xs
xsm
sm
md
lg

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นจีนในช่วงครึ่งเดือนแรกของปี 2559

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย นางสาวพิมเพ็ญ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บลจ.กสิกรไทย
จัดทำ ณ วันที่ 19 มกราคม 2559

ผ่านไปเพียงไม่ถึงเดือน นักลงทุนที่เตรียมรับมือกับปีวอกคงคิดหนักกันทีเดียวว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เมื่อฝั่งจีนแค่ปรับทิศทางหางเสือ ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำเอาปิดตลาด 2 สัปดาห์แรกของปี ตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลกต่างปิดกระดานแดงกันเกือบลบ 10%

ความผันผวนในตลาดหุ้นจีน A Share

หากย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2557 จะเห็นได้ว่าทิศทางของตลาดไม่ว่าจะขึ้นหรือลงต่างถูกกระตุ้นโดยนโยบาย (policy-driven) อาทิ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการลดดอกเบี้ยเหนือความคาดหมายของตลาดในเดือน พ.ย. 2557 ที่หนุนตลาดให้ปรับตัวขึ้นในช่วงนั้น ขณะที่การเข้าแทรกแซงผ่านตลาดทุนโดยการเพิ่มกฎเกณฑ์การปล่อยกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้เข้มงวดมากขึ้น (มาร์จิ้น) กดดันตลาดหุ้นในเวลาต่อมา พอเปิดตลาดปี 2559 ก็ปรับตัวร่วงลงวันแรก 7% จนทำให้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์* ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก

โดยสาเหตุที่ฉุดตลาดหุ้นลงก็หนีไม่พ้นการเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางจีนโดยการประกาศลดค่าอ้างอิงเงินหยวนเหนือความคาดหมายเหมือนเมื่อครั้งเดือน ส.ค. ปีที่ผ่านมา บวกกับความกังวลของนักลงทุนที่คาดว่าจะเกิดแรงเทขายหากมาตรการห้ามขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่สิ้นสุดในวันที่ 8 ม.ค. 59 ซึ่งแรงตื่นตระหนกเหล่านี้เอง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนรุนแรงและต้องปิดการซื้อขาย 2 วันทำการ (วันที่ 4 ม.ค. 59 และ 7 ม.ค. 59) และยังเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้ปิดกระดานแดงกันถ้วนหน้า

ปัจจัยพื้นฐานถดถอยจริงหรือ

แรงตื่นตระหนกในระยะสั้นนี้เองทำให้นักลงทุนมองข้ามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ตัวเลขดัชนีชี้นำบางตัวจะออกมาอ่อนแอ แต่เราต้องอย่าลืมว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ช้าลงเป็นความตั้งใจของทางการที่จะปฏิรูปเพื่อการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพจากการบริโภคภายในประเทศแทนการลงทุน โดยแม้ดัชนีภาคการผลิตและบริการจะออกมาเปราะบาง แต่ก็ยังมีดัชนีชี้นำบางตัวที่แสดงความแข็งแกร่งได้อาทิ ยอดค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน และแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ที่ฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่รถยนต์สินค้าคงคลังลดลงอย่างมีนัย ก็เป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อจากฝั่งประชาชนยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อยู่

ทางการจีนประกาศตัวเลขการเติบโตของไตรมาส 4 ที่ 6.8% (รายปี) ส่งผลให้ทั้งปีเติบโตที่ 6.9% เท่ากับที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 25 ปีแต่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว อีกทั้งการที่เคยเติบโตสูงกว่าปีละ 10% ติดต่อกันมากกว่า 10 ปี ก็ทำให้ฐานของเศรษฐกิจจีนใหญ่และแข็งแกร่ง ประกอบกับทางการจีนได้ส่งสัญญาณในการประชุมครั้งใหญ่ประจำปีในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่อย่างน้อย 6.5% ต่อปี ดังนั้นตัวเลขที่ชะลอตัวลงอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกต่อไป

ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นักลงทุนต่างพากันเป็นกังวลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก เพียงแค่คู่ค้าอันดับ 3 อย่างเอเชียก็มีมูลค่าทางการค้ากว่า 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นับเป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงกดดันที่ชัดเจนขึ้นจากฝั่งอุปสงค์หากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกชะลอตัว

นอกจากนี้ ผลกระทบเรื่องธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป โดยทาง Black Rock หนึ่งในผู้จัดการกองทุนระดับโลกได้มองไว้ว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง จากเดิมที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในเดือน ธ.ค. 58 ว่าอาจจะขึ้น 4 ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการโยกย้ายเงินทุนของตลาดการเงินโลก และเป็นเรื่องที่ยังต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

จับตามองความมีประสิทธิภาพของเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ

เริ่มที่การเพิ่มระดับการใช้มาตรการทางการคลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการผ่อนคลายทางการเงินถูกนำมาใช้ควบคู่ไปด้วยผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ การลดอัตราดอกเบี้ยกว่า 6 ครั้งในปีที่ผ่านมา และการลดอัตราสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

ในแง่ของการเข้ามาแทรกแซงค่าเงินหยวน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีได้อ่อนค่าลงประมาณ 1.5% (หรือกว่า 6% เมื่อเทียบกับตอนเดือน ส.ค. ปีที่แล้วที่มีการลดค่ากลางเงินหยวน) ก็เพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับฝั่งเงินเยนของญี่ปุ่นและยูโรเองก็อ่อนค่าลงไปกว่า 10% และ 20% ตามลำดับนับจากการเริ่มมาตรการ QE จากฝั่งญี่ปุ่นและยุโรป เราจึงน่าจะได้เห็นแนวโน้มหยวนที่อ่อนค่า อย่างไรก็ดี ทางจีนเองน่าจะเตรียมรับมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดค่าเงิน และเพื่อรักษาการเติบโตในระดับที่ตั้งเป้าไว้

แล้วนักลงทุนควรรับมืออย่างไรกับความผันผวนนี้

ด้วยโครงสร้างของตลาดหุ้นที่มีนักลงทุนรายย่อยเป็นสัดส่วนที่สูงมากกว่า 80% ดังนั้นแรงตื่นตระหนกจากปัจจัยที่มากระทบในระยะสั้นย่อมทำให้ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนมีสูงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ทั้งนี้ เรายังคงมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะชะลอตัวรุนแรง (Hard Landing) และที่สำคัญทางการก็ได้จับตาอย่างใกล้ชิดและแสดงความพร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อพยุงหรือชะลอเศรษฐกิจ (อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นถึง policy-driven) นักลงทุนควรต้องจับตาดูความมีประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ บนความตั้งใจที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่าการตั้งเป้าตัวเลขที่สูงอย่างในอดีต

จากความผันผวน และสถานการณ์การลงทุนแบบนี้ ผู้ลงทุนอาจจะเลือกที่จะโยกเงินกลับไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จนกว่าความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกจะเริ่มเบาบางลง ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่รับความผันผวนในระยะสั้นได้ น่าจะเล็งเห็นว่าระดับราคาหุ้นที่ย่อตัวลงมาถือโอกาสการเข้าลงทุนระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) โดยเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง (H Share) ก็ยังซื้อขายกันถูกกว่า A Share

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมหลักการอย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน การกระจายการลงทุน (Diversify) และคัดเลือกการลงทุนที่เหมาะสม (Selective) จะเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะภาวะตลาดที่มีความเสี่ยงปกคลุมสูง

*มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ (มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมความผันผวนของตลาด โดยจะมีผลเมื่อ

1. ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง 5% ระบบจะระงับการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 15 นาที

2. ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง 7% ระบบจะระงับการซื้อขายตลอดวัน

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในตลาดหุ้นจีนได้เพียง 4 วัน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ตัดสินใจที่จะระงับมาตรการนี้ โดยระบุในแถลงการณ์ว่าเนื่องจากมาตรการมีผลกระทบเชิงลบมากกว่าผลในเชิงบวก

คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น