xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะเศรษฐกิจโลกช่วงนี้...ซ้ำรอยวิกฤตในอดีตหรือไม่??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ปรับตัวลดลง -8.2% ดัชนี MSCI Eurostoxx600 -9.8% ดัชนีตลาดหุ้นประเทศจีน -17.67% และดัชนีตลาดหุ้นไทย -3.34%

โดยตลาดมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งหากเศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวอย่างที่วิตก ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ต้องยืดระยะเวลาการฟื้นตัวออกไป

และจะไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน ประกอบกับที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลุดระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากปัญหาอุปทานล้นตลาด และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง ยิ่งย้ำความกังวลต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญอยู่จะขยายวงกว้างลุกลามเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ (Asian Financial Crisis) วิกฤตซับไพรม์ (Hamburger Crisis) ในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ 

ในอดีตความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว หากเราจำกันได้วิกฤตในช่วง Asian Financial Crisis ในปี 2540 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศไทยเกิดขึ้นจากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจนทำให้เกิดหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอัตราสูงเพราะมีการปล่อยกู้จากภาคธนาคารโดยปราศจากการควบคุม ภาคเอกชนกู้เงินจากต่างประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และนำมาซึ่งปัญหาค่าเงิน ภาครัฐต้องพยายามอุ้มภาคเอกชน เงินสำรองในประเทศไม่เพียงพอ และจบด้วยปัญหาการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว และกลายเป็นวิกฤตการเงินลุกลามไปทั่วเอเชีย

ขณะที่ Hamburger Crisis หรือ Subprime Crisis ซึ่งเกิดในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2548 จากภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มลุกลามจนกระทบไปทั่วโลกจากการหาผลประโยชน์ของธุรกิจวาณิชธนกิจในการปล่อยกู้ให้แก่ภาคประชาชน เช่น บ้าน รถ และเอกชนนำเงินไปลงทุนจนเกินตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นราคาบ้านเริ่มลดลง สุดท้ายธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือคิวอี เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ความแตกต่างของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันกับอดีต จะเห็นได้ว่าในอดีตช่วงปี 2547 หนี้ภาคครัวเรือนก่อตัวสูงขึ้นในระดับสูง 130% ของรายได้ แต่ในช่วงไตรมาส 3/58 ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขอัตราหนี้ภาคครัวเรือน ลดลงที่ระดับ 103% ของรายได้ ซึ่งสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของภาคครัวเรือนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ก็มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยสถาบันทางการเงินจำนวน 31 สถาบันได้ผ่านการทดสอบความสามารถในการรับวิกฤตเศรษฐกิจ (Stress Test) จากธนาคารกลางสหรัฐฯ

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากงบดุลของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในปี 2558 ที่ผ่านมางบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อยู่ที่ระดับ 4.487 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้ขยายเพิ่มขึ้นเนื่องจากเฟดยุติการทำคิวอี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อยู่ที่ระดับ 3,037 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อยู่ที่ระดับ 3,187.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าสถานะทางการเงินของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และสะท้อนได้ว่าศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่ หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อประเทศคู่ค้าอย่างเอเชียได้บ้าง

ปัจจุบันเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศอยู่ในช่วงของความพยายามเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน อาทิ โดยทางอีซีบีของยูโรโซน มีวงเงินขนาด 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน รวมทั้งบีโอเจ ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขนาดของอายุเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลที่เข้าซื้อเป็น 7-12 ปี ซึ่งจะเริ่มมีผลช่วงต้นปี 2016 ต่างจากอดีตที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างเต็มที่ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟุบตัวลงและลุกลามไปทั่วโลก

สำหรับเศรษฐกิจจีนที่ตลาดติดตามมากที่สุด ผมมองว่าหากยังสามารถเติบโตอยู่ในระดับที่ตลาดคาดการณ์ Sentiment การลงทุนก็จะดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นความกังวลในด้านการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน ที่หากเกิดการชะลอทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันยังมีอีกมาก ซึ่งพร้อมจะเคลื่อนย้ายสู่ภาคการลงทุนได้ ผมจึงค่อนข้างเห็นเป็นภาพเชิงบวกในโอกาสการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ ผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่างๆ ซึ่งทยอยนำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเองอยู่ อีกทั้งเหตุการณ์เศรษฐกิจที่ผิดพลาดในอดีตยังคงเป็นบทเรียนให้ผู้นำของแต่ละประเทศนำมาพิจารณาควบคู่กับการวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาก็ตาม

•ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

•ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น