ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการประชุม กนง.วันที่ 3 ก.พ.นี้ น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อรอดู ศก.จีน และการตัดสินใจของเฟด แนะผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรตั้งรับต่อความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น จากผลของการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ในภูมิภาค และสัญญาณที่จะทยอยส่งออกมาจากเฟด ซึ่งจะทำให้ตลาดปรับสมดุลไปมาระหว่างการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเทศเกิดใหม่ที่ราคาลดลงไปมากแล้ว กับสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเหตุผลของความปลอดภัยในการลงทุน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบแรกของปี 2559 ในวันที่ 3 ก.พ.59 เพื่อรอติดตามสถานการณ์แวดล้อมที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเด็นเศรษฐกิจจีน และทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ เนื่องจากประการแรก ความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจเลือกที่จะปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าในระยะข้างหน้ามีมากขึ้น ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อัตราการเติบโตแตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี ตลอดจนการไหลออกของเงินทุน จนทำให้ระดับเงินทุนสำรองของทางการจีนลดลงไปกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในปี 58 ที่ผ่านมา ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวคงกดดันให้ทางการจีนอาจจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการผลักดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก เพื่อช่วยกระตุ้นภาคการส่งออก รวมทั้งลดภาระจากการที่จะต้องใช้เงินทุนสำรองในการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน
ประการที่สอง จังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด มีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยแม้ว่าการประชุมนโยบายการเงินรอบล่าสุดของเฟดเมื่อวันที่ 27 ม.ค.59 ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ถ้อยแถลงที่ระบุถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และพัฒนาการของตลาดการเงินก็สะท้อนถึงแนวโน้มที่เฟดอาจมีท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งหากตามมาด้วยการส่งสัญญาณในทิศทางดังกล่าวที่ชัดเจนขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ก็จะช่วยให้ภาวะเงินทุนไหลออกของตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยเบาบางลง รวมถึงคงลดแรงกดดันต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบตามธนาคารกลางยุโรปแล้ว
แม้ว่าการที่เฟดอาจชะลอการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปดังกล่าว จะสนับสนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับการที่ทางการจีนยังอาจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งคงมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวนในระยะนี้ แต่ทิศทางดังกล่าวก็อาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ จนกดดันให้ ธปท. ต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตาม เพราะจะเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติโยกย้ายสินทรัพย์ไปสู่สกุลดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาเงินออมภาคเอกชนที่ลดลง เป็นต้น
ดังนั้น ธปท.จึงน่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน และเฝ้าระวังสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และไทยอย่างใกล้ชิด หลายมาตรการทางการคลังที่ทยอยปรากฏผลในการประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คงช่วยให้ กนง. สามารถเลือกคงนโยบายการเงินผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้หากจำเป็นในอนาคต โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 58 ได้ช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่เชื่อว่า การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริง และการเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะถัดไป ตอกย้ำภาพที่นโยบายการคลังถูกวางหมากให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศในปีนี้ ซึ่งช่วยทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยสามารถเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน และเก็บทางเลือกของการลดดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อใช้ในกรณีจำเป็นที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดในระยะข้างหน้า
สำหรับปัจจัยจับตาอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง และแนวโน้มราคาน้ำมัน โดยแม้ว่าตลาดการเงินไทยจะยังคงคาดการณ์ถึงผลประชุมนโยบายการเงินที่ในช่วงระหว่างปี 59 นี้ ที่อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ทั้งปัญหาภัยแล้ง และภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ได้ โดยเฉพาะหากความเสี่ยงดังกล่าวพัฒนาไปในทิศทางที่ถดถอยลง จนกระทบต่อรายได้เกษตรกร และจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้อ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้เดิม
ในระหว่างนี้ผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรตั้งรับต่อความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้นจากผลของการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ในภูมิภาค และสัญญาณที่จะทยอยส่งออกมาจากเฟด ซึ่งจะทำให้ตลาดปรับสมดุลไปมาระหว่างการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเทศเกิดใหม่ที่ราคาลดลงไปมากแล้ว กับสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเหตุผลของความปลอดภัยในการลงทุนตามกระแสข่าวที่มีน้ำหนักในแต่ละจังหวะ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงการใช้ผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงต่างๆ เช่น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบในระดับหนึ่งจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระเงินกู้ หรือต้องการระดมทุนเพิ่มเติม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยโดยเฉพาะระยะกลาง-ยาว ที่ปรับลดลงในช่วงระหว่างที่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังไม่ชัดเจน และธนาคารกลางหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมนี้ สะท้อนจังหวะที่ดีสำหรับการรีไฟแนนซ์หนี้เดิมที่มีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หรือล็อกเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้วยการระดมทุนใหม่ผ่านตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงนี้