นอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง ความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจกดดันให้ธนาคารกลางยุโรปออกมาให้สัญญาณว่าจะหนุนอัตราเงินเฟ้ออย่างเต็มที่เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมาย แต่เท่าที่ผ่านมาผลการอัดฉีดสภาพคล่องที่สูงถึง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก หากดูจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มเพียง 0.2% ในเดือน พ.ย. 2558 และ 0.4% ในเดือน ม.ค. 2559 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำเกินไปที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน
ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อเสริมมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องที่ดำเนินอยู่ ซึ่งหลังจากออกประกาศเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นเกือบ 3% ทันทีพร้อมทั้งการอ่อนค่าของเยนไปแตะที่ 121.14 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ผ่านไปเพียงสัปดาห์กว่าดัชนีกลับร่วงกว่า 8% ส่วนเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 115.11 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลลัพธ์เหล่านี้นำมาสู่ข้อสงสัยต่อไปว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินเชิงปริมาณและการใช้ดอกเบี้ยติดลบที่นานเกินไปไม่เพียงมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง แต่อาจสร้างผลกระทบทางลบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจก็เป็นได้
ท่ามกลางสภาวะความผันผวนที่ทวีความรุนแรงและรวดเร็ว นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงต่างพุ่งเข้าหาที่กำบังอย่างทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถสร้างมูลค่าหรือเติบโตได้อย่างแท้จริง จึงอาจเหมาะเป็นเพียงที่หลบภัยเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมองว่ากลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงและคัดเลือกการลงทุนที่เหมาะสมยังเป็นกุญแจสำคัญในภาวะตลาดตื่นตระหนกและไม่แน่นอน การกล้าลงทุนในช่วงที่ทุกคนกลัวอาจสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจก็เป็นได้
คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน จัดทำ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559