xs
xsm
sm
md
lg

Recession or Slow Growth เศรษฐกิจโลกถดถอย หรือเพียงแค่ขยายตัวต่ำกว่าคาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดยทีมจัดการกองทุน
บลจ.ทิสโก้

นับตั้งแต่เปิดปีใหม่เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมาก ผลตอบแทนของตลาดดหุ้นแทบทุกตลาดติดลบจากแรงเทขายที่เกิดขึ้น จากวิตกเกี่ยวกับราคาน้ำมัน และค่าเงินหยวนของจีน รวมถึงคำพูดถึง “R“ Word ซึ่งหมายถึง Recession ก็มีการพูดถึงมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดกำลังกังวลว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงอาจจะส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ประกอบกับค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนค่าเร็วกว่าคาด

ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่จะได้รับผลกระทบจาก Capital Outflow, ความต้องการใช้และราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ ผลกระทบไปสู่ประเทศคู่ค้าของจีนรวมถึงความเป็นไปได้ของการโจมตีค่าเงินหยวน ทั้งนี้ จากคาดการณ์เดิมของ บลจ.ในบทความฉบับธันวาคม 2015 ที่คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับ 3.1% ในปี 2016 ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำไว้ที่ 2.5% และเศรษฐกิจจีนที่ 6.6% ด้วยปัจจัยราคาน้ำมันและค่าเงินที่เปลี่ยนไป อาจจะทำให้ตัวเลขคาดการณ์มี Downside Risk ได้บ้าง แต่ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสองจะเป็นตัวฉุดให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบใหม่ บลจ.ค่อนข้างมั่นใจว่าเรายังห่างไกลจากคำว่าวิกฤต และ Recession เป็นอย่างมาก

ประเด็นแรก ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับลดมาแรงถึง US$28/barrel ในเดือนมกราคม จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คล้ายคลึงในปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงจากระดับ US$105 ในช่วงกลางปี 2014 มาที่ US$37 ณ สิ้นปี 2015 ได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีการปรับประมาณการ GDP(g) มาตลอดทั้งปี จากระดับ 3.0% มาจบปีที่ 2.5% เป็นผลจากการลงทุนและการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานและเหมืองแร่ที่ชะลอลงไปมาก ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วได้ส่งผลต่อการปรับประมาณการลงของตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐฯ

สำหรับปีนี้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันยังคงปรับลดลงมาที่ US$28/barrel ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ บลจ. มองว่าระดับความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะผลกระทบต่อภาคธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่ได้เกิดขึ้นไปมากแล้วในปี 2015 อีกทั้ง Contribution จากภาคธุรกิจนี้ต่อระบบเศรษฐกิจรวมของสหรัฐฯ ทั้งภาคการลงทุน การจ้างงาน มีสัดส่วนหดลงไปมากเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2012-2014 การลงทุนในธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่คิดเป็น 10% ของการลงทุนทั้งหมด (total US Capital Expenditure) ขณะนี้สัดส่วนนี้ได้ลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 5% และการจ้างงานของภาคธุรกิจนี้ขณะนี้ลดลงมาที่ 0.5% ของ Nonfarm Employment ดังนั้น การปรับลดลงของราคาน้ำมันในรอบนี้ บลจ.คาดว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะชะลอลงกว่าคาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะไม่ส่งผลถึงขนาด Recession แน่นอน

ประเด็นที่สองที่ตลาดกำลังกังวลคือสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะค่าเงินหยวน และการลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (FX Reserve) ถึงกว่า US$100bn ภายในเดือนเดียวจนทำให้มีนักวิเคราะห์บางรายนำตัวเลขประมาณการความเพียงพอของ FX Reserve ที่ประเทศนั้นๆ ควรดำรงไว้จัดทำโดย IMF มาใช้เพื่อจะบอกว่า FX Reserve ที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้จีนตกอยู่ในสถานการณ์ของความเสี่ยงสูงเพียงใด ซึ่งจากสูตรคำนวณของ IMF ((30% * Short -term External Debt ) + (15% * Other External Portfolio Liabilities) +(10%*Exports) +(10% * M2)) บ่งชี้ว่า จีนควรจะมี FX Reserve ที่ US$2,748bn ขณะที่ FX Reserve ปัจจุบันอยู่ที่ US$3,330bn นั่นหมายความว่าจีนมี Reserve ส่วนเกินเพียง US$582bn ซึ่งไม่ได้สูงเหมือนที่ตลาดเข้าใจ นอกจากนี้ เมื่อประเทศมี FX Reserve ที่ไม่สูงมากนัก ความสามารถที่จะปกป้องค่าเงินก็ย่อมจะน้อยลง จึงเป็นเหตุของความกังวลว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปกว่านี้อีกมาก และจะเกิด Capital Outflow ตามมาในที่สุด ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาอย่างแรง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ของ IMF นี้อยู่ภายใต้สมมติฐานของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนโดยเสรี ซึ่งต่างจากประเทศจีนที่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน และหากมีการ Adjust สูตรการคำนวณที่ใช้การถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้าย ลดลงจาก 10% ของ M2 มาที่ 5% และ 0% ของ M2 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมี Partial Capital Control หรือ Complete Capital Control จะได้ว่าระดับ FX Reserve ของประเทศจีนที่จะต้องดำรงไว้จะลดลงจาก US$2,478bn มาที่ US$1,675bn

ในกรณีของ Partial Control และ US$601bn สำหรับ Complete Control ซึ่ง Reserve ส่วนเกินจะกลับขึ้นมาที่ US$1,655bn และ US$2,729bn เลยทีเดียว และในความเป็นจริง หาก FX Reserve ปรับลดลงแรง (มากกว่า US$100bn ต่อเดือน) จนทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน บลจ.เชื่อว่าจีนจะประกาศ Capital Control แน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ตลาดกังวลว่าจีนจะถูกโจมตีค่าเงินในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามากเกินไป อย่างไรก็ตาม Trend ของค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐจะยังคงมีทิศทางที่อ่อนค่าลง โดย บลจ.คาดว่าค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ในสิ้นปีจะอยู่ที่ 6.9หยวนต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ถึงแม้ บลจ.ได้ประเมินแล้วว่าความเสี่ยงที่ตลาดเป็นกังวลจากปัจจัยทั้งสองที่กล่าวไว้ข้างต้นจะมีผลกระทบจำกัด แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงมี Downside Risk จากที่ประมาณการไว้ และตราบใดที่ความกังวลในความเสี่ยงทั้งสองยังไม่คลี่คลาย จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนรุนแรงไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนในแบบกระจายความเสี่ยง ไม่ควรลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 100% และควรถือเงินสดไว้บ้างเพื่อรอจังหวะและโอกาสในการเข้าลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม


แนะผู้ที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรตั้งรับความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น
แนะผู้ที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรตั้งรับความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการประชุม กนง. วันที่ 3 ก.พ.นี้ น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อรอดู ศก.จีน และการตัดสินใจของเฟด แนะผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ควรตั้งรับกับความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น จากผลของการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ในภูมิภาค และสัญญาณที่จะทยอยส่งออกมาจากเฟด ซึ่งจะทำให้ตลาดปรับสมดุลไป-มาระหว่างการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเทศเกิดใหม่ที่ราคาลดลงไปมากแล้ว กับสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯ เพื่อเหตุผลของความปลอดภัยในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น